ความเชื่อ และ พลังศรัทธา “ข้าวทิพย์” เมนูเสริมสิริมงคลในวันวิสาขะบูชา
หนึ่งประเพณีที่สืบสานกันมาอย่างยาวนานคือ การกวนข้าวทิพย์ หรือ ข้าวมธุปยาส ว่ากันว่าเป็นอาหารพิเศษที่เมื่อใครได้รับประทานแล้วจะเป็นสิริมงคลต่อตนเอง มนต์เสน่ห์ของความงดงามและจิตใจอันบริสุทธิ์ของผู้รวมพิธีที่แฝงไปด้วยกลอุบายแห่งความปราถนาดีของผู้เฒ่าผู้แก่
ภาพประกอบจาก : พิธีกวนข้าวทิพย์ปี 2560 วัดนางคุ่ม อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
หากลองพินิจพิเคราะห์ตามหลักวิทยาศาสตร์และความเป็นจริงแล้วนั้น อาจมองได้ว่าแท้จริงแล้วการกวนข้าวทิพย์นั้นเป็นประเพณีที่สร้างความสามัคคีให้แก่คนในชุมชนโดยการนำเอาความเชื่อในสมัยพุทธกาลมาช่วยเสริมก็เป็นได้ เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ในการกวนก็หาได้มีอะไรวิเศษไปกว่าที่คนปกตินำมารับประทานกัน ซึ่งก็ได้แก่ น้ำนมโค น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ชะเอมเทศ น้ำตาลกรวด น้ำตาลหม้อ ข้าวตอก ข้าวเม่า ถั่ว งา ลูกเดือย เมล็ดแตง เผือกมัน เมล็ดบัว มะพร้าวแก่ มะพร้าวอ่อน คั่วสุก และผลไม้ในท้องถิ่นที่หาได้ง่ายอย่าง มะม่วง กล้วย ทุเรียน ละมุด ลำไย ส้ม ขนุน เป็นต้น
ภาพประกอบจาก : พิธีกวนข้าวทิพย์ปี 2560 วัดนางคุ่ม อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เหตุผลหนึ่งที่ช่วยเสริมแนวคิดนี้คือ เมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมานั้นการปลูกบ้านเรือนของชาวบ้านทั่วไปค่อยข้างห่างกัน การที่ชาวบ้านจะสามารถมาพบเจอกันได้ก็คือต้องมีกิจกรรมทำร่วมกันอย่างการไปวัด แต่ครั้นจะให้ไปไหว้พระอย่างเดียวคงไหว้เสร็จแล้วกลับบ้าน ดังนั้นพิธีกรรมต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ โดยการนำเอาความเชื่อมาร่วมเพื่อให้แรงศรัทธาสามารถผลักดันให้พิธีกรรมต่าง ๆ เหล่านั้นดำเนินต่อไปได้อย่างยาวนานจงเกิดกลายเป็นประเพณีที่สืบทอดมาถึงในยุคปัจจุบัน และประเพณีกวนข้าวทิพย์ในวันวิสาขะบูชาก็เช่นกัน
จุดเริ่มต้นของประเพณีดังกล่าว เริ่มต้นจากเรื่องเล่าของพระพุทธเจ้า ในระหว่างที่พระองค์ทรงออกผนวช ได้มีหญิงนางหนึ่งชื่อว่า นางสุชาดา นำข้าวทิพย์มาถวายประองค์ เนื่องจากนางได้เคยบนบานกับต้นไทรที่พระองค์ประทับอยู่ไว้ว่า ขอให้ได้แต่งงานกับชายที่มีสกุลและฐานะเสมอกันและให้ได้บุตรคนแรกเป็นชาย ซึ่งนางได้ทุกอย่างตามที่ปรารถนา ในวันนั้นจึงจัดการหาวัตถุดิบเพื่อมาทำข้าวทิพย์ และก็เรื่องมหัศจรรย์ขึ้นเมื่อนมวัวช่างรีดง่ายเสียเหลือเกิน ง่ายจนสามารถวางภาชนะรองไว้เฉย ๆ น้ำนมก็ไหลออกมาเองได้ และในคืนที่นางสุชาดากวนข้าวทิพย์ เหล่าเทพยดาต่างก็ได้นำธัญญาอาหารทิพย์มาโปรยลงหม้อกวนด้วยว่ากันว่า แม้หม้อเดือดเพียงใดก็หาได้มีกระเซ็นตกพื้นแม้สักหยด ในประเพณีการกวนข้าวทิพย์จึงมีผู้ส่วนใส่ชุดเสมือนเทวดา นางฟ้า มาร่วมกวนด้วยนั้นเอง
ภาพประกอบจาก : พิธีกวนข้าวทิพย์ปี 2560 วัดนางคุ่ม อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
และเมื่อไปถึงต้นไทรเธอก็พบพระพุทธเจ้า ณ โคนต้นไทรดังกล่าว จึงนำเรื่องราวต่าง ๆ มาร้อยเรียงกันแล้วคิดว่าพระองค์คือเทวดา จึงได้นำข้าวทิพย์เข้าไปถวายเป็นจำนวนทั้งหมด 49 ก้อน เมื่อพระองค์เสวยเสร็จแล้วก็ทรงนำถาดทองไปลอยน้ำไป
ภาพประกอบจาก : พิธีกวนข้าวทิพย์ปี 2560 วัดนางคุ่ม อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
แต่สาเหตุที่ ข้าวทิพย์ หรือข้าวมธุปายาส กลายเป็นเมนูวิเศษอาจมาจาก วัถุดิบที่ต้องนำมาใช้ปรุงนั้นต้องใช้กำลังทรัพย์ และกำลังคนในการกวน จำเป็นต้องเป็นผู้มีบารมีและกำลังทรัพย์จึงจะสามารถทำได้ โดยเฉพาะในสมัยก่อนผู้จะหาวัตถุดิบได้ครบตามที่กล่าวมาคงมีไม่มากนัก อีกทั้งยังรวมกับความเชื่อที่ว่าในการกวนต้องใช้เวลาทั้งวันทั้งคืน โดยมีเหล่าเทพยดามาช่วยปรุง และสุดท้ายคือประวัติของข้าวทิพย์ที่เป็นอาหารที่พระพุทธเจ้าทรงเสวยและสามารถบรรลุธรรมได้ในวันนั้น จึงทำให้ ข้าวทิพย์ มีวิเศษและข้องเกี่ยวกับความรู้สึกกำลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างมาก
ภาพประกอบจาก : พิธีกวนข้าวทิพย์ปี 2560 วัดนางคุ่ม อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
อนึ่ง แม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนานมากแล้วการกวนข้าวทิพย์ ก็ยังเป็นประเพณีที่สืบสานกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยโลกที่เปลี่ยนแปลงไป บวกกับความรู้ความสามารถและความเชื่อของคนรุ่นใหม่ส่งผลให้ประเพณีเป็นที่รู้จักน้อยลงทุกวัน เพราะถูกมองเป็นความเชื่อและความงมงาย แต่หากมองลงไปให้ลึกกว่านั้นทุกกลอุบายของคนโบราณมักมีความปรารถนาดีซ้อนเร้นอยู่เสมอ
ภาพประกอบจาก : พิธีกวนข้าวทิพย์ปี 2560 วัดนางคุ่ม อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
…อย่าเพียงเปิดตา แต่ขอให้ใช้ใจมอง แล้วคุณจะรู้ว่า ความงมงายที่พูดกันติดปาก มีมนต์เสน่ห์และความปรารถนาดีซ้อนอยู่…