บ้านตึกแถว สไตล์ชิโน-โปรตุกีส : อ.เชี่ยว ชอบช่วย

อ.เชี่ยว ชอบช่วย

สำหรับสาระน่ารู้ในฉบับนี้ผมภูมิใจนำเสนอรูปแบบ “บ้าน+ตึกแถวแฝดไม่บาน” ประเภท “ไฮบริด” ในสไตล์ “ชิโน-โปรตุกีส” ที่ร่วมสมัย ซึ่งกำลังจะเบิกบานที่จังหวัด “ระนอง” โดยในอดีตเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าแร่ดีบุก และเป็นศูนย์กลางการค้าขายของ

สำหรับสาระน่ารู้ในฉบับนี้ผมภูมิใจนำเสนอรูปแบบ “บ้าน+ตึกแถวแฝดไม่บาน” ประเภท “ไฮบริด” ในสไตล์ “ชิโน-โปรตุกีส” ที่ร่วมสมัย ซึ่งกำลังจะเบิกบานที่จังหวัด “ระนอง” โดยในอดีตเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าแร่ดีบุก และเป็นศูนย์กลางการค้าขายของชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารใน “สยามประเทศ” ตั้งแต่รัชสมัย “ล้นเกล้ารัชกาลที่ 3” แต่มาเฟื่องฟูจริงๆ ในรัชสมัย “ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5”

 ในยุคนั้น “ระนอง” ถือว่ารุ่งเรืองมากครับ เราคงเคยได้ยินประวัติ “เจ้าเมืองระนอง” นาม “พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี” (คอซู้เจียง) หรือเรียกตามนามเมืองว่า “หลวงระนอง” เป็นต้นตระกูล “ณ ระนอง” ซึ่งท่านเป็นคนจีนชาว “ฮกเกี้ยน” จากเมือง “เจียงจิวยู” ที่อพยพจาก “จีน” แผ่นดินใหญ่หนีความยากจนและการกดขี่จากรัฐบาล “แมนจู” มาเป็น “กุลี” ที่ “เกาะหมาก” (ปีนัง) แล้วจึงอพยพโยกย้ายเข้ามาใน “สยามประเทศ” ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนา “ระนอง” ในอดีต

 นอกจากนั้น “ระนอง” ในปัจจุบันก็ยังเป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนและอุตสาหกรรมการประมงที่สำคัญ และเป็นอีก “ประตู” หนึ่งของ “ไทย” ที่ติดต่อค้าขายกับ “เมียนมาร์” โดยผ่านด่าน “วิคตอเรียพอยท์” ก็ไม่น่าแปลกใจที่เห็นเรือสินค้านานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก “สิงคโปร์” จอดเรียงรายเต็มไปหมด ซึ่งถือว่าเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีอนาคตไกลเป็นอย่างยิ่งครับ

ผมจึงฟันธงลงไปว่าเมื่อมีการเปิด “AEC” เสรีอาเซียนเต็มรูปแบบ “ระนอง” น่ีแหละครับจะเป็น “หน้าด่าน” สำคัญที่จะทะลุทะลวงไปใน “เมียนมาร์” ตอนใต้ครับ

 ผมเคยไป “ระนอง” มาหลายครั้ง ทุกครั้งก็เห็นศักยภาพของเมืองท่าที่สำคัญแห่งนี้เพิ่มมากขึ้น จากเดิมเมื่อร้อยปีล่วงแล้วที่เคยเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการค้าที่สำคัญของ “สยามประเทศ” แต่การค้าก็มาชะลอตัวลงภายหลังจากการลดบทบาทของการทำเหมืองแร่ดีบุกลง และมีการย้ายศูนย์กลางการค้าไปยัง “ภูเก็ต”

 แต่ตอนนี้ “ระนอง” กำลังถูกปลุกให้ตื่นฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิด “AEC” เสรีอาเซียนในอนาคตอันใกล้ แต่จะว่าไปแล้วกิจการการค้าขายระหว่าง “เมียนมาร์” กับประเทศของเราโดยผ่าน “ระนอง” ก็คึกคักครึกครื้นมายาวนานหลายสิบปีแล้วครับ เป็นการเติบโตแบบต่อเนื่องและยั่งยืน

 ผมเชื่อว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า “ระนอง” ก็จะเข้าสู่ “ยุคใหม่” ที่มีความเจริญในรูปแบบใหม่อย่างก้าวกระโดด อาจเป็นเพราะความได้เปรียบใน “ทำเล” ที่ตั้งที่เป็น “จุดยุทธศาสตร์” การค้าที่สำคัญ รวมทั้งความได้เปรียบจากทรัพยากรทางธรรมชาติของ “ระนอง” เองที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือครับ

 สิ่งที่ผมประทับใจ “ระนอง” นอกจากอาหารทะเลสดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เต๋าเต้ย” (ปลาจาระเม็ดน้ำลึก) รสเลิศ และเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บน “ทำเล” ที่จัดได้ว่าเป็น “จุดยุทธศาสตร์” ทางการค้าที่สำคัญแล้ว “ระนอง” ยังอุดมไปด้วย “น้ำแร่” ที่มีชื่อเสียงและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเป็นที่รู้จักกันมายาวนานว่าสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติประเภท “รักธรรมชาติ+สุขภาพ” ให้เข้ามาเยี่ยมเยียนตลอดทั้งปี

 อีกสิ่งที่ประทับใจผมไม่รู้ลืมคือ อาคารที่เก่าแก่มีอายุนับ 100 ปี ในสไตล์ “ชิโน-โปรตุกีส” ซึ่งมาจากรากศัพท์ที่ว่า “จีน-โปรตุเกส” (Sino หมายถึง จีน และ Portuguese หมายถึง โปรตุเกส) แม้ว่า “อังกฤษ” และ “ดัตช์” จะเข้ามามีอิทธิพลในการผสมผสานศิลปะของตนเข้าไปในยุคหลังด้วยก็ตาม แต่ก็ยังคงเรียกรวมกันว่า “จีน-โปรตุเกส”

 ลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบ “จีน-โปรตุเกส” หรือ “ชิโน-โปรตุกีส” คือการผสมผสานระหว่าง “ศิลปะยุโรป” และ “ศิลปะจีน” จึงมักจะถูกเรียกว่าสไตล์ “สถาปัตยกรรมแบบอาณานิคม” หรือ “แบบโคโลเนียล” (Colonial Style) ถ้าเป็นอาคารสองหรือสามชั้นกึ่งร้านค้ากึ่งที่อยู่อาศัย (Shop-House or Semi-Residential) จะมีด้านหน้าอาคารที่ชั้นล่างมี “ช่องโค้ง” (Arch) ต่อเนื่องกันเป็นระยะๆ เพื่อให้เกิดการเดินติดต่อถึงกัน

 ภาษาไทยเรียกทับศัพท์ว่า “อาเขต” (Arcade) หรือที่ภาษา “จีนฮกเกี้ยน” เรียกว่า “หง่อคาขี่” คือ “ทางเดินกว้าง 5 ฟุต” หรือประมาณ 1.50 เมตร ต่อเนื่องถึงกันยาวตลอดบริเวณด้านหน้าอาคาร ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วถือว่าผู้ออกแบบมีความฉลาดหลักแหลมเป็นอย่างยิ่งครับ เพราะ “หง่อคาขี่” นี้จะช่วยคุ้มแดดคุ้มฝนในสภาพอากาศ “ฝนแปด แดดสี่” คือ ฝนตกชุกโดยเฉลี่ย 8 เดือน และแดดแรง 4 เดือน เป็นสภาพภูมิอากาศในเขตร้อนชื้น “หง่อคาขี่” จึงถูกออกแบบขึ้นเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าวครับ

นอกจากนั้นผมยังออกแบบ “บ้าน+ตึกแถวแฝดไม่บาน” หลังนี้แบบ “ไฮบริด” ในลักษณะเป็นอาคารแฝดคือ เป็นบ้านแฝด หรือตึกแถวแฝดในสไตล์ “ชิโน-โปรตุกีส” ที่ร่วมสมัยก็ได้ ซึ่งแต่ละคูหาผมออกแบบให้มีหน้ากว้าง 5 เมตร และที่พิเศษคือ การจัดวางผังภายในผมออกแบบให้มีลิฟต์โดยสารขนาดเล็ก เผื่อไว้บรรดาสมาชิกที่เป็น “ส.ว.” (สูงวัย) ซึ่งเดินเหินขึ้นบันไดไปชั้นสูงๆ ก็ลำบาก สามารถใช้ลิฟต์โดยสารขนาดเล็กประเภทสำหรับการใช้งานในอาคารพักอาศัย

 ลิฟต์ขนาดเล็กในปัจจุบันก็มีราคาไม่สูงเกินเอื้อม (5-7 แสนบาท) ซึ่งจะแก้ปัญหาเรื่องการใช้พื้นที่ เพราะสามารถใช้พื้นที่ได้อย่างสะดวกทุกชั้น สามารถขึ้นไปถึงชั้นดาดฟ้า ซึ่งก็สามารถจัดให้เป็นสวน “Roof Garden” ไว้นั่ง “กินลมชมดาว” หรือใครมี “จินตนาการ” ที่สุดแสนจะ “โรแมนติก” กว่านั้นก็ทำสระว่ายน้ำเล็กๆ พร้อมอ่าง “จากุซซี่” หรืออาจจะเป็นสระว่ายน้ำสำเร็จรูปทำจาก “ไฟเบอร์กลาส” ที่มีน้ำหนักเบาและแข็งแรง อีกทั้งก็มีราคาไม่แพง ก็ไม่ผิดกติกาแต่ประการใด ก็ขึ้นอยู่กับจินตนาการและสภาพคล่องทางทุนทรัพย์ของท่านครับ

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ