เรื่องเล่า SMEs : Go Inter กับ…ผลไม้แปรรูปจากสวน 100 ปีที่ปราจีนบุรี : สุภาวดี เวศยพิรุฬห์

สุภาวดี เวศยพิรุณฬห์

ในฐานะลูกชายคนโต “คุณเกรียงศักดิ์” ตัดสินใจทิ้งเงินเดือนๆสุดท้าย 400,000 บาทในฐานะลูกจ้าง หลังใช้ชีวิตวิศวกร 5 ปีหันหน้าเข้าสวน ภาพชีวิตที่อบอุ่นในอดีตที่เห็นบุพการีทำสวนมาแต่วัยเยาว์ได้ปลูกฝังสายเลือดการเป็นเกษตรกร

เศรษฐกิจฐานรากของไทย  ปัจจุบันคนต้นทางอย่างเกษตรกรลูกหลานกลับหันหน้าเข้าหาโรงงานแทนการสานต่อ  “เรื่องเล่า SMEs” จึงอยากพาไปดูต้นแบบความคิดคลัสเตอร์ 3 ชั้น “เอื้ออาทร”ของสวนเกษตรอินทรีย์ 100 ปี ที่คนรุ่น 3 ของครอบครัวทิ้งเงินเดือน 400,000 บาท  หวนกลับไปต่อยอดผลผลิตผลไม้ให้กลาย เป็นสินค้าแปรรูปส่งขายต่างประเทศเป็นล่ำเป็นสันด้วยแนวคิด “คลัสเตอร์ 3 ชั้น” โดย“ต้นน้ำ”เกี่ยวก้อยเจ้าของ สวนผลไม้ 65 แห่ง “กลางน้ำ”เจ้าของโรงงาน  25 โรง และ “ปลายน้ำ ” สร้างตลาดร่วมฉันท์พี่น้องกับประเทศจีนทั้ง3ส่วนร่วมทางแบบ“ไม่ขอรวยคนเดียว”

ย้อนตำนานสวนจิตร์นิยม

คุณเกรียงศักดิ์ อุดมสิน” ทายาทรุ่นที่ 3 ย้อนจุดเริ่มต้นของสวนเกิดจากรุ่นปู่ “จินดา อุดมสิน”ที่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่  “อาก๋งจินดา” เลือกปักหลักที่ตำบลหนองโพรง อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ตั้งแต่ปี 2450 ด้วยสายตายาวไกลของคนรักต้นไม้ที่เห็นความอุดมสมบูรณ์ของดินอันเต็มไปด้วยแร่ธาตุจากการตกตะกอนของน้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาใหญ่มาสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำปราจีนบุรี  อีกทั้งยังมีแหล่งน้ำใต้ดินสำหรับหล่อเลี้ยงพืชไร่  จึงดำริพัฒนาที่รกร้างเพียง 25 ไร่ให้กลายเป็นสวนผลไม้แห่งแรกของที่นี่

มาถึงรุ่น 2 คุณพ่อ “สมพร อุดมสิน” สืบทอดเจตนารมณ์พัฒนา “สวนจิตร์นิยม” ตลอด 30 ปี ให้กลายมาเป็น  300 ไร่  (ปัจจุบันพื้นที่ปลูก 520 ไร่ ) จนกลายเเกษตรกรผู้สร้างสวนผลไม้ดีเด่น แห่งอำเภอศรีมหาโพธิ์ ผู้เป็นที่รู้จักในฉายา “เกษตรกรร้อยรางวัล” ผลจากการส่งผลไม้ในไร่เข้าประกวดไม่เคยชวดรางวัล ทั้งมะปราง ลองกอง ขนุน กระท้อน ทุเรียน เงาะ มังคุด ส้มโอ

การพบอุปสรรคมากมายกว่าที่ผ่านพ้นมาได้    จึงตั้งความหวังส่งเสียลูกทั้ง 2 คนให้ได้รับการศึกษาสูงสุดเท่าที่จะทำได้เพราะไม่อยากให้ลูกต้องมาเผชิญกับความยากลำบาก  ด้วยเห็นมาตลอดชีวิตว่าอาชีพชาวสวนเป็นงานหนักไม่มีอำนาจต่อรองและต้องเสี่ยงกับธรรมชาติที่บอกไม่ได้ว่าจะมาสร้างความเสียหายให้เมื่อไหร่

คุณเกรียงศักดิ์” จบการศึกษาปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และน้องสาวคุณดุจดาว อุดมสิน จบการศึกษาปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัย จอร์ช เมสัน ประเทศสหรัฐอเมริกา  หลังเรียนจบทั้งคู่ใช้ชีวิตโลดแล่นไปกับงานสายที่ร่ำเรียน

ในฐานะลูกชายคนโต “คุณเกรียงศักดิ์” ตัดสินใจทิ้งเงินเดือนๆสุดท้าย 400,000 บาทในฐานะลูกจ้าง หลังใช้ชีวิตวิศวกร 5 ปีหันหน้าเข้าสวน    ภาพชีวิตที่อบอุ่นในอดีตที่เห็นบุพการีทำสวนมาแต่วัยเยาว์ได้ปลูกฝังสายเลือดการเป็นเกษตรกร  ประกอบกับการเกื้อกูลกันของคนในสังคมชนบทได้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างเครือข่ายในทุกข้อของห่วงโซ่อุปทาน  ผนวกจิตวิญญาณการเป็นพ่อค้าที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากอาม่า  ทั้งหมดคือ ทุนประเดิมสำคัญสำหรับการเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการ    เสริมด้วยหลักคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอนจากการเรียนและการทำงาน   เมื่อนำองค์ประกอบที่มีมาปรับใช้การวางภาพธุรกิจสำหรับอนาคต 10 ปี ข้างหน้าจึงเกิดขึ้น

ทุกย่างก้าววางเป้าชัดเจน “คุณเกรียงศักดิ์” เริ่มต้นจากสิ่งที่มีด้วยการสร้างคุณค่าผลไม้สดตัวเด่น คือ มะยงชิด มะปราง ด้วยการพัฒนาบรรจุภัณฑ์จนกลายเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของ“สวนจิตร์นิยม” ตามมาด้วยการสร้างกลุ่มเกษตรกรที่ไม่ใช้สารเคมี ตั้งเป็น “กลุ่มเกษตรกรทำสวนหนองโพรง”แนะนำให้ดูแลพืชผลการเกษตรจากผลผลิตเหลือใช้ที่นำมาทำน้ำสกัดจากสมุนไพรมากำจัดแมลงศัตรูพืช  เมื่อพืชผลงอกงามทั้งทานเองทั้งแจกแล้วก็ยังเหลือ  จึงถึงเวลาสร้างเครือข่าย คือให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ อบต. เป็นตัวแทนรับซื้อผลผลิตจากสมาชิก

 

เมื่อต้นน้ำแข็งแรงจะทำอย่างไรให้เกิดการผลิตสินค้าแปรรูปเพื่อยืดอายุให้ยาวพอที่จะไปถึงผู้บริโภคปลายทางทั้งในและต่างประเทศ  คือ โจทย์ที่นำไปสู่ผลลัพท์ “ยุทธศาสตร์สามประสาน สร้างสรรค์อย่างเอื้ออาทร

คลัสเตอร์เอื้ออาธร

การรวมกลุ่มจากชุมชนขยายผลสู่จังหวัดเป็นกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายต้นน้ำภูมิปัญญาสวนผลไม้เกษตรอินทรีย์ดูแลผลไม้ด้วยวิถีธรรมชาติ ไม่พึ่งสารเคมีที่แข็งแกร่ง   รวบรวมชาวสวนในจังหวัดปราจีนบุรี มาอยู่ในเครือข่ายเกษตรปลอดภัยได้ถึง 65 สวน มีพื้นที่เพาะปลูกครอบคลุมกว่า 45,000  ไร่  โดยมีส่วนหลักใหญ่ๆ 4 สวนปลูกพืชผลออร์แกนิก  ส่วนที่ 2 ปลูกผักปลอดสารพิษ (GAP) ผลผลิตตามฤดูกาลเกรด A กระจายไปสู่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ  ขณะที่เกรดรองลงมาส่วนที่ผิวอาจไม่สวยแต่คุณภาพเนื้อยังดี  นำไปแปรรูป

คุณเกรียงศักดิ์” ลงมือศึกษาหาข้อมูลและค้นคว้ากระบวนการผลิต Vacuum Technology (แปรรูปผลไม้ในระบบสุญญากาศ)จนมั่นใจแล้ว  จึงเริ่มการแปรรูปผลไม้ด้วยเครื่องสูญญากาศเพียง 1 เครื่อง คนทำงานเพียงแค่ 4 คน นำวัตถุดิบผลไม้ของที่สวนและชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงมาผลิต ด้วยความคิดที่ว่าอยากให้ชาวบ้านในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ผลตอบรับที่เกินคาดจากความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น  เป็นที่มาของการสร้างโรงงานมาตรฐานผลิตสินค้าหลัก ขนุนอบกรอบ , สับปะรดอบกรอบ ,มะม่วงอบกรอบและทุเรียนอบกรอบควบคู่ไปกับการสร้างแบรนด์  “D-fresh” อย่างจริงจัง

ด้วยจุดเด่น คือ การใช้ผลไม้สุกในการแปรรูปให้มีความกรอบและรับประทานง่าย ซึ่งมีความหวานตามธรรมชาติ ไม่มีการเติมสารปรุงแต่งใด ๆ คงสภาพของสี กลิ่น รสชาติ เหมือนผลไม้สด และมีคุณค่าทางโภชนาการเกือบครบถ้วน   ทำให้คนไทยที่นิยมผลไม้สดตามฤดูกาลได้เรียนรู้การถนอมอาหารไว้ทานนอกฤดูกาล      ผ่านการกระจายเข้าห้างสรรพสินค้าในประเทศ    และส่งออกไปยังจีน เยอรมนี บังกลาเทศ อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ร้อยละ 90

ความสำเร็จของเครือข่ายต้นน้ำ  พัฒนาไปสู่เครือข่ายกลางน้ำ  “คุณเกรียงศักดิ์” ได้เข้าร่วมโครงการรวบรวมโรงงาน ร่วมเป็นห่วงโซ่กระจายทั่วประเทศ  รวม 25 โรงงาน สร้างกลุ่มพันธมิตรอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารแห่งประเทศไทย(Thai Food Cluster)  “เรามีกลุ่มคลัสเตอร์ ที่เป็นโรงงานต่างๆ มากมาย และยังมีโรงงานที่ทำเหมือนเราอีกตั้งหลายโรง แต่พวกเราเลือกร่วมมือกัน และช่วยเหลือกัน อย่าง ถ้าเขาขาดของ เราก็ช่วยผลิตให้ ถ้าของเราขาด เขามีศักยภาพมากกว่า เราก็รับซื้อจากเขา ผมเรียกสิ่งนี้ว่า เป็นซัพพลายเชน ที่เอื้ออาทรต่อกัน

ห่วงโซ่สำคัญต่อมา ได้แก่ การสร้างเครือข่ายปลายน้ำ เพื่อทลายกำแพงอุปสรรคด้านการส่งออกให้กับเกษตรกร  เริ่มจากการเปิดบริษัทเทรดเดอร์ที่เมืองฉางชุนนำผลไม้เข้าไปทำตลาดในจีน   และผลักดันผลไม้ออร์แกนิกผลไม้ที่มีคุณภาพสูงส่งออกไปประเทศเยอรมนี    และยังปูทางให้ผลผลิตของโรงงานเครือข่ายไปเจาะตลาดร่วมกัน

ก้าวสำคัญ คือ การจับมือสร้าง Sister City เป็นเมืองคู่แฝดระหว่างปลายทางนครฉางชุน มณฑลจี้ (Jilin) หลิน ที่ดูแลหัวเมืองทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของจีนทั้งหมดกับจังหวัดปราจีนบุรี การลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU)ในหลายเรื่อง  แต่ยังคงมีอุปสรรคจากฝั่งไทยเนื่องจากการเปลี่ยนตัวพ่อเมืองบ่อยทำให้การสร้างความตกลงเพื่อลงมือทำขาความต่อเนื่อง

ปราจีนบุรีหลังจากเซ็น MOU มาเปลี่ยนผู้ว่าถึง 4 ท่าน ขณะที่อีกฝ่ายยังไม่เคยเปลี่ยนผู้นำเลย สร้างความหงุดหงิดและมีคำถามว่าจากฝั่งจีนว่าเราทำอะไรกันอยู่ ขณะกระทรวงต่างประเทศของเขาก็มี MOU   Sister City กับอีก 12 ประเทศ อย่างเช่น ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ อังกฤษ แคนาคา โรมาเนีย ฯลฯ มีความต่อเนื่องและก้าวหน้บ้านเรารัฐบาลกลับไม่สนใจ สร้างความสัมพันธ์ต่อเนื่องทีการเซ็น MOU กันหลายจังหวัดแต่ก็ทอดทิ้ง

ก้าวต่อไปที่ไม่ใช่แค่ฝัน

คุณเกรียงศักดิ์” สะท้อนแนวคิดอนาคตธุรกิจที่เริ่มลงมือในปัจจุบันแล้วว่า “ภาคการเกษตรยังนำพาประเทศให้เติบโตได้ อยากให้ปราจีนเป็นสวิสเซอร์แลนด์ของไทย  แต่เมื่อมองแผนที่กูเกิลเอิร์ทผมเห็นสวนจิตร์นิยมกลายเป็นปอดอยู่เพียงหย่อมเดียว   ถ้าเราไม่เก็บร่างกาย คือ โลกให้อยู่อย่างเหมาะสม  ต่อไปเราจะหาที่อยู่บนโลกยาก”

สุดท้ายบั้นปลายชีวิต“คุณเกรียงศักดิ์” วางแผนแปลงสวนผลไม้แห่งนี้เป็นแหล่งการเรียนรู้ท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรมธรรมชาติ  ต่อยอดจากฐานการเป็นเกษตรอินทรีย์ไปสู่การพึ่งพาตัวเองทั้งด้านพลังงาน ที่มีต้นแบบจากการสร้างพลังงานจากลม  การขนส่งพืชผลในสวนด้วยลาเหมือนประเทศฟิลิปปินส์   โดยปรับเป็นสัตว์ประเภทอื่นที่เหมสะสมในพื้นที่ เช่น แพะหรือแกะที่เมืองไทยมี  ด้านแหล่งน้ำวางแผนการเก็บกักน้ำธรรมชาติไว้ใช้ในการเพาะปลูกแทนการใช้น้ำจากบริการของภาครัฐ

นโยบายไม่ต่อเนื่องคือขวากหนามความเจริญ

คุณเกรียงศักดิ์” เล่าถึงประสบการณ์การพัฒนาธุรกิจภายใต้นโยบายการส่งของภาครัฐไว้อย่างโดน

ใจว่า Thai Food Ciuster นับเป็นคลัสเตอร์แรกที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้การสนับสนุน  12 ปีแรกนโยบายรัฐให้การส่งเสริมแบบให้เปล่าทุกอย่างฟรีหมด มีสมาชิกเข้าร่วม 400 กว่าราย เข้าสู่ปีที่ 2 การสนับสนุนงบประมาณถูกตัดลงครึ่งนึง ส่งผลให้สมาชิกที่เข้าร่วมหายไปเหลือครึ่งนึงเหมือนกัน เข้าสู่ปีที่ 3 งบประมาณถูกตัดลงอีกครึ่งหนึ่ง เหลือเพียงร้อยละ 25 เปอร์เซ็น ปรากฏว่าสมาชิกมีเพียง 25 โรงงาน ที่ยังคงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบันในปีที่ 12

“ จากการตัดลดงบประมาณลงไปเรื่อยๆ  ควรเปลี่ยนวิธีคิดใหม่เป็นการต่อยอดงบประมาณด้วยองค์ความรู้ที่สูงขึ้น นโยบายควรมีความต่อเนื่องไม่ใช่เปลี่ยนคนบริหารก็เปลี่ยนโครงการที่ส่งเสริม ถือเป็นอุปสรรคสำคัญช่วยตั้งไข่แต่ไม่สานต่อ เพราะเปลี่ยนรัฐบาล  ก็เปลี่ยนรัฐมนตรี”

การบริหารจัดการเบื้องต้น “คุณเกรียงศักดิ์”  ได้ให้ข้อคิดเพิ่มเติมเรื่องผลผลิตการเกษตรในต้นฤดูกาลที่ผลผลิตมักออกมาล้นนำไปแปรรูปไม่ทันจนสร้างปัญหาราคาตกต่ำ  โดยยกตัวอย่างลำใยในภาคเหนือไว้อย่างน่าสนใจว่าไม่ได้อยู่ที่ว่าโรงงานรับลำใยเข้าไม่ได้ แต่ปัญหาคือโรงงานไม่สามารถแปรรูปเบื้องต้น คือ การแกะเปลือกและเมล็ดออกเพื่อเก็บเนื้อลำใยในห้องเย็นหรือผ่านกระบวนการอบแห้งได้ทัน หากมีเครื่องจักรแปรรูปเบื้องต้นในการแกะเปลือกและเม็ดผลไม้ก็จะทำให้ปริมาณผลผลิตที่มากถูกแปรรูปเบื้องต้นเอาแต่เนื้อไปเก็บได้ง่ายไม่ล้นตลาด

อยากให้ภาครัฐไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตร อุตสาหกรรมและพาณิชย์เข้ามาร่วมกัน ในรูปแบบ 3 ประสาน ในฐานะกระทรวงเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องจับมือร่วมกันวางแผนเพื่อส่งเสริมในเรื่องนี้ เช่น ต้นน้ำ กระทรวงเกษตรกับอุตสาหกรรม จับมือร่วมกันพัฒนาเครื่องมือแปรรูปเบื้องต้น กลางน้ำพัฒนาเครื่องจักรในการแปรรูปส่วนของโรงงานให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ประหยัดพลังงานมากขึ้น  และปลายน้ำกระทรวงพาณิชย์ก็ไม่ต้องแบกภาระเรื่องผลไม้สดที่มีอายุการเก็บสั้น แล้วยังสามารถเปลี่ยนเป็นสินค้าที่มีอายุการเก็บนานขึ้น สามารถเรียกราคาได้สูงขึ้น  

รุ่นบุกเบิกก็ว่ายาก ส่งต่อทายาทรุ่น 2 ยากยิ่งกว่า มาถึงทายาทรุ่นที่ 3 ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วด้วยเทคโนโลยีพอๆกับการถดถอยของวิถีธรรมชาติ  เป็นความท้าทายของของสวน 100 ปี เกษตรอินทรีย์แห่งนี้ ที่ผู้ประกอบการกำลังถูกท้าทายจากโจทย์ 4.0  

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ