“ … การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป … ”
จากแนวพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๑๗ แม้กาลเวลาผ่านพ้นมา ๔๓ ปี แต่แนวพระราชดำริของพระองค์ยังคงนำมาใช้ได้จนถึงปัจจุบัน ข้าพระพุทธเจ้า รัญชนา รัชตะนาวิน ขอน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาเพื่อขยายความเข้าใจให้แก่ผู้อ่านในบทความนี้
การดำเนินธุรกิจนั้น เช่นเดียวกับการนำแนวพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” มาใช้เช่นกัน โดยมีคุณสมบัติที่สำคัญ ดังนี้
- ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ สำหรับเจ้าของธุรกิจที่มีความพอประมาณในการดำเนินธุรกิจนั้น ควรเริ่มต้นตั้งแต่ความพอดี ไม่ควรทำอะไรที่เกินตัว มีเงินเริ่มลงทุนเท่าไร ควรเริ่มต้นจากเงินที่มี ไม่ควรเริ่มต้นจากการกู้ยืมเงิน หรือก่อหนี้ก่อน สืบเนื่องจากการที่เจ้าของธุรกิจนั้น ยังไม่สามารถทราบแน่ชัดว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการของเรานั้น อยู่ในความต้องการของตลาดหรือไม่ หากธุรกิจต้องกู้ยืมเงินจากบุคคลอื่นมาเพื่อดำเนินธุรกิจ และไม่สามารถขายสินค้าหรือบริการ จนทำให้ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยและคืนเงินต้นจากการกู้ยืม (หากเป็นการกู้ยืมนอกระบบอาจจะทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยจากอัตราที่สูงเกินไป) การที่ทำธุรกิจจากความไม่พอประมาณนี้ จะส่งผลทำให้เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น (อาจเป็นบุคคลในครอบครัว) เดือดร้อนได้
- ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบนั่นหมายความว่า ก่อนที่จะเริ่มดำเนินธุรกิจ เจ้าของกิจการควรที่จะวางแผนและนำเอาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจของตน มาเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจ และเปรียบเทียบผลตอบแทนหรือผลลัพท์ที่คาดว่าจะได้รับหรือเกิดขึ้น เช่น ทำเลที่ตั้งที่จะดำเนินธุรกิจนั้น อยู่ในทำเลที่คาดว่าจะมีลูกค้ากลุ่มเป้าหมายหรือไม่ ค่าเช่าและค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจที่จะต้องจ่ายแต่ละเดือนนั้น เมื่อเทียบกับยอดขายแล้วมีเหลือเกินเพื่อเป็นกำไรหรือไม่ ซึ่งเจ้าของกิจการนั้นควรมีการจัดทำแผนการเงินหรืองบประมาณที่แท้จริง เพื่อนำมาใช้ประกอบการพิจารณาในการตัดสินใจด้วย
- ภูมคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อพูดถึงภูมคุ้มกันให้นึกถึงการมีสภาพร่างกายที่แข็งแรง การมีจิตใจที่เข้มแข็งและหนักแน่น ไม่หลงเชื่อหรือทำอะไรด้วยอารมณ์ ควรใช้สติ ปัญญา ในการพิจารณาสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างมีเหตุผล ซึ่งตัวของเจ้าของกิจการนั้นมีความสำคัญมากที่จะเป็นผู้ที่นำพาธุรกิจและพนักงานที่อยู่ในความดูแลนั้นผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ
นอกจากนี้ เงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ควรให้อยู่ในระดับพอเพียง ๒ ประการ คือ
๑. “เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในการปฏิบัติ” เจ้าของกิจการมีความเชี่ยวชาญและความรู้ในเรื่องอะไร ควรทำธุรกิจที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญ อย่าทำเพราะเห็นกระแส เพราะเห็นคนอื่นเค้าทำกัน การที่เราทำตามบุคคลอื่น โดยที่เราไม่มีความเชี่ยวชาญนั้น อาจจะส่งผลทำให้ธุรกิจของเราไม่ประสบความสำเร็จตามที่เราตั้งเป้าหมายไว้ได้
๒. “เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้าง ประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต” การดำเนินธุรกิจที่จะให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องมีคุณธรรมที่ต้องเสริมสร้างอยู่ในรากฐานของจิตใจของเจ้าของกิจการ พนักงาน และบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเราทุกคน เมื่อบุคคลในองค์กรสร้างคุณธรรมต่างๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นจนเป็นรูปธรรม จะสามารถสร้างให้บุคคลอื่นเห็นได้ว่าองค์กรของเราเป็นองค์กรที่มีคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนเช่นเดียวกัน
สุดท้าย การดำเนินตามแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” ในการดำเนินธุรกิจนั้น เป็นการปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของสังคมไทย ที่มีความเข้มแข็ง มองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หากมีเทคโนโลยีหรือสิ่งต่างๆ ที่เป็นกระบวนการใหม่ๆ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้ดีขึ้น ให้เจริญขึ้น อยู่ในความพอดี และมุ่งเน้นเพื่อความอยู่รอดจากวิกฤต เพื่อให้ธุรกิจมีความมั่นคง พัฒนาและมีความยั่งยืนยิ่งขึ้น