ภาษี ที่ SME ควรต้องรู้…ก่อนเริ่มดำเนินธุรกิจ (ตอนที่ 1)

สกล อยู่วิทยา

ภาษีอากรที่ SME ควรจะต้องรู้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจมีมากมายที่ควรจะต้องใส่ใจให้ความสำคัญ และทำความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) เป็นธุรกิจที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย ผู้ประกอบการส่วนมากประกอบธุรกิจในรูปของบุคคลธรรมดา คณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือกิจการร่วมค้า โดยประกอบธุรกิจขายสินค้า ผลิตสินค้า หรือให้บริการ  

การจะเป็นผู้ประกอบธุรกิจ SME ที่ประสบความสำเร็จนั้น มิใช่เพียงแค่เก่งด้านการตลาด การบริหาร หรือมีลูกค้าอยู่ในมือ มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลายและตรงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย รู้เรื่องกระบวนการผลิตเป็นอย่างดีเท่านั้น  แต่ยังจะต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของการเงิน บัญชี และกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายภาษีอากร ซึ่งเป็นส่วนที่มีความสำคัญมากๆ ที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ปราศจากปัญหา ความเสี่ยง หรือความเดือดร้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในภายหลัง

ภาษีอากรที่ SME ควรจะต้องรู้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจมีมากมายที่ควรจะต้องใส่ใจให้ความสำคัญ และทำความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย อากรแสตมป์ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน  และภาษีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามลักษณะของธุรกิจที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวพัน  

คำถามว่าผู้ประกอบธุรกิจ SME ที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจ ควรจะจัดตั้งธุรกิจของตนในรูปแบบบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลดี คำตอบคือควรจะต้องศึกษาถึงข้อดีและข้อเสียของทั้งสองรูปแบบ ประกอบกับลักษณะธุรกิจของตนเองให้ดีก่อน โดยข้อดีของรูปแบบบุคคลธรรมดา คือ จัดตั้งง่าย ไม่ยุ่งยาก ต้นทุนต่ำ ไม่ต้องทำบัญชีตาม พรบ.การบัญชี และหากมีเงินได้พึงประเมินสุทธิ (รายได้ที่หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว) ไม่ถึง 1 ล้านบาท จะเสียภาษีเงินได้ต่ำกว่าในรูปแบบของนิติบุคคล การหักรายจ่ายก็สามารถเลือกหักได้ 2 วิธี คือ หักแบบเหมาตามอัตราที่กำหนด ซึ่งไม่ต้องมีหลักฐานหรือใบเสร็จรับเงินมาพิสูจน์รายจ่าย หรืออีกวิธี คือ หักรายจ่ายตามความจำเป็นและสมควร โดยมีหลักฐานหรือใบเสร็จรับเงินมาพิสูจน์รายจ่ายในลักษณะเช่นเดียวกันกับนิติบุคคล  ส่วนข้อเสีย คือ ถ้าประกอบธุรกิจแล้วขาดทุน มีหนี้สิน จะต้องรับผิดในหนี้สินโดยไม่จำกัดจำนวนและผูกพันถึงทรัพย์สินส่วนตัว อีกทั้ง ไม่สามารถนำผลขาดทุนไปใช้ในปีถัดไปได้  และการขาดทุนยังอาจจะต้องเสียภาษีเงินได้ 

เนื่องจากวิธีการคำนวณภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาในการประกอบธุรกิจ จะมี 2 แบบ คือ (1) เงินได้หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้วคำนวณภาษี  และ (2) คำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 0.5 ของเงินได้  แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า  แต่หากแบบที่ (2) คำนวณแล้วไม่เกิน 5,000 บาท จะได้รับยกเว้น  ส่วนรูปแบบการประกอบธุรกิจในลักษณะนิติบุคคล จะมีข้อดี คือ จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่า โดยเฉพาะหากผู้ประกอบธุรกิจต้องการรับทำงานให้กับภาครัฐ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล นอกจากนี้ อัตราภาษีเงินได้ขั้นสูงสุดก็ต่ำกว่าบุคคลธรรมดา คือ ไม่เกินร้อยละ 20 ในกรณีของนิติบุคคลทั่วไป ส่วนนิติบุคคลในรูปของ SME จะมีอัตราภาษีในลักษณะเป็นขั้นบันได คล้ายกับของบุคคลธรรมดา คือ กำไรสุทธิ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย) ตั้งแต่ 0 – 300,000 บาท จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี  ในส่วน 300,001 – 3,000,000 บาท จะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 15  และตั้งแต่ 3,000,001 บาทขึ้นไป เสียภาษีในอัตราร้อยละ 20  และถ้าหากประกอบธุรกิจขาดทุน จะไม่ต้องเสียภาษี และยังสามารถนำผลขาดทุนไปหักจากกำไรในปีถัดไปได้เป็นระยะเวลา 5 ปีภาษี ส่วนข้อเสียของการประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล คือ จะต้องจัดทำบัญชีตาม พรบ.การบัญชี ต้องจัดทำงบการเงินนำส่งกระทรวงพาณิชย์ ต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินที่ถูกต้อง และไม่สามารถหักรายจ่ายแบบเหมาเหมือนบุคคลธรรมดาได้ 

ทั้งหมดนี้ก็น่าจะมีส่วนช่วยทำให้ท่านตัดสินใจได้ว่าจะเลือกประกอบธุรกิจในลักษณะบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลดี อันนี้ก็ต้องแล้วแต่เหตุผลปัจจัยของแต่ละบุคคลครับ