การทวงถามหนี้ที่เจ้าหนี้ต้องรู้ภายใต้กฎหมายใหม่ : อ.นิติ เนื่องจำนงค์

อ.นิติ เนื่องจำนง

สิ่งหนึ่งที่ผมเป็นห่วงคือการปรับใช้กฎหมายฉบับนี้ไปในทางลบ โดยเฉพาะลูกหนี้ที่ฉวยโอกาสหลีกเลี่ยงการชำระหนี้จากเจ้าหนี้ มากกว่านั้นโดยการนำกฎหมายฉบับนี้มาขู่หรือดำเนินการกับเจ้าหนี้ในบางกรณีที่เจ้าหนี้อาจไม่ได้กระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นธรรม

  สวัสดีชาว Smart SME และท่านผู้อ่านทุกๆท่านครับ ตอนนี้คงไม่พูดเรื่องนี้คงไม่ได้ คือเรื่อง “การทวงถามหนี้” ที่ต่อไปนี้ไม่ใช่อยากจะพูดอะไร อยากจะส่งอะไร อยากจะคุยกับใคร อยากจะคุยเมื่อไรกับลูกหนี้ก็ทำได้ เนื่องจากปัจจุบันมีกฎหมายที่คุ้มครองลูกหนี้เพื่อให้เจ้าหนี้ทวงถามหนี้ตามกฎหมายและเป็นธรรม กล่าวคือ พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558  เรื่องการเป็นหนี้เป็นสินนั้นต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่มีอยู่ในสังคมตลอดเวลาไม่ว่ามูลหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืม จากภาระจากค่าใช้จ่ายต่างๆ และจากการพนัน หนี้ที่เกิดขึ้นนั้นมีทั้งที่เกิดจากหนี้ในระบบและนอกระบบ การมีภาระหนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ศักยภาพการชำระหนี้ก็เป็นอีกเรื่องนึงที่มีความสำคัญ เนื่องจากเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระเจ้าหนี้ก็มีสิทธิในการทวงถามหนี้นั้น หากแต่การทวงถามหนี้ของเจ้าหนี้แต่ละคนมีความแตกต่างกัน บ้างก็ข่มขู่ รุนแรง หยาบคาย ประจานลูกหนี้จนทำให้เกิดความอับอาย ฉบับนี้ผมขอนำเสนอกฎหมายเกี่ยวกับการทางถามหนี้ตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

            ที่ผ่านมามีเจ้าหนี้บางประเภทที่มีการทวงถามหนี้กับลูกหนี้ แบบละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของลูกหนี้ โดยใช้วิธีการถ้อยคำที่เป็นการอย่างรุนแรง การคุกคาม โดยการขู่เข็ญ การใช้กำลังประทุษร้าย หรือการทำให้เสียชื่อเสียง รวมถึงการให้ข้อมูลเท็จและการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งการทวงถามหนี้ในรูปแบบลักษณะนี้ก่อนมีกฎหมายถือว่าเป็นการทวงถามหนี้ “ที่ไม่เป็นธรรม” อาทิการขู่ว่าจะทำร้ายร่างกาย การส่งเอกสารไปที่ทำงานของลูกหนี้ การนำข้อมูลไปบอกเพื่อน นายจ้าง ญาติของลูกหนี้ เป็นต้น สิ่งต่างเหล่านั้นจึงทำให้เกิดการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ออกมา ดังนั้นรูปแบบและวิธีการการทวงถามหนี้จึงเป็นสาระสำคัญที่เจ้าหนี้จำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้ เพื่อการทวงถามหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ที่สำคัญกฎหมายฉบับนี้มีทั้งโทษทางแพ่งและอาญา

           หลักเกณฑ์ขั้นตอนและรูปแบบในหลักที่สำคัญที่มีลักษณะต้องห้ามในการทวงถามหนี้และโทษทางอาญาตามกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ดังต่อไปนี้

1. ผู้ทวงถามหนี้ เจ้าหนี้ทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ภายใต้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558

2. การประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ จะต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจการทวงถามหนี้ บัญญัติไว้ในมาตรา 5  และสำนักงานทนายความหรือทนายความให้คณะกรมการสภาทนายความทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนตามมาตรา 6 ภายใต้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558

3. วันเวลาในการติดต่อ ให้ติดต่อได้ตั้งแต่ 8.00 นาฬิกา ถึงเวลา 20.00 นาฬิกา และในวันหยุดราชการ เวลา 8.00 นาฬิกา ถึงเวลา 20.00 นาฬิกา ตามมาตรา 9 พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

4. แสดงหลักฐานการรับมอบอำนาจ ในกรณีที่ผู้ทวงถามหนี้ต้องแสดงหลักฐานการรับมอบอำนาจให้รับชำระหนี้จากเจ้าหนี้โดยต้องระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ และเมื่อลูกหนี้ได้ชำระหนี้แก่ผู้ทวงถามหนี้แล้ว ให้ผู้ทวงถามหนี้ออกหลักฐานการชำระหนี้แก่ลูกหนี้ ตามมาตรา 9 พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

5. สถานที่ติดต่อ ในกรณีที่โดยทางไปรษณีย์ ให้ติดต่อตามสถานที่ที่ลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวไม่ได้แจ้งไว้ล่วงหน้าหรือสถานที่ที่ได้แจ้งไว้ให้ติดต่อตามภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำงานของลูกหนี้ ตามมาตรา 9 พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

6. ลักษณะที่ต้องห้ามทวงถามหนี้ดังนี้ การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น มีโทษหนักตามาตรา 41 ซึ่งมีโทษทางอาญา ต้องระวางโทษต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี

หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือการใช้ภาษาที่เป็นการดูหมิ่น การเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่น ห้ามจัดส่งเอกสารที่แสดงออกถึงการทวงถามหนี้อย่างชัดเจนรวมถึงการใช้ข้อความ เครื่องหมาย เว้นแต่กรณีการบอกกล่าวบังคับจำนองด้วยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ ตามมาตรา 11 พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558  ซึ่งการฝ่าฝืนมาตรา 11 (2) (3) (4) หรือ (5) มีโทษทางอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามาตรา 39

7. ห้ามผู้ทวงถามหนี้ติดต่อกับบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้ เว้นแต่ในกรณีที่บุคคลอื่นนั้นเป็นสามี ภริยา บุพการีหรือผู้สืบสันดานของลูกหนี้ และบุคคลอื่นดังกล่าวได้สอบถามผู้ทวงถามหนี้ถึงสาเหตุของการติดต่อให้ผู้ทวงถามหนี้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ได้เท่าที่จำเป็นและตามความเหมาะสม มาตรา 8 พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

8. การทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จ ห้ามเจ้าหนี้แสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่า เป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ มีโทษหนักตามาตรา 41 ซึ่งมีโทษทางอาญา ต้องระวางโทษต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือแม้แต่การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้เป็นการกระทำโดยทนายความ หรือการแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน หรือดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิต หรือรับจ้างบริษัทข้อมูลเครดิต มาตรา 12 พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558  ซึ่งการฝ่าฝืนมาตรา 12 (2) (3) หรือ (4) มีโทษทางอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามาตรา 40

9. ลักษณะที่ไม่เป็นธรรม การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ เกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการกำหนด การเสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ มาตรา 13 พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558  ซึ่งการฝ่าฝืนมาตรา 13 (2) มีโทษทางอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามาตรา 39

          จากกฎหมายการทวงถามหนี้ มีรายละเอียดของขั้นตอนการทวงถามหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นธรรมพอสมควรและอนาคตคงมีประกาศเพิ่มเติมอีก สิ่งหนึ่งที่ผมเป็นห่วงคือการปรับใช้กฎหมายฉบับนี้ไปในทางลบ โดยเฉพาะลูกหนี้ที่ฉวยโอกาสหลีกเลี่ยงการชำระหนี้จากเจ้าหนี้ มากกว่านั้นโดยการนำกฎหมายฉบับนี้มาขู่หรือดำเนินการกับเจ้าหนี้ในบางกรณีที่เจ้าหนี้อาจไม่ได้กระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นธรรม การเปิดช่องให้มีโทษความผิดทางแพ่งและทางอาญาภายใต้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 มากขนาดนี้ อาจเป็นการสร้างภาระให้แก่เจ้าหนี้มากเกินไป จนอาจทำให้เกิดปัญหาสังคมที่มากขึ้น สุดท้ายนี้ได้แต่หวังให้เจ้าหนี้เคราพกฎหมายไม่ใช้ความรุนแรง เสียดสี หรือการไม่เป็นธรรมกับลูกหนี้ และลูกหนี้ก็ไม่นำหลักกฎหมายนี้มาย้อนศรข่มขู่เจ้าหนี้เสียเองเพื่อประโยชน์ในทางมิชอบ

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ