เศรษฐกิจแบบนี้……..ดูแลพนักงานอย่างไรในการฝ่าวิกฤต : ชยางกูร เเก้วบัณฑิต

ชยางกูร แก้วบัณฑิต

เศรษฐกิจในขณะนี้อยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง หลายกิจการอาจกำลังเผชิญปัญหามากมาย หนึ่งในนั้นอาจเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพนักงาน เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารที่ต้องหาหนทางในการบรรเทา

 หลังจากเกิดเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นมาพร้อมๆกัน  GDP ของประเทศต่ำกว่า 3% เศรษฐกิจโลกทั้ง อเมริกา จีน รัสเซีย ยูโรโซนไม่ดี ทำให้ตลาดการส่งออกหดตัวต่ำกว่าประมาณการ และทำให้นักท่องเที่ยวตลาดใหญ่ๆของประเทศหายไป เช่น นักท่องเที่ยวคุณภาพดีจากยุโรปลดลง นักท่องเที่ยวจากรัสเซียหายไปอย่างน่าใจหาย การแข่งขันในตลาดสินค้าการเกษตรไม่ว่าจะเป็น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำตาล สูงขึ้นอย่างรุนแรง และมีปัญหาภัยแล้งเข้ามาซ้ำเติม ส่งผลให้เกษตรกรเดือดร้อนอย่างรุนแรง ส่วนภาคอุตสาหกรรม เริ่มมีการปลดคนงาน หรือ early retire พนักงาน office ก็หนาวๆร้อนๆ จากการประกาศลดคนประมาณ 1500 คนของบริษัท การบินไทยจำกัด ( มหาชน ) ขวัญกำลังใจไม่ดีในบาง sector มีคนว่างงานทั้งในระบบและนอกระบบมากขึ้น ในแวดวงธุรกิจ ก็มีการเบี้ยวหนี้ ตีเช็คเด้ง มีการโกงสารพัดรูปแบบ  ภาครัฐเองก็ไม่สามารถใช้นโยบายทั้งการเงินการคลัง มาช่วยทั้งภาคธุรกิจ และประชาชนทั่วไปได้ จากปัญหาเหล่านี้จะลามไปสู่ปัญหาสังคม เช่น การมีขโมย ลักเล็กขโมยน้อย มือใหม่เกิดขึ้นเยอะ จากสภาพการณ์ที่ เห็นพอจะเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเจอวิกฤตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ไปอีกปี ผมมีข้อแนะนำสิ่งดีๆมาฝากครับ

           1. สำหรับบริษัทที่ผลประกอบการยังดี พออยู่ได้ ต้องหามาตรการช่วยเหลือพนักงานชั้นผู้น้อย เพื่อซื้อใจและแสดงน้ำใจ อย่างจริงใจ เวลานี้จะได้ใจพนักงานมากครับ พวกเค้าจะจดจำเรื่องดีๆแบบนี้ไปจนเกษียนเลยครับ      เช่น มีวงเงินกู้ฉุกเฉินให้พนักงานกู้ยืม แต่ต้องจำกัดวงเงินและเงื่อนไขที่จำเป็นจริงๆนะครับ หรือ จัดทำกับข้าวทานฟรีร่วมกับพนักงานอาทิตย์ละครั้ง ผู้บริหารควรจะมาทานด้วย เพื่อทั้งรับฟังปัญหาในงานและเรื่องทั่วๆไป เพื่อเตรียมรับมือถ้าสภาพเศรษฐกิจทำท่าจะลากยาว

           2. ออกมาตรการมาคอยสอดส่องการทุจริตจากพนักงานที่มีโอกาสเกี่ยวข้องกับเงินๆทองๆ เช่น ฝ่ายการเงินต้องพยายามลดความเสี่ยงในการให้พนักงานถือเงินสดในจำนวนมากๆ ช่วงนี้พนักงานบางคนอาจมีปัญหาด้านการเงินมากๆก็พร้อมที่จะทุจริตได้เนื่องจากหมดหนทาง

           3.บริษัทควรมีการสื่อสารกับพนักงานบ่อยๆในหลายๆรูปแบบในเรื่องสถานะทางการเงิน และ ออกมาตรการช่วยกันประหยัดในทุกๆมิติ เช่น ช่วยกันปิดน้ำ ปิดไฟ ใช้ทรัพยากรของบริษัทให้คุ้มค่าที่สุด การสื่อสารแบบนี้อาจจะช่วยทำให้ค่าใช้จ่ายประจำลดลงไม่มากนัก แต่เริ่มเป็นการสร้างความรักความเข้าใจว่าเราจะฟันฝ่าวิกฤตนี้ร่วมกัน

           4. HR ต้องคอยสอดส่องปัญหาพนักงานอย่างใกล้ชิด เช่น การยืมเงินของพนักงานบางคนจนผิดสังเกต เพราะจากลักษณะแบบนี้ พนักงานคนนั้นพร้อมจะหนีไปและทิ้งปัญหาให้กับบริษัทและเพื่อนร่วมงาน

           5. ในกรณีที่บริษัทเริ่มมีปัญหาทางการเงินแล้ว ต้องรีบสื่อสารให้พนักงานทราบอย่างจริงใจ เพื่อให้พนักงานเตรียมตัว และเข้าใจในสถานการณ์ ที่บริษัทเผชิญอยู่ ทำแบบนี้เวลาต้องเลิกจ้างพนักงานบางส่วนจะได้เข้าใจและไม่เกิดการฟ้องร้องเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ซึ่งถ้าเกิดการฟ้องร้องจริงคดีแรงงาน เป็นคดีแพ่งและอาญานะครับ ถ้าหากสถานการณ์ไม่ดีก็การทำการเลิกจ้างควรจ่ายเงินค่าชดเชยให้ถูกต้องนะครับ โดยระบุไปเลยว่าสาเหตุการเลิกจ้างเนื่องจากสถานะการเงินบริษัทไม่ดี

           6. ก่อนหน้าที่จะไปถึงการเลิกจ้าง  นอกจากสื่อสารต้องแสดงความจริงใจ เช่น การประชุมหาทางออกร่วมกันกับพนักงาน เช่น การลดเงินเดือนผู้บริหารในสัดส่วนที่มากกว่าพนักงานชั้นผู้น้อย หรือ ลดเวลาการทำงานลงเพื่อลดค่าใช้จ่าย และเปิดโอกาสให้พนักงานหางานใหม่ ผมขอเน้นนะครับช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญมาก เพราะถ้าคิดว่าปัญหาจะเกิดในช่วงไม่นานก็อาจจะบอกกับพนักงานว่า ถ้าเรากลับมาได้เราพร้อมจะรับพนักงานกลับเข้ามาเหมือนเดิม แต่ถ้าคิดว่าเรากลับมาไม่ได้แน่ๆต้องไม่โกหกและให้ความหวังพนักงาน

            7. ช่วงนี้จะทำอะไรกับพนักงานควรมีเมตตาธรรม และการสื่อสารที่ดี เช่น พยายามหาทางช่วยพนักงานให้ได้งานใหม่โดยใช้ connection ของผู้บริหาร ให้ความรู้เกี่ยวกับสวัสดิการของความช่วยเหลือของสำนักงานประกันสังคมอย่างละเอียด

            สถานการณ์แบบนี้ บริษัทจะต้องแสดงให้เห็นถึงความจริงใจกับพนักงานอย่างชัดเจน และต่อเนื่อง ถ้าเราแสดงความพยายามดูแล และช่วยเหลือพนักงาน พนักงานที่เหลืออยู่ก็พร้อมจะช่วยกันสู้ถวายหัวให้วิกฤตนี้ผ่านพ้นไปด้วยดี ยังไงผมยังคงเน้นการสื่อสารที่ใกล้ชิดและจริงใจตลอด และขอให้บทความนี้ เป็นประโยชน์ช่วยเหลือกับทั้งบริษัท และพนักงานที่ไม่เคยเจอวิกฤตปี 40 ได้ร่วมกันฟันฝ่าวิกฤตนี้ไปได้ทุกๆราย

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ