ช่วงนี้กิจการ SME คงได้ยินข่าวคราวที่รัฐบาลมีกิจกรรมส่งเสริมกิจการ SME มากมายหลายเรื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่ภาครัฐรณรงค์คือขอให้กิจการ SME ทำบัญชีชุดเดียว และให้เข้าระบบให้ถูกต้อง ได้มีการพยายามจะจัดหาโปรแกรมการทำบัญชีแบบง่าย ๆ ไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งทางผู้ประกอบการก็ต้องคอยติดตามข่าวคราวอย่างใกล้ชิด เพื่อสิทธิประโยชน์ของตนเอง
ในความจริงแล้วแม้รัฐบาลไม่ได้ออกมาขอร้องให้ทุกคนทำบัญชีชุดเดียว ตัวผู้ประกอบการเองควรที่จะต้องทำบัญชีชุดเดียวอยู่แล้ว ในยุคปัจจุบันการทำบัญชีหลายชุดล้าสมัยไปแล้ว เลิกความคิดที่จะทำบัญชีสำหรับส่งภาษี ทำบัญชีเพื่อให้ธนาคารปล่อยเงินกู้ ทำบัญชีเพื่อเจ้าของดูกันเอง เพราะสิ่งเหล่านี้แทนที่จะเป็นประโยชน์ กลับเป็นโทษมหันต์ ปัจจุบันระบบการจัดเก็บภาษีก้าวหน้าขึ้นมากมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ดังนั้นการหลบหนีภาษีจึงทำได้ยากขึ้น และหากตรวจพบก็จะมีบทลงโทษร้ายแรงด้วย ด้านธนาคารเองก็เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และเขาก็ต้องการบัญชีชุดเดียวที่ถูกต้อง เป็นจริง การที่ธนาคารรู้ว่ามีการทำบัญชีหลายชุด ความน่าเชื่อถือหรือเครดิตของผู้ประกอบการก็ลดน้อยถอยลงแล้ว เขาจะรู้ได้อย่างไร ว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง และจะมีความสามารถคืนเงินกู้เขาได้หรือไม่ ส่วนในระหว่างหุ้นส่วนกันเอง ลึก ๆ แล้วฝ่ายที่ไม่ได้จัดการ ก็อาจจะมีความสงสัยในใจว่า บัญชีที่ทำมาให้ดูจะเชื่อได้แค่ไหน ฝ่ายจัดการงุบงิบปิดบังอะไรหรือไม่ นานๆ เข้าก็ละสมความสงสัย จนกลายเป็นความไม่ไว้วางใจกัน และแตกคอกันในที่สุด ดังนั้นจะเห็นว่าการมีบัญชีหลาย ๆ ชุดก่อให้เกิดปัญหามากกว่าจะเป็นเรื่องดี
การทำบัญชีชุดเดียว ทำบัญชีทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมายบัญชี จะทำให้กิจการมีงบการเงินที่เป็นที่น่าเชื่อถือกับทุกคนที่ใช้งบการเงินของกิจการ ขอสินเชื่อก็ง่ายขึ้น สามารถรู้ต้นทุนของตัวเองได้ ทำให้แข่งขันได้ ก็จะได้กำไรตามต้องการ มีกำไรก็ต้องเสียภาษี ถ้าคิดว่าการเสียภาษีเป็นหน้าที่ของพลเมืองดี ภาษีคือสิ่งที่จะนำไปพัฒนาประเทศชาติ สุดท้ายความเจริญก็คืนกลับมาสู่ชุมชน ถ้ามองมุมบวกเช่นนี้ ประเทศเราจะไม่มีปัญหาเหมือนเช่นทุกวันนี้ ที่ยังมีผู้ประกอบการอยู่นอกระบบการจัดเก็บภาษีอีกมาก หรือแม้อยู่ในระบบก็ยังหลบภาษีกันอยู่
วันนี้การทำบัญชีของกิจการ SME ต้องทำตามมาตรฐานที่เรียกว่า “มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ” (Non-Publicly Accountable Entities-NPAEs) บางครั้งเราเรียกมาตรฐานบัญชีชุดนี้ว่า มาตรฐานบัญชีชุดเล็ก มาตรฐานฉบับนี้จัดทำโดยสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่เขียนขึ้นโดยอิงหลักการมาตรฐานการบัญชีทั่วไปซึ่งก็จะเป็นหลักการเดียวกับบัญชีชุดใหญ่ เพียงแต่การจัดทำมีกระบวนการที่ง่ายกว่า ไม่ยุ่งยากซับซ้อนเท่า เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อม อย่างไรก็ดีตามที่ได้เคยแจ้งให้ทราบแล้วว่าในปี 2560 จะมีการยกเลิกมาตรฐานบัญชี NPAEs ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เปลี่ยนเป็นใช้มาตรฐานบัญชี SME แทน ซึ่งมาตรฐานบัญชีใหม่นี้ได้จัดทำจากการแปลมาจากมาตรฐานการบัญชีสากลที่เรียกว่า IFRS for SMEs ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการบัญชีสำหรับ SME บ้านเราให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และเตรียมความพร้อมเมื่อก้าวเข้าสู่ AEC เพราะสมาชิก AEC ส่วนใหญ่ใช้ IFRS for SMEs กันเกือบหมดแล้ว
กิจการ SME ในบ้านเราส่วนใหญ่จะจ้างสำนักงานทำบัญชีเป็นผู้ทำบัญชีและจัดทำงบการเงิน เนื่องจากจะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการจ้างพนักงานบัญชีประจำ โดยผู้ประกอบการไม่ได้สนใจในเรื่องของบัญชีหรืองบการเงินแต่อย่างใด คิดแต่เพียงว่าจะต้องการเสียภาษีเท่าไหร่ ก็ให้จัดทำบัญชีตามนั้น ผู้ประกอบการต้องเข้าใจว่า การทำบัญชีคือการจดบันทึกหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ กิจกรรมในทางธุรกิจทุกเรื่องจะต้องถูกนำมาบันทึกตามระบบบัญชี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการซื้อ การขาย การเก็บสินค้า การรับเงิน จ่ายเงินต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่ต้องนำมาจัดประเภทเพื่อการลงบัญชีให้ถูกต้องโดยต้องมีเอกสารประกอบการลงรายการ ดังนั้นการจ้างสำนักงานบัญชีที่ไม่ได้อยู่ประจำกับกิจการ ก็อาจเป็นไปได้ว่าการบันทึกรายการอาจไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน ผิดประเภท เอกสารหลักฐานไม่มี หรือมีไม่ครบ ต่อให้เป็นสำนักงานบัญชีที่มีคุณภาพ หากระบบการจัดการภายในกิจการไม่ได้มีการจัดระเบียบ มีระบบเป็นเรื่องเป็นราว ก็อาจผิดพลาดได้เช่นกัน การปล่อยให้บัญชีเป็นเช่นนี้จะก่อให้เกิดปัญหากับกิจการในเวลาข้างหน้า หากสารวัตรบัญชีตรวจพบว่าทำบัญชีไม่ถูกต้องตามกฎหมายบัญชี ผู้ประกอบการก็จะมีโทษได้ โทษมีทั้งปรับ หรือ จำคุก ก็แล้วแต่ความผิดที่มี และยังมีความผิดเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีและงบการเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ในเรื่องเกี่ยวกับการจัดการห้างหุ้นส่วนและบริษัท
นอกจากนี้การมีบัญชีไม่ถูกต้อง ยังส่งผลให้ผู้อ่านงบการเงิน เมื่อนำไปวิเคราะห์แล้ว ขาดความเชื่อถือ โดยเฉพาะสถาบันการเงิน การที่จะปล่อยสินเชื่อให้ได้ ก็ต้องมีงบการเงินที่น่าเชื่อถือได้ มีระบบบัญชีที่ดีทำให้เขาเชื่อถือว่าเมื่อปล่อยกู้แล้วสามารถจ่ายดอกเบี้ยและคืนเงินต้นให้เขาได้ ในการเสียภาษีเงินได้กับสรรพากร หากงบการเงินน่าเชื่อถือ ระบบบัญชีดี มีระบบการควบคุมภายใน มีเอกสารหลักฐานประกอบการลงบัญชีครบถ้วน เหล่านี้ส่งผลให้เกิดความน่าเชื่อถือที่จะทำให้เขาไม่มาขุดคุ้ย ตรวจสอบแบบเอาเป็นเอาตายเว้นแต่มีสิ่งผิดปกติ จะเห็นได้ว่าการทำบัญชีให้ดี มีประโยชน์มหาศาล ประกอบกับควรให้มีนักบัญชีเป็นพนักงานประจำ เพื่อคอยติดตามเอกสารหลักฐาน จัดแยกประเภทรายการตามกิจกรรมที่ทำ ย่อมมีคุณมากกว่าโทษ แม้ท่านจ้างสำนักงาน ภายในกิจการเองก็ต้องมีนักบัญชีคอยประสาน ท่านผู้ประกอบการอย่าได้เสียน้อย เสียยาก เสียมาก เสียง่ายอีกต่อไปเลย
ที่กล่าวมาแล้วเป็นประโยชน์ของงบการเงินที่จะช่วยให้คนภายนอกมองเห็นเรา ว่าตัวตนเราเป็นอย่างไร ฐานะการเงินแข็งแกร่งขนาดไหน ผลการดำเนินงานของเราแต่ละปีมีกำไรหรือขาดทุนเท่าไหร่ ภาพพจน์กิจการเราดีขนาดไหน เปิดเผย โปร่งใส น่าเชื่อถือเพียงใด ถ้าจะเทียบกับตัวตนเรา ก็เหมือนว่ามีโหงวเฮ้งดี มีการแต่งกายดี ก็ดูฟอร์มดีมีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว แต่ประโยชน์งบการเงินไม่ใช่แค่ทำให้ฟอร์มดีเท่านั้น ผู้ประกอบการสามารถใช้ข้อมูลทางบัญชี มาบริหารจัดการธุรกิจให้เกิดกำไรอย่างยั่งยืนได้อีกด้วย ถ้าเรามีระบบบัญชีดี ข้อมูลถูกต้อง ครบถ้วน จะทำให้เราสามารถวิเคราะห์หาจุดคุ้มทุน หากำไรที่ต้องการได้ สามารถสู้กับคู่แข่งได้ ทำให้รู้พฤติกรรมการขายหรือรายได้ต่อประเภทสินค้า ก็จะทำให้เราได้แนวทางในการจะบุกตลาด หรือจะถอย หรือหาอย่างอื่นทำแทน เราจะได้ข้อมูลที่เป็นจริงที่เราสามารถทำได้แล้ว ผ่านมาแล้ว เอาข้อมูลเหล่านี้มาพยากรณ์เหตุการณ์อนาคต ทำให้เราตั้งเป้าหมายได้ชัดเจน เดินสู่เป้าหมายได้อย่างรู้ตัวว่าจะได้เท่าไหร่เสียเท่าไหร่ มิใช่วางแผนกลยุทธ์ที่ไม่มีข้อมูลความจริงมาสนับสนุน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้หากมีระบบบัญชีที่ดี สามารถนำมาใช้ได้แน่นอน และก็แน่นอนว่าต้องเป็นบัญชีชุดเดียว หากมีหลายชุดข้อมูลไหนจริง ไหนไม่จริงยากที่จะเชื่อถือได้สนิทใจ อีกทั้งการมีบัญชีหลายชุดย่อมก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงอย่างไม่รู้ตัว เพราะระบบจะควบคุมไม่ได้ ทำให้เกิดการรั่วไหล เสียหาย มีโอกาสเกิดทุจริตอีกด้วย
ดังนั้นวันนี้ผู้ประกอบการ SME ทุกท่านต้องหันกลับมามองฝ่ายบัญชีในกิจการอย่างจริงจัง จากเดิมที่ท่านสนใจแต่ฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด ฝ่ายผลิต คิดแต่จะหาเงิน หากำไร คิดว่าต้นทุนที่ตนเองคิดโอเคแล้ว โดยลืมไปว่าต้นทุนที่แท้จริงยังมีอะไรอีกบ้าง แทนที่จะได้กำไร กลับขาดทุน หากท่านเข้าใจหลักการที่เขาใช้จัดทำงบการเงิน ท่านอ่านงบการเงินได้อย่างเข้าใจ สามารถวิเคราะห์แบบง่าย ๆ ได้ ท่านจะใช้ประโยชน์จากงบการเงินได้อย่างมากมาย
หากจะสรุปอย่างย่อ ๆ เกี่ยวกับหลักการของมาตรฐานการบัญชี เพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ ก็จะอธิบายได้ดังนี้
1 การรับรู้รายการ หรือการตัดรายการบัญชี ต้องทำเมื่อไหร่ กิจกรรมทางธุรกิจเกิดแล้ว ต้องลงบัญชีทันที หรือรอก่อนได้ หรือรายการอยู่ในบัญชีแล้วจะตัดออกไปอย่างไร เหล่านี้ล้วนมีกฎข้อบังคับทางบัญชีทั้งสิ้น ต้องรู้ว่ารายการเกิดแล้ว ยังไม่ได้เงิน หรือยังไม่จ่ายเงิน ก็ต้องรับรู้แล้ว ส่วนจะรับรู้เป็นประเภทไหนก็แล้วแต่ เพราะหลักบัญชียึดหลักเกณฑ์คงค้าง ไม่ใช่เกณฑ์เงินสด
2 ถ้าลงบัญชีจะลงเป็นรายการประเภทไหน รายได้ ค่าใช้จ่าย สินทรัพย์ หรือว่าหนี้สิน เพราะรายการรายได้ ค่าใช้จ่ายจะไปแสดงอยู่ในงบกำไรขาดทุน แต่รายการสินทรัพย์ หนี้สิน ส่วนทุน จะไปแสดงอยู่ในงบแสดงฐานะการเงิน
3 มูลค่าหรือจำนวนเงินที่จะบันทึกเป็นราคาอะไร ธรรมดาก็จะบันทึกตามราคาทุนที่จ่ายไปจริง หรือตามมูลค่าราคาที่ขายได้ แต่ก็มีหลักการว่าทุกครั้งที่มีการปิดบัญชี สินทรัพย์หนี้สินต้องมีการวัดมูลค่าใหม่ เพื่อให้ยอดเงินที่อยู่ในงบการเงินเป็นยอดเงินที่เป็นตามจริง เช่น หากมีลูกหนี้ที่คาดว่าจะเรียกเก็บไม่ได้ ก็ต้องมีการลดมูลค่าลง ที่เราเรียกกันว่า สำรองหนี้สงสัยจะสูญ หรือสินค้าคงเหลือที่จะแสดงในงบแสดงฐานะการเงิน ต้องตีราคาทุนหรือราคาที่จะขายได้แล้วแต่อะไรที่ต่ำกว่า หรือที่ท่านคงเคยได้ยินว่า ต้องพิจารณาสินทรัพย์ว่าเกิดการด้อยค่าหรือไม่ เป็นต้น ผลการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ที่มูลค่าหายไปจะกลายไปเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุน การเปลี่ยนแปลงการวัดมูลค่ารายการในงบการเงินนอกจากจะกระทบงบกำไรขาดทุนแล้ว ยังมีผลต่อการจ่ายเงินปันผล มีผลต่อมูลค่าของกิจการหรือราคาหุ้นของกิจการอีกด้วย
4 ในการนำเสนองบการเงิน ก็ต้องมีรูปแบบที่บังคับให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อดูเปรียบเทียบกันได้ เพื่อเข้าใจได้ว่า มีฐานะการเงินอย่างไร กำไรขาดทุนเท่าไหร่ คู่แข่งเป็นอย่างไรเราก็สามารถดูได้จากงบการเงินของเขาเช่นกันสามารถวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน วิเคราะห์เปรียบเทียบรายการต่าง ๆ วิเคราะห์สภาพคล่อง สัดส่วนหนี้สินต่อทุน รู้ความสามารถในการหากำไร และยังสามารถคาดเดาอนาคตได้อีกด้วย เนื่องจากในงบการเงิน จะมีหมายเหตุประกอบงบการเงินที่นอกจากจะเปิดเผยถึงรายละเอียดประกอบบัญชีแต่ละเรื่องแล้ว ยังมีการเปิดเผยรายการที่ไม่ได้บันทึกไว้ในงบการเงิน แต่เป็นสถานการณ์ที่ต้องเปิดเผยให้ผู้อ่านงบการเงินได้รับรู้ไว้ เช่น การมีคดีฟ้องร้อง เป็นต้น การมีหมายเหตุประกองงบการเงินก็ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เข้าใจได้ สามารถมีข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจได้
วันนี้ผู้อ่านบางท่านอาจเบื่อ เลิกอ่านไปแล้ว แต่ถ้าท่านได้อ่านตอนท้ายนี้ ขอให้ย้อนกลับไปอ่านในประเด็นต่างๆ ที่พูดถึงความสำคัญของการทำบัญชีที่ดี มีบัญชีชุดเดียว ซึ่งหากท่านเข้าใจ จะเป็นประโยชน์กับท่านมาก วันนี้ท่านจะต่อต้าน ทำแบบเดิม หรือไม่สนใจ คงทำไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะภาครัฐเดินเครื่องแล้ว ทางที่ดีควรเผชิญหน้ากับความจริง ทำความเข้าใจและทำให้ถูกต้องจะดีกว่า ผู้เขียนเองก็พยายามสรุปประเด็นสำคัญ ๆ เพื่อให้ท่านเข้าใจง่าย ๆ เนื่องจากหน้ากระดาษบังคับจึงไม่อาจอธิบายรายละเอียด หรือยกตัวอย่างมากกว่านี้ แต่ตอนต่อ ๆ ไป เราอาจหยิบยกแต่ละประเด็นมาเจาะลึกคุยกันก็ได้