สำรวจฐานะการเงินของกิจการ : พรรณี วรวุฒิจงสถิต

พรรณี วรวุฒิจงสถิต

หากหนี้สินรวมมีสัดส่วนมากกว่าส่วนของเจ้าของมากเกินไปจะทำให้กิจการมีภาระที่ไม่เป็นผลดีกับกิจการ สัดส่วนหนี้สินต่อส่วนของเจ้าของที่ดี ส่วนของหนี้สินต้องน้อยกว่าส่วนของเจ้าของ ซึ่งธนาคารจะดูสัดส่วนนี้ประกอบการพิจารณาให้เงินกู้ด้วยเช่นกัน

 ในงบแสดงฐานะการเงินด้านสินทรัพย์ จะประกอบไปด้วยสินทรัพย์หมุนเวียนและไม่หมุนเวียน  ส่วนที่หมุนเวียนได้แก่  เงินสด เงินฝากธนาคาร เงินลงทุนชั่วคราว ลูกหนี้ สินค้าคงเหลือ และอื่น ๆ  ส่วนที่ไม่หมุนเวียนได้แก่ ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ รวมถึงเงินลงทุนระยะยาว และอื่น ๆ ด้านหนี้สินและส่วนของเจ้าของ จะมีส่วนที่เป็นหนี้สินและส่วนของเจ้าของ    หนี้สินก็มีทั้งหนี้สินหมุนเวียนและไม่หมุนเวียน  หนี้สินหมุนเวียน ได้แก่  เงินเบิกเกินบัญชีจากธนาคารและเงินกู้ยืมระยะสั้นไม่เกินหนึ่งปี   เจ้าหนี้การค้า  ค่าใช้จ่ายค้างจ่ายและอื่นๆ หนี้สินไม่หมุนเวียน ได้แก่ หนี้สินหรือเงินกู้ระยะยาว  ส่วนของเจ้าของได้แก่ส่วนทุนที่จดทะเบียนและชำระแล้ว กับ กำไรหรือขาดทุนสะสม  สรุปได้ว่างบแสดงฐานะการเงินจะแสดงยอดฐานะการเงินสิ้นสุด ณ วันใดวันหนึ่ง เพื่อแสดงว่ากิจการมีสินทรัพย์รวมเท่าใด  เมื่อหักด้วยหนี้สินรวม จะได้ส่วนที่เป็นกองทุนของกิจการ  แน่นอนว่าการมีหนี้สินน้อยหรืออยู่ในอัตราที่เหมาะสมย่อมแสดงถึงฐานะการเงินที่ดีของกิจการ

           งบกำไรขาดทุน จะแสดงส่วนของรายได้จากการขาย หรือ บริการ หรือรายได้อื่นๆ รวมกันเป็นรายได้ทั้งหมด แล้วหักด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วย ต้นทุนสินค้าที่ขายหรือบริการ ค่าใช้จ่ายในการขาย ค่าใช้จ่ายในการบริหาร ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ  ต้นทุนทางการเงิน และค่าภาษีเงินได้  ก็จะได้กำไรสุทธิของกิจการ งบกำไรขาดทุนนี้สามารถแสดงได้อีกรูปแบบหนึ่ง คือ แสดงส่วนของกำไรขั้นต้นของการขายสินค้าหรือบริการ แล้วจึงบวกด้วยรายได้อื่น ๆ หักด้วยค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น งบกำไรขาดทุนจะแสดงการดำเนินงานเป็นงวด ๆ  เช่น งวดสามเดือน หกเดือน หรืองวดหนึ่งปี  เมื่อหมดรอบปีบัญชีก็จะนำกำไรหรือขาดทุนแต่ละงวดไปเก็บไว้ในกำไรหรือขารดทุนสะสม

          ตัวเลขแต่ละตัวในงบการเงิน หากเราเข้าใจความหมาย ก็จะทำให้เรารุ้ว่า ตัวเลขเหล่านั้นถูกต้องหรือไม่  ขอยกตัวอย่างรายการที่สำคัญๆ บางตัว  เช่น  เงินสดในมือหรือเงินฝากธนาคารที่เหลืออยู่พอเข้าใจได้ แต่ก็ยังต้องระวังในกรณีเป็นเงินฝากกระแสรายวัน จำนวนเงินคงเหลือในธนาคารกับบัญชีอาจจะไม่ตรงกันได้ เช่น มีเช็คที่จ่ายไปแล้วอาจยังไม่ไปขึ้นเงิน  เงินในธนาคารก็ดูเหมือนว่ายังมีเหลืออยู่ เป็นต้น  จึงต้องมีการกระทบยอดเงินฝากธนาคารกับบัญชีอย่างสม่ำเสมอ

           ลูกหนี้การค้าที่อยุ่ในงบหมายถึงลูกหนี้ที่ค้างอยู่ ณ วันปิดบัญชี  คงต้องให้ฝ่ายบัญชีแสดงรายละเอียดประกอบของรายชื่อลูกหนี้และยอดคงเหลือแต่ละราย รวมถึงกำหนดเวลาที่ค้างว่านานเพียงใด    ผู้ประกอบการซึ่งย่อมต้องรุ้จักลูกหนี้ดี  โดยเฉพาะที่เป็นรายใหญ่ ก็จะทราบได้คร่าว ๆ ว่าแต่ละรายเป็นหนี้อยู่เท่านั้นจริง   หากรายใดสงสัยว่าจะเรียกเก็บไม่ได้ก็ต้องมีการสำรองหนี้สงสัยจะสูญ   เพื่อให้ยอดคงเหลือของลูกหนี้ที่แสดงในงบการเงินเป็นยอดที่แท้จริงที่จะเรียกเก็บได้แน่นอน

           สินค้าคงเหลือก็เช่นกันต้องมีรายละเอียดประกอบเพื่อพิจารณา ว่าสินค้าชนิดใด ราคาต้นทุนเท่าใด  จำนวนหน่วยเท่าใด  มีสภาพดีหรือเสื่อมสภาพ เสียหาย ชำรุด  ต้องแยกการตีราคาให้ชัดเจน  การตีราคาสินค้าเมื่อสิ้นงวดบัญชีจำเป็นมาก เพราะทั้งมาตรฐานบัญชี และภาษีต่างก็มีกฎเกณฑ์ให้ต้องตีราคาเพื่อให้สินค้าที่เหลืออยู่แสดงในราคาทุนหรือราคาที่ควรจะได้รับแล้วแต่อะไรจะต่ำกว่า   ราคาที่ควรจะได้รับในแง่ของบัญชีคือมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ  หรือในแง่ภาษีคือราคาตลาดนั่นเอง  ดังนั้นหากมีสินค้าที่เสื่อมสภาพ ชำรุด เสียหาย ถ้าขายแล้วจะได้ราคาต่ำกว่าทุนต้องมีการปรับปรุงราคาทุนให้ถูกต้องด้วย

          บัญชีที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ จะแสดงถึงทรัพย์สินที่เราใช้ประกอบการ เป็นสำนักงาน หรือโรงงาน  แต่ถ้าเป็นทรัพย์สินที่เรามีไว้เพื่อให้เช่า  จะอยู่ในบัญชีชื่อว่า  อสังหาเพื่อการลงทุน สำหรับบัญชีอาคารและอุปกรณ์ต่าง ๆ  ก็ต้องมีการคิดค่าเสื่อมราคา  ซึ่งเป็นการปันส่วนต้นทุนทรัพย์สินให้ไปเป็นค่าใช้จ่าย

         ในส่วนของหนี้สินและส่วนของเจ้าของนั้น  หากหนี้สินรวมมีสัดส่วนมากกว่าส่วนของเจ้าของมากเกินไปจะทำให้กิจการมีภาระที่ไม่เป็นผลดีกับกิจการ  สัดส่วนหนี้สินต่อส่วนของเจ้าของที่ดี   ส่วนของหนี้สินต้องน้อยกว่าส่วนของเจ้าของ    ซึ่งธนาคารจะดูสัดส่วนนี้ประกอบการพิจารณาให้เงินกู้ด้วยเช่นกัน  กิจการจึงต้องให้ความสำคัญในประเด็นนี้ด้วย

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ