ฉบับนี้ขอหยุดเรื่องงบการเงินและภาษีเงินได้ไว้ชั่วคราว เนื่องจากขณะนี้มีกฎหมายสองฉบับได้ประกาศใช้แล้ว ได้แก่พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ,ศ.2558 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ.2558 เกี่ยวกับการให้ทรัพย์สิน ทั้งสองฉบับได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558 มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ดังนั้นจะขอสรุปสาระสำคัญที่ควรรู้ดังนี้
พรบ. การรับมรดกจะใช้เก็บภาษีจากผู้ที่ได้รับมรดก ที่มีจำนวนเงินที่ได้รับเกินกว่า 100 ล้านบาทขึ้นไป นั่นคือถ้าได้รับมรดกต่ำกว่าหนึ่งร้อยล้านบาทก็ไม่มีภาระภาษีแต่อย่างใด สำหรับอัตราภาษีที่ใช้คือร้อยละ 10 ของจำนวนเงินมรดกส่วนที่เกินหนึ่งร้อยล้านบาท แต่ถ้าผู้รับมรดกเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดาน อัตราจะลดลงเป็นร้อยละ 5
พรบ.การรับมรดกนี้ไม่ใช้บังคับกรณีเจ้ามรดกตายก่อนกฎหมายบังคับใช้และไม่ใช้กับมรดกที่คู่สมรสของเจ้าของมรดกได้รับจากเจ้าของมรดก รวมถึงกรณีเจ้ามรดกแสดงเจตนาว่าให้ใช้มรดกเพื่อการกุศลสาธารณะซึ่งจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด สำหรับบุคคลที่ได้รับมรดกและเข้าข่ายต้องเสียภาษีจากการรับมรดกได้แก่ คนที่มีสัญชาติไทย คนต่างด้าวที่อยู่ในไทย และคนที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่ได้รับมรดกเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย และรวมไปถึงนิติบุคคลที่จดทะเบียนในไทยหรือมีสัญชาติไทย การนับจำนวนเงินที่ได้รับให้นับจากการรับมรดกหลายๆรายรวมกัน ไม่ว่าจะรับครั้งเดียว หรือหลายครั้ง ถ้าได้รับมรดกมาจากเจ้ามรดกแต่ละรายรวมกันเกินหนึ่งร้อยล้านบาท โดยผู้ที่ได้รับมรดกต้องยื่นแบบชำระภาษี (ตามแบบที่อธิบดีกำหนด) ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับมรดก
ทรัพย์สินมรดกที่ต้องเสียภาษี ฐานภาษี สรุปได้ดังนี้
ทรัพย์สินที่เป็นมรดกที่ต้องเสียภาษี | การวัดมูลค่าทรัพย์สิน |
1 อสังหาริมทรัพย์ | ให้ถือเอาราคาประเมินทุนทรัพย์ที่กรมที่ดินใช้จดทะเบียน หักด้วยภาระรอนสิทธิ และให้เสียภาษีจากทรัพย์สินทั้งที่อยู่ในประเทศและนอกประเทศไทย |
2 หลักทรัพย์ตามกฎหมายตลาดหลักทรัพย์ | ให้ถือเอาราคาของหลักทรัพย์ในเวลาสิ้นสุดเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ได้รับมรดก และให้เสียภาษีจากทรัพย์สินทั้งที่อยู่ในประเทศและนอกประเทศไทย |
3 เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันที่เจ้ามรดกมีสิทธิถอนคืนหรือเรียกร้องจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้ | ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง และให้เสียภาษีจากทรัพย์สินเฉพาะที่อยู่ในประเทศไทย |
4 ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน | ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง |
5 ทรัพย์สินทางการเงินที่จะกำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา | |
ทรัพย์สินใดให้เป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทยให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง |
ส่วน พรบ. การให้ทรัพย์สิน สรุปได้ดังนี้
1 ยกเว้นเงินได้ที่ได้รับจากการรับมรดก
2 เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้กับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมบุตรบุญธรรม ยกเว้นให้เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกินยี่สิบล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น ส่วนเกินต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5
3 เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะ หรือให้โดยเสน่หา ที่ได้รับจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส ยกเว้นให้เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกินยี่สิบล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น ส่วนเกินต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5
4 เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ที่ได้รับจากบุคคลที่ไม่ใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส ยกเว้นให้เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกินสิบล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น ส่วนเกินต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5
5 เงินได้ที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หาที่ผู้ให้แสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้เพือ่ประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยกฎกระทรวง
ผู้มีเงินได้สามารถเลือกเสียภาษีร้อยละ 5 โดยสิ้นปีไม่ต้องนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อย่างอื่นก็ได้ สำหรับเนื้อหาพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับนั้นสามารถหาอ่านได้ในเว็บไซต์กรมสรรพากร ที่ www.rd.go.th ในหัวข้อกฎหมายออกใหม่