สร้างแบรนด์อาหารไทย…สิ่งที่ควรรู้ไว้ก่อนไปต่างแดน

ดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย

ด้วยความพร้อมด้านวัตถุดิบในการที่จะเป็น ครัวโลกในอนาคต ประเทศจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างแบรนด์อาหารของประเทศ

ผู้เขียนต้องเดินทางไปประเทศพม่าอยู่บ่อยครั้ง และมักจะทำอาหารรับประทานเองที่ห้องพัก ทุกครั้งที่ไปจึงต้องไปแวะซื้อของใน Supermarket ในย่านที่พักอาศัย สินค้าที่เป็นประเภทอาหารสำเร็จรูปที่พบส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศไทย และได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากกว่าเมื่อเทียบกับอาหารประเภทเดียวกันที่เป็นแบรนด์ท้องถิ่น ด้วยความเชื่อมั่นในรสชาติและความอร่อยของอาหารไทย

รัฐบาลทุกยุคทุกสมัย มีแนวคิดในการผลักดันอาหารไทยให้ก้าวไกลไปสู่ระดับโลก คำขวัญที่ว่า ครัวไทยสู่ครัวโลกจึงทำให้ได้ยินคุ้นหูกันมานาน ด้วยความพร้อมด้านวัตถุดิบในการที่จะเป็น ครัวโลกในอนาคต ประเทศจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างแบรนด์อาหารของประเทศให้เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและในระดับสากล

ผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร จึงควรใช้ความได้เปรียบทางการแข่งขันจากการที่ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งและขึ้นชื่อในเรื่องอาหารมาต่อยอดในการสร้างแบรนด์ตัวเอง ประเด็นอยู่ที่ว่าหากคุณมีแบรนด์อาหารที่เป็นที่รู้จักในประเทศไทยดีอยู่แล้ว เวลาที่จะส่งออกไปขายในต่างประเทศควรเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมบ้างเพื่อให้สินค้าขายได้ในประเทศนั้นๆ ได้ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศใน CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และ เวียดนาม) ซึ่งผู้บริโภคในประเทศเหล่านี้มีความคุ้นชินกับอาหารไทยอยู่แล้ว ก็เป็นกลุ่มประเทศที่น่าสนใจไม่น้อยในการที่จะเริ่มต้นส่งออก

สิ่งจำเป็นต้องรู้ในการสร้างแบรนด์อาหารสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องท่องไว้ให้ขึ้นใจ ก่อนส่งสินค้าออกไปต่างแดนคือคำว่า มาตรฐาน มาตรฐาน และมาตรฐาน

1.มาตรฐานทางด้านรสชาติ คนต่างชาติทานอาหารไทยเพราะเสน่ห์และรสชาติในความเป็นอาหารไทย อาหารไทยขึ้นชื่อว่าเป็นอาหารที่มีความเป็นเอกลักษณ์ในด้านรสชาติ ดังนั้นอาหารไทย ไม่ว่าจะผลิตที่ไหนก็ต้องมีมาตรฐานรสชาติเดียวกัน ใช้วัตถุดิบส่วนใหญ่ที่เป็นของไทย ผู้บริโภคในแต่ละประเทศอาจมีรสนิยมในด้านรสชาติที่แตกต่างกันบ้าง ผู้ประกอบการจึงสามารถปรับรสชาติตามความต้องการได้บ้าง แต่ต้องพยายามให้อยู่ในมาตรฐานที่ใกล้เคียงแบบเดิมมากที่สุด เพราะผู้บริโภคไม่ว่าชาติไหนๆ ที่ชอบอาหารไทย ก็เพราะชอบในรสชาติความเป็นไทยนั่นเอง

2.มาตรฐานด้านบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ทำหน้าที่สำคัญในการรักษาคุณภาพของอาหาร แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารแบรนด์ไปยังผู้บริโภคได้ด้วยเช่นกัน การออกแบบบรรจุภัณฑ์จึงต้องสอดคล้องกับจุดยืนทางการตลาดของสินค้านั้นๆ ทั้งสีสัน รูปแบบและสไตล์ ที่ตรงความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและเทรนด์ของผู้บริโภคในแต่ละยุคสมัย เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุดจากบรรจุภัณฑ์ ข้อมูลที่ต้องมีบนบรรจุภัณฑ์นอกจากมาตรฐานคุณภาพที่จำเป็นแล้ว ช่องทางการติดต่อไม่ว่าจะเป็น QR Code เบอร์โทรหรือเว็บไซต์ก็เป็นสิ่งที่ควรมี เพื่อใช้เป็นช่องทางในการสั่งซื้อสินค้าหรือดูข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ **องค์ประกอบที่สำคัญบนบรรจุภัณฑ์อย่างน้อยที่ควรมี อาทิ เช่น ชื่อสินค้า ตราสินค้า สัญลักษณ์ทางการค้า รายละเอียดของสินค้า รายละเอียดส่งเสริมการขาย (ถ้ามี) รูปภาพ ส่วนประกอบของสินค้า ปริมาตรหรือปริมาณ ชื่อผู้ผลิตและผู้จำหน่าย (ถ้ามี) รายละเอียดตามข้อบังคับของกฎหมาย เช่น วันผลิต และวันหมดอายุ เป็นต้น บรรจุภัณฑ์ที่มีความสวยงามจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า ช่วยสร้างความน่าสนใจและดึงดูดผู้บริโภคในการส่งเสริมการขายและเพิ่มยอดขาย นอกจากนี้บรรจุภัณฑ์ยังทำหน้าที่เป็นสื่อให้กับสินค้า ถือเป็นพนักงานขายที่ไร้เสียง (Silent Salesman) ที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างดี โดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องมีต้นทุนเพิ่ม

3.มาตรฐานทางด้านผลิตภัณฑ์ มาตรฐานการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารในการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในต่างประเทศ ผู้ประกอบการควรศึกษาเรื่องมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่จำเป็นต้องทราบ และถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างแบรนด์สินค้าให้ประสบความสำเร็จ          เพราะถ้าอาหารสชาติอร่อย บรรจุภัณฑ์สวยหรู ดูดี แต่ผลิตภัณฑ์ไม่มีมาตรฐานคุณภาพ แบรนด์นั้นก็จะไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคในที่สุด *มาตรฐานการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ที่ผู้ประกอบการควรทราบ ได้แก่

· Good Manufacturing Practice (GMP):  ระบบการจัดการด้านความปลอดภัยในการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารขั้นพื้นฐาน (Food Safety Management System) แต่การจัดการความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารจะสมบูรณ์ เมื่อมีการนำระบบ HACCP (Hazard Analysis and Critical Control Point) มาปรับใช้ภายในสถานประกอบการร่วมด้วย

·   Hazard Analysis and Critical Control Point (HACCP): แนวคิดและวิธีการป้องกันอันตรายจากสารพิษ หรือสารปนเปื้อนต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอนของการดำเนินกิจกรรมในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร

·  Halal (ฮาลาล): เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสำหรับหรับประชากรมุสลิม

· Codex: โครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ เป็นทั้งองค์กรและมาตรฐาน เพื่อการคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภคและการดูแลให้เกิดความเท่าเทียมกันในด้านการค้าผลิตภัณฑ์อาหาร ภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ

การส่งออกอาหารไทยไปต่างแดนยังมีองค์ประกอบอีกหลายอย่างที่จะทำให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จ ทั้งด้านการตลาด การจัดหาตัวแทนจำหน่าย รวมถึงการบริหารจัดการ อย่างน้อยความเข้าใจใน 3 มาตรฐานที่กล่าวมาทั้งหมดก็คงจะช่วยให้ผู้ประกอบการเริ่มต้นได้ดี และเข้าใจได้ว่าการสร้างแบรนด์ไม่ใช่แค่การออกแบบโลโก้หรือบรรจุภัณฑ์ เพราะแบรนด์คือทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการนั้น ๆ เพียงแค่นี้คุณก็สามารถมีแบรนด์อาหารไทยที่จะช่วยสร้างความประทับใจให้คนอาศัยในต่างแดนไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติก็ตาม

 

ที่มา

*กระทรวงอุตสาหกรรม

**บทความการทำความเข้าใจ การออกแบบการบรรจุภัณฑ์  http://www.thailandindustry.com

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ