ภาษี ที่ SME ควรต้องรู้…ก่อนเริ่มดำเนินธุรกิจ (ตอนที่ 3)

สกล อยู่วิทยา

การประกอบธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา และรูปแบบนิติบุคคลประเภท SME สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจควรจะต้องรู้นอกจากอัตราภาษีที่ไม่เท่ากันของทั้งสองรูปแบบ

การประกอบธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา และรูปแบบนิติบุคคลประเภท SME  สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจควรจะต้องรู้นอกจากอัตราภาษีที่ไม่เท่ากันของทั้งสองรูปแบบแล้ว กล่าวคือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะมีอัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 5 – 35  ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลประเภท SME จะมีอัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 15 -20 ดังที่ได้กล่าวแล้วในสัปดาห์ก่อน

สิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องทำความเข้าใจต่อมา คือ เรื่องการหักค่าใช้จ่ายของทั้งสองรูปแบบ จะมีความแตกต่างกัน

การหักค่าใช้จ่ายของบุคคลธรรมดา

จะมีสิทธิเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบ คือ หักแบบเหมาตามอัตราที่กฎหมายกำหนด และหักตามจริงหรือตามความจำเป็นและสมควร

โดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด คือ ค่าใช้จ่ายนั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของกิจการ มีจำนวนที่สมควรและเหมาะสมกับกิจการ ไม่เป็นรายจ่ายที่กฎหมายห้ามซึ่งมีอยู่หลายรายการ และต้องมีใบเสร็จรับเงินประกอบเป็นหลักฐานแสดง ซึ่งจะมีความยุ่งยากกว่า มีลักษณะเช่นเดียวกันกับการหักค่าใช้จ่ายของการประกอบธุรกิจแบบนิติบุคคล โดยเจ้าพนักงานสรรพากรอาจขอตรวจสอบหลักฐานต่างๆได้   

การหักค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบธุรกิจแบบนิติบุคคล

จะต้องเป็นรายจ่ายที่มีความเกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการประกอบธุรกิจของกิจการไม่เป็นรายจ่ายที่กฎหมายห้าม และต้องมีหลักฐานการจ่ายเงิน-รับเงิน หรือใบเสร็จรับเงิน เพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงานสรรพากรหากถูกตรวจสอบ

ผู้ประกอบธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาโดยส่วนใหญ่จะเลือกวิธีการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาเพราะไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องเก็บหลักฐานหรือใบเสร็จรับเงินเพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงานสรรพากร แต่การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมานี้ในปัจจุบันทุกประเภทกิจการจะหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุดเพียงร้อยละ 60 เท่านั้น จากเดิมที่กิจการหลายประเภทอาจหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุดถึงร้อยละ 85

ซึ่งเหตุผลที่ถูกกำหนดให้ลดลงเนื่องจากรัฐต้องการให้บุคคลธรรมดาใช้วิธีการหักค่าใช้จ่ายแบบตามจริงหรือตามความจำเป็นและสมควรโดยจะต้องจัดทำบัญชีประกอบการหักค่าใช้จ่ายดังกล่าวเพื่อแสดงผลประกอบการที่แท้จริง สามารถตรวจสอบได้ กรณีนี้ก็จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้สูงกว่าร้อยละ 60  แต่ผู้ประกอบธุรกิจก็จะต้องมีความยุ่งยากเพิ่มขึ้นในเรื่องของการขอหลักฐานการรับเงินหรือใบเสร็จรับเงินจากคู่ค้าเพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการหักค่าใช้จ่ายของกิจการ

ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญของ SME บุคคลธรรมดาขนาดเล็ก เนื่องจากคู่ค้าของเขาก็ไม่ต้องการแสดงหลักฐานโดยออกใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานการรับเงิน เพราะนั่นเท่ากับว่าข้อมูลของเขาจะต้องมีแสดงไปถึงกรมสรรพากร ซึ่ง SME บุคคลธรรมดาขนาดเล็กโดยส่วนใหญ่ไม่ประสงค์จะให้เป็นเช่นนั้น

อันนี้ก็ต้องตัดสินใจครับว่าจะเลือกใช้วิธีการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาหรือแบบตามจริง สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ SME บุคคลธรรมดา

ส่วนผู้ประกอบธุรกิจ SME ประเภทนิติบุคคลจะเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาเหมือนบุคคลธรรมดาไม่ได้ครับ จะหักได้วิธีเดียวตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย คือ จะต้องเป็นรายจ่ายที่มีความเกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการประกอบธุรกิจของกิจการเท่านั้น โดยจะต้องไม่เป็นรายจ่ายที่กฎหมายห้าม และต้องมีหลักฐานการจ่ายเงิน-รับเงิน หรือใบเสร็จรับเงินประกอบการหักรายจ่ายดังกล่าว