กิจการ SME และเรื่องของบัญชีกับภาษี ตอน กิจการ SME กับการเสียภาษีเงินได้ประจำปี : พรรณี วรวุฒิจงสถิต

พรรณี วรวุฒิจงสถิต

เดือนนี้เป็นเดือนสุดท้ายที่ผู้ประกอบการ SME ต้องปิดบัญชีเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปี สำหรับกิจการที่เป็นบุคคลธรรมดาก็ต้องไปยื่นแบบ ภงด 90 ภายในเดือนมีนาคม ส่วนผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลก็ต้องไปยื่นแบบ ภงด 50 ภายในเดือนพฤษภาคม

เดือนนี้เป็นเดือนสุดท้ายที่ผู้ประกอบการ SME  ต้องปิดบัญชีเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปี    สำหรับกิจการที่เป็นบุคคลธรรมดาก็ต้องไปยื่นแบบ ภงด 90 ภายในเดือนมีนาคม  ส่วนผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลก็ต้องไปยื่นแบบ ภงด 50 ภายในเดือนพฤษภาคม  ในที่นี้หมายถึงถ้าปิดรอบบัญชีสิ้นสุดเดือนธันวาคม  เพราะกฎภาษีให้นิติบุคคลยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ภายใน 150 วันนับแต่วันปิดรอบบัญชี  แต่ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการมักปิดรอบบัญชีตามปีปฏิทินนั่นคือสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี

ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กิจการต้องรู้ว่ารายได้ที่ได้รับเป็นรายได้ประเภทใด  เพราะการหักค่าใช้จ่ายของเงินได้แต่ละประเภทกฎหมายจะมีบอกไว้ว่าหักได้เท่าไหร่ หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วก็สามารถหักลดหย่อนส่วนตัวได้อีก  หักแล้วเป็นเงินได้สุทธิเท่าใดก็ให้คำนวณไปตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  ในการคำนวณยอดเงินภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา ต้องมีการคำนวณเปรียบเทียบกับการใช้เงินได้ทั้งหมดไม่รวมเงินเดือนหากเกิน 60,000 บาท  คูณกับ 0.5%  หากคูณออกมาแล้วยอดไม่ถึงห้าพันบาท ก็ให้เสียภาษีไปตามวิธีแรกที่คิดได้  แต่หากคูณออกมาแล้วเกินห้าพันบาท แม้วิธีแรกจะไม่มีภาษีต้องเสีย ก็ต้องจ่ายขึ้นต่ำด้วยยอดที่คุณนี้  เรื่องแบบนี้นักบัญชีช่วยท่านคิดได้ หรือหากท่านคิดเองได้ก็จะได้เข้าใจว่าทำไมนะคิดแล้วไม่มีภาษี ยังต้องจ่ายอีก  เงินได้บุคคลธรรมดาเขาคิดตามปีปฏิทิน  และคิดจากเงินสดที่ได้รับ หากยังไม่ได้รับเงินก็ยังไม่ต้องเสียภาษี

รายได้บุคคลธรรมดามี 8 ประเภท

ประเภทที่  1  เงินเดือน ค่าจ้างที่เป็นลูกจ้างในกิจการ  ประเภทนี้ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้  40% ไม่เกิน 60,000 บาท

ประเภทที่  2  ค่ารับทำงานให้ หรือค่าแรงที่เราไปรับงาน  ค่านายหน้า เบี้ยประชุม เป็นต้น  ประเภทนี้ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้  40% ไม่เกิน 60,000 บาท

ประเภทที่ 3  ค่าลิขสิทธิ์ สิทธิต่าง ๆ  กู๊ดวิล     ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากฎหมายยอมให้หักค่า ใช้จ่ายได้เฉพาะเงินได้ที่เป็นค่าแห่งลิขสิทธิ์ โดยให้หักเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 ของค่าแห่งลิขสิทธิ์แต่ไม่เกิน 60,000 บาท สำหรับ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้ที่มีลักษณะเป็นเงินรายปีอันได้มาจาก พินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล ไม่ยอมให้หักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

ประเภทที่  4 เงินปันผล ดอกเบี้ย   กฎหมายไม่ยอมให้หักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

ประเภทที่  5 รายได้ค่าเช่า                   กฎหมายให้หักค่าใช้จ่ายได้ ดังนี้ คือ

การให้เช่าทรัพย์สิน ผู้มีเงินได้มีสิทธิเลือกหักค่าใช้จ่ายวิธีใดวิธีหนึ่งดังนี้

ก. หักตามความจำเป็นและสมควร   ซึ่งกรณีนี้ต้องมีเอกสารหลักฐานค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์ภาษี  หรือ

 ข. หักเป็นการเหมาในอัตราที่กำหนด
กรณี ผู้ให้เช่าทรัพย์สิน เรียกเก็บเงินกินเปล่า เงินแป๊ะเจี๊ยะ เงินค่าปลูกสร้าง หรือเงินค่าซ่อมแซม อีกส่วนหนึ่งนอกเหนือจากค่าเช่า หรือได้รับประโยชน์อื่น เช่น ได้กรรมสิทธิ์ในอาคารหรือโรงเรือนที่ผู้เช่าทำการก่อสร้างลงบนที่ดินของผู้ ให้เช่าแล้วยกให้ เงินหรือกรรมสิทธิ์ในอาคารหรือโรงเรือนเป็นเงินได้พึงประเมินเนื่องจากการ ให้เช่าทรัพย์สินของผู้ให้เช่า

สำหรับอัตราหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมามีดังนี้

•   บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือแพ   เจ้าของเป็นผู้ให้เช่า ให้หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 30   ยกเว้นในกรณีให้เช่าช่วงให้หักค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าเช่าที่เสียให้แก่ผู้ให้ เช่าเดิม หรือผู้ให้ เช่าช่วง แล้วแต่กรณี

•  ที่ดินที่ใช้ในการเกษตรกรรม   เจ้าของเป็นผู้ให้เช่า ให้หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 20 ในกรณีให้เช่าช่วงให้หักค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าเช่าที่เสียให้แก่ผู้ให้เช่าเดิม หรือผู้ให้เช่าช่วงแล้วแต่กรณี

•  ที่ดินที่มิได้ใช้ในการเกษตรกรรม   เจ้าของเป็นผู้ให้เช่าหักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 15 ในกรณีให้เช่าช่วงให้หักค่าใช้จ่ายได้เฉพาะค่าเช่าที่เสียให้ แก่ผู้ให้เช่าเดิม หรือผู้ให้เช่าช่วงแล้วแต่กรณี

•  ยานพาหนะ   เจ้าของเป็นผู้ให้เช่าให้หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 30 ในกรณี ให้เช่าช่วงให้หักค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าเช่าที่เสียให้แก่ผู้ให้เช่าเดิม หรือผู้ให้เช่าช่วงแล้วแต่กรณี

•  ทรัพย์สินอย่างอื่น   เจ้าของเป็นผู้ให้เช่าให้หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 10 ในกรณีให้เช่าช่วงให้หักค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าเช่าที่เสียให้แก่ผู้ให้เช่าเดิม หรือผู้ให้เช่าช่วงแล้วแต่กรณี

ในประเภทที่ 5 นี้ยังมีค่าผิดสัญญาเช่าซื้อหรือสัญญาเงินผ่อน ซึ่งกฎหมายให้หักค่าใช้จ่ายเป็นเป็นการเหมาได้ร้อยละ 20

ประเภทที่  6  วิชาชีพอิสระได้แก่วิชาชีพบัญชี ทนายความ แพทย์ วิศวกร สถาปัตย์  กฎหมายยอมให้เลือกหัก ค่าใช้จ่ายวิธีใดวิธีหนึ่งดังนี้

—- ให้หักตามความจำเป็นและสมควรหรือ
—- ให้หักเป็นการเหมาดังต่อไปนี้

1) เงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ การประกอบโรคศิลป ให้หักค่าใช้จ่ายร้อยละ 60

2) เงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระนอกจาก 1) หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 30

ประเภทที่ 7  กิจการรับเหมาก่อสร้างที่ต้องรวมทั้งค่าแรงและค่าวัสดุ  กฎหมายยอมให้หักค่า ใช้จ่ายวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้

– หักตามความจำเป็นและสมควร หรือ
– หักเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 70

ประเภทที่ 8  คือรายได้อื่น ๆ นอกจากประเภท 1-7  ประเภทนี้ให้หักค่าใช้จ่ายตามจริงเท่านั้นเว้นแต่เป็นรายได้ที่อนุญาติให้หักเหมาได้ซึ่งกฎหมายเขียนไว้ในพระราชกฤษฎีการฉบับที่ 11 หากไม่อนุญาตให้หักเหมาต้องหักตามจริง  การหักตามจริงคือต้องมีเอกสารหลักฐานที่เป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์สรรพากรนั่นเอง

หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วก็สามารถหักลดหย่อนส่วนตัวได้อีกซึ่งประเภทค่าลดหย่อนเหล่านี้คิดว่าท่านคงทราบกันอยู่แล้วเมื่อหักหมดแล้วจะได้เงินได้สุทธิที่นำไปคำนวณตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

สำหรับกิจการที่เป็นนิติบุคคล ไม่ว่าจะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด ในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องเสียจากกำไรสุทธิทางภาษี   โดยกำไรสุทธิทางภาษีได้มาจากรายได้ทางภาษีหักค่าใช้จ่ายทางภาษี และกรณีนิติบุคคลเสียภาษีตามเกณฑ์สิทธิ หมายความว่าไม่ได้ดูการรับเงิน หากเงินได้ ค่าใช้จ่ายเกิดในงวดนี้แล้วท่านต้องตั้งค้างรับค้างจ่าย ในกรณีนิติบุคคลนี้ท่านต้องนำส่งงบแสดงฐานะการเงินและงบกำไรขาดทุนพร้อมกับแบบ ภงด 50 ด้วย  ในแบบภงด 50 ท่านต้องปรับปรุงกำไรทางบัญชีให้เป็นกำไรทางภาษี ตรงนี้เองที่ถ้าท่านไม่เข้าใจปรับปรุงไม่ถูกต้อง เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจพบก็สามารถประเมินภาษีจากท่านได้  หมายความว่ากฎเกณฑ์ทางบัญชีกับภาษีบางครั้งต่างกัน บัญชีอาจไม่เป็นรายได้ แต่ภาษีบอกใช่  หรือค่าใช้จ่ายบัญชีก็ลงได้หมด แต่ภาษีอาจบอกว่าเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้ามไม่ให้นำมาหักกำไรภาษี  เป็นต้น  เมื่อได้ปรับปรุงกำไรบัญชีให้เป็นกำไรภาษีแล้ว  ก็ให้นำกำไรสุทธิทางภาษีนั้นไปคำนวณกับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

ปัจจุบันอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล มีสองแบบ หากท่านเป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาทและรายได้จากการขายสินค้าและบริการต่อปีไม่เกิน 30 ล้านบาท อัตราภาษีจะเป็นดังนี้

กำไรสุทธิทางภาษี  300,000  บาทแรกได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้

ส่วนที่เกิน    300,000  บาทแต่ไม่เกิน 3,000,000  บาทเสียในอัตราร้อยละ 15

ส่วนที่เกิน    3,000,000  บาทเสียในอัตราร้อยละ 20  ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป

สำหรับบริษัททั่วไปที่ไม่เข้าเงื่อนไขข้างต้น เสียภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 20

ก็หวังว่าท่านผู้ประกอบการ SME ทั้งหลายพอจะมีความรู้เบี้องต้นเกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้ไม่ว่าท่านจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล  สำหรับนิติบุคคลหากท่านมีระบบบัญชีที่ดี  มีเอกสารหลักฐานถูกต้อง ครบถ้วน ท่านก็ไม่ต้องกลัวว่า  จะโดนประเมินภาษีอีกต่อไป  เพียงแต่ขอให้ท่านให้เวลาทำความเข้าใจหลักเกณฑ์บัญชีกับภาษีให้เข้าใจ เพื่อเวลาที่ไปทำการค้า ทำรายการขาย จ่ายค่าใช้จ่าย อย่างน้อยก็รู้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง   ส่วนรายละเอียด แน่นอนว่า ท่านคงต้องจ้างนักบัญชีมาช่วยทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปีใหม่นี้ก็หวังว่าทุกท่านจะประสบความสำเร็จ ร่ำรวยรุ่งเรือง สมปรารถนา และอย่าลืมว่าการเสียภาษีเป็นการช่วยชาติอย่างหนึ่งที่เราทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ค่ะ

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ