ลมหนาวเบาๆ พัดโชยกระทบผิวหนัง เสียงเด็กวัยเพิ่งพ้นทารกมาเรียนว่ายน้ำ ผมหยิบคอมพิวเตอร์เครื่องแม็ค มานั่งเขียนบทความริมสระว่ายน้ำยามเช้าของหมู่บ้าน
ความเครียดในชีวิตของคนเรานี่เป็นต้นเหตุของโรคภัยไข้เจ็บในชีวิต มันค่อยๆ สะสมไปเรื่อย ๆ กัดกร่อนชีวิต ถ้าหากเราไม่เรียนรู้ที่จะลดความเครียด สมอง อารมณ์ของเราจะถูกบ่อยทำลายไปเรื่อยๆ ที่เขียนมานี้เตือนตนเองครับ
ถ้าท่านผู้อ่านจะฝึกการลดความเครียดบ้างก็ได้ ผมเชื่อว่ามนุษย์เราน้อยมากไม่มีวันไหนที่ไม่เครียด แต่ การเรียนรู้ที่จะมีสติเท่าทันความเครียดเป็นศาสตร์และศิลป์ ที่ต้องเรียนรู้พร้อมกับการปฏิบัติ แต่ขณะที่ผมกำลังนี้มีอารมณ์เครียดเล็กน้อย จากความไม่ชอบใจ เขียนระบายเป็นการลดความเครียดซะเลย
คู่แข่งทางธุรกิจก็ทำให้เกิดความเครียด เป็นเหมือนกับหอกข้างแคร่ได้อยู่ตลอดเวลาหรือจะเรียกว่าเป็นคู่กรรมก็ได้ โค้ก กับ เป๊บซี่ , แอปเปิ้ล กับ ไมโครซอฟต์, พิซซ่าฮัท กับ เดอะพิซซ่า, ไทยรัฐ กับ เดลินิวส์, ช่อง3 และ ช่อง7, หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ บางกอกโพสต์ กับ เดอะเนชั่น, ร้านหนังสือ B2S กับ ซีเอ็ด และอีกสารพัด บางธุรกิจแข่งกันก็เป็นเพื่อนกัน เหมือนกับนักมวยชกกันบนเวทีให้คนดูสนุก แต่ปรากฏว่าเป็นเพื่อนรักกัน
สงครามการค้าออนไลน์ในประเทศไทย เป็นเรื่องที่น่าท้าทายผู้ประกอบการที่ให้บริการเว็บไซค์ อย่าง lnwshop.com (อ่านเป็นภาษาไทยว่า เทพช็อป) ที่กำลังต้องต่อสู้กับ lazada ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซในไทยที่มีเจ้าของเป็น alibaba.com จากประเทศจีน ยืนเป็นยักษ์ทะมึนอยู่เบื้องหลัง น่าสนใจมากว่า บริษัทเล็กๆ ผู้ให้บริการระบบอีคอมเมิร์ซของไทย ยืนหยัดต่อสู้ได้อย่างไร จริงๆ แล้ว ก็คือต่างคนต่างอยู่ แต่โลกของธุรกิจทำให้หมุนเวียนไปอยู่ในเวทีเดียวกัน
กระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม ได้จัดอบรมเรื่อง อีคอมเมิร์ซ ให้กับผู้ดูแลศูนย์ไอซีทีชุมชน พร้อมกันนี้ได้ชวนทีมงานจิตอาสาของดีแทค และ เจ้าหน้าที่สถิติจังหวัด ได้เข้ามาร่วมฟังอบรม
ผมได้เป็นวิทยากรในเรื่องของการพูดในที่สาธารณะ (Public Speaking) ปรับเปลี่ยนแบบเดล คาร์เนกี้ บวกกับ Ted Talks พร้อมกับการตั้งคำถามกับตัวเองและเก็บประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาในชุมชนเพื่อแชร์ออกสู่โลกโซเชียลมีเดีย ตั้งแต่วันที่ 15-18 ธันวาคม 2559
Lnwshop คือเว็บไซต์ให้บริการสำหรับพ่อค้าแม่ค้าอีคอมเมิร์ซ มีสมาชิกกว่า 400,000 ราย ทีมงานเป็นบริษัทเล็กๆ มีพนักงานประมาณ 30 คน ก่อตั้งโดยอดีตนักศึกษา วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำหรับการอบรม สอนกันทั้งวันตั้งแต่การติดตั้งระบบ การเพิ่มสินค้า ระบบชำระเงิน และจุดเด่นที่สำคัญคือ SEO เว็บไซค์ที่รองรับระบบการค้นหาของ google ปัจจุบันมีลูกค้าประมาณ 70,000 ราย
การอบรมวันรุ่งขึ้น ทีมงาน lazada.com มาทีมใหญ่ เพื่อสอนและเทรนนิ่งให้กับ ผู้เข้าอบรม
ผมนั่งฟังอยู่หลังห้องแล้วทึ่งมากๆ มีข้อมูลตัวเลขว่า เพียง 1 วันที่ทำโปรโมชั่น มีคำสั่งซื้อในประเทศไทยเข้ามาถึง 2 แสนกว่ารายการ ช่วงบ่ายเขาเปิดโอกาสให้ทำแบบฝึกหัดเอาของเขาไปขายใน lazada เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเป็น SME 4.0 มีข้อมูลให้คนไทยได้ภูมิใจว่า
เรื่องการค้าออนไลน์ในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศไทยเราเป็นอันดับหนึ่ง
วิทยากรผู้บรรยาย ถามผู้เข้าอบรมในห้อง
“มีท่านใดขายสินค้าผ่าน Lazada บ้างครับ”
ผมมองสายตาไปรอบๆ แถบจะไม่มีเลย
“แล้วใครเขาซื้อของผ่าน Lazada บ้างครับ”
คราวนี้ยกมือกับพรึ่บเลย เห็นได้ว่าการค้าออนไลน์ลูกค้าซื้อผ่านกันเป็นเรื่องปกติไปแล้ว
บนโต๊ะอาหารกลางวัน ผู้บริหาร Lazada นั่งทานข้าวอยู่ด้วยกัน ก็สนทนากันออกรสชาติ
ผมเริ่มเปิดคำถามที่คาอยู่ในใจ
“จริงหรือไม่ครับที่บอกว่า Lazada ยังคงขาดทุนอยู่”
ผู้บริการ Lazada “จริงครับ เราทำการตลาดเยอะมาก ในหลายด้าน ก็ยังขาดทุนอยู่”
เขาเล่าให้ฟังถึงตลาดขนาดใหญ่ของจีนที่ Alibaba ว่าคนไทยจะมีโอกาสเข้าไปค้าขายกับเมืองจีน ได้อย่างไร
“อะไรที่น่าจะเข้าไปขายได้ดีในเมืองจีนอีก” เขารำพึงบนโต๊ะอาหาร
ผมรีบเสนอไปบอกว่า “ด้านล่างตึกของโรงแรมปรินซ์พาเลซ โฮเต็ล เคยไปเดินไหมครับ คือตลาดโบ๊เบ๊แหล่งซื้อขายเสื้อผ้าใหญ่ที่สุดของประเทศไทย”
“ไม่เคยไปเดินครับ”
“ผมเคยคิดจะขายเสื้อมวยไทย และสินค้ามวยไทย ได้รับความนิยมมาก” แล้วผมก็เล่าถึงความนิยมต่างๆ ของมวยไทยในประเทศไทย รวมถึงการถ่ายทอดสดมวยไทยจากเมืองจีนมายังผู้ชมเมืองไทยหลายครั้งต่อหนึ่งเดือน
“เออ นั่นซิทำไมผมไม่เคยนึกถึงสินค้ามวยไทย ขอบคุณมากครับ”
“ถ้าหากไปบอกใครแล้วประสบความสำเร็จ ไอเดียนี้ มาจากผมไม่ต้องนำเงินมาให้ผมให้ไปทำบุญ”
“ได้ครับผม จัดไปครับ”
เป็นการคุยที่ออกรสชาติมาก คุยถึง ตลาดดอทคอม ไปจนถึงโน่นเลย Ebay , amazon.com
คีย์เวริ์ดที่สำคัญในการพูดบนโต๊ะอาหารทั้งหมด ผมติดใจตรงที่ Lazada ยังไม่กำไร
แต่ผมรู้จักทีมผู้บริหารของ Lnwshop ที่มาบรรยาย ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่บริษัทในตลาดแต่ได้ยินมาว่า บริษัทกำไรแล้ว ถึงแม้ว่าจะเป็นบริษัทเล็กๆ
สิ่งที่ผมสนใจคือ Lnwshop.com คือ SME เล็กๆ ที่ให้บริการระบบอีคอมเมิร์ซ เขายืนหยัดอยู่ได้อย่างไร ท่ามกลางยักษ์ใหญ่ ในขณะที่ Lazada มีทุกอย่างที่เหนือกว่าแต่ขาดทุน
ในนิยามของโลกธุรกิจออนไลน์บางคนเคยบอกว่า ขาดทุนไปก่อนแล้วค่อยกำไร เป็นโมเดล ไม่ว่าจะเป็น Google , Facebook ต้องให้บริการก่อนแล้วกำไรจะตามมา ซึ่งก็เป็นจริง แต่สำหรับในเมืองไทยแล้ว ขาดทุนคือขาดทุน กำไรคือกำไร
การอบรมสัมมนาจบลงไปแล้ว ผู้เข้าอบรมกว่า 250 คน กลับสู่ภูมิลำเนาทั่วประเทศ เพื่อไปขยายผลต่อ
ตามแนวนโยบาย Thailand 4.0 การขับเคลื่อนประเทศไทย ซึ่งความจริงแล้วส่วนตัวของผมเชื่อว่า กรอบความคิดทางเทคโนโลยีของภาครัฐบาล ช้ากว่าภาคเอกชน และ บริษัทเล็กๆ อย่างมาก ส่วนใหญ่แล้วเท่าที่ดูก็เป็นเรื่องเก่าๆ ที่มีมาหมดแล้ว เพียงแต่ว่าปรับแต่ข้อความให้ดูหรูหรา เข้ากับยุคใหม่
แต่ความจริงก็ไม่มีได้อะไรใหม่มาก ๆ แต่ในโลกของชุมชนท้องถิ่นต้องขับเคลื่อนไปตามนโยบาย เพราะไม่มีกำลังเงินเพียงพอและความรู้ในการลงทุน ซึ่งข้าราชการและรัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเหลือ
บนโต๊ะร้านปิ้งย่าง เพื่อนซี้ของผมเป็นเจ้าของร้านขายเครื่องสำอางออนไลน์ที่ใช้บริการระบบของ lnwshop ธุรกิจของเขาเป็นร้านค้าออนไลน์ที่ขายดีมาก บางครั้งขณะกินเหล้ากันตอนเย็นยังต้องนำโน้ตบุ๊คมานั่งตอบคำถามลูกค้าผ่านไลน์กันเลย ผมนั่งอยู่เห็นกับตา คำสั่งซื้อมาเรื่อยๆ
ผมเล่าถึงเรื่องการอบรมอีคอมเมิร์ซให้เขาฟัง พูดถึง Lnwshop.com กับ Lazada
“เฮ้ย Lnwshop กำไรนะโว้ย Lazada ยังขาดทุนอยู่แล้ว ถามลูกค้าอีคอมเมิร์ซยังน้อยกว่าด้วย ไม่ถึง สองหมื่นราย แต่เทพช็อบนี่ เจ็ดหมื่นรายเลยนะ”
เพื่อนผมรีบตอบกลับ
“มึงต้องเข้าใจมันเป็นคนละโมเดล เทพช็อบ รายได้ของเขามาจากการให้บริการระบบอีคอมเมิร์ซ ล้วนๆ ระบบโคตรดีเลย กูบอกเลยดีที่สุดในประเทศไทย แต่ Lazada นี่เหมือนกับเราเอาของไปฝากห้างสรรพสินค้าขาย แล้วกินเปอร์เซ็นต์คนละแบบ กูลองมาเกือบทุกเว็บไซต์แล้ว และไอ้พวกรายเก่าๆ ที่เปิดให้บริการกันอยู่ tarad.com หรือ Readyplanet.com นี่เอาท์ไปเลย”
“ที่มึงพูดเป็นเรื่องของเทคโนโลยีระบบ แต่สิ่งที่กูสนใจคือ เทพช็อป อยู่ได้อย่างไรทั้งที่เป็นรายเล็ก ๆ
แน่นอนมากเลย แต่กูก็เห็นใจพรรคพวกเรา ที่ต้องสู้กับยักษ์ใหญ่ แต่ก็เป็นวิถีทางธุรกิจว่ะ
ถ้ากูทำธุรกิจก็คงเครียดมากๆ เลย ที่ต้องไปต่อกรกับยักษ์ใหญ่”
อย่างไรก็ตามในมุมมองของผม ถ้าหากเราเป็นผู้ขายสินค้า ต้องเรียนรู้เพื่อเปรียบเทียบการใช้งานและเรียนรู้ทุกระบบเทคโนโลยี การให้บริการ และการทำตลาดของผู้ให้บริการว่าจะไปนำสินค้าของเราไปวางโชว์ในเว็บไซค์หรือโซเชียลเน็ตเวริ์คไหนบ้างครับ
สิ่งที่เล่าให้ฟังผมกลัวผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซรายเก่าๆ ของเมืองไทย ซึ่งถูกยักษ์ใหญ่เข้ามาทุบ
แถมมีรัฐบาลเป็นเหมือนกับพันธมิตรธุรกิจ แน่นอนว่ากระทรวงพาณิชย์ และ หน่วยงานราชการอื่นๆ
ก็ต้องมีระบบของ Lazada เป็นแกนกลางเพราะ alibaba.com เซ็นสัญญาความร่วมมือกันไปแล้ว
ดีลใหม่ๆ และสิ่งที่ผ่านแว้บเข้ามาในสมอง ทำให้ผมนึกถึงความทรงจำเมื่อครั้งเป็นเด็กๆ เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ที่จังหวัดเชียงใหม่
ย้อนหลังไปเกือบ 40 ปี จังหวัดเชียงใหม่ มีห้างสรรพสินค้าท้องถิ่นชื่อว่า ตันตราภัณฑ์ สาขาแรก ตั้งอยู่ที่ถนนท่าแพ เป็นของตระกูล ตันตรานนท์ เป็นตึกแถวหลายคูหา มีบันไดเลื่อนบริการลูกค้า สินค้าหลากหลายมาก เสื้อผ้า ของเล่นเด็ก เครื่องอุปโภคบริโภค กิจการของตันตราภัณฑ์ เจริญก้าวหน้าไปมา ขยายสาขาใหม่ ใหญ่กว่าเดิม ชื่อว่า ตันตราภัณฑ์ ช้างเผือก ปัจจุบัน อยุ่ใกล้กับวัดโลกโมฬี เชื่อหรือไม่ครับ พอกลุ่มทุนใหญ่ กรุงเทพเข้ามา เป็นโรบินสัน จากนั้นกลุ่มเซ็นทรัลเข้ามา ห้างตันตราภัณฑ์หายไปจากความทรงจำของชาวเชียงใหม่จนถึงทุกวันนี้ กลุ่มทุนท้องถิ่นสู้กลุ่มทุนเมืองหลวงไม่ได้
ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ก็เฉกเช่นเดียวกัน กลุ่มทุนโลก กับ กลุ่มทุนท้องถิ่นแบบไทยๆ ติดตามกันต่อไปว่า
SME 4.0 ของคนไทยจะต้านทานกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่จะครอบงำประเทศไทยได้หรือไม่
สำหรับผมแล้วไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ผู้ปรับตัวเท่านั้นถึงจะอยู่รอด