พร้อม หรือไม่? ประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) : เสน่ห์ ศรีสุวรรณ

อ.เสน่ห์ ศรีสุวรรณ

ประเทศไทย 3.0 เริ่มเมื่อคำขวัญประเทศไทยเพิ่มเติมเป็น “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในอ่าวมีก๊าซ” เมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้วที่ประเทศไทยเราขุดเจอก๊าซธรรมชาติปริมาณมากในอ่าวไทยพร้อมประกาศเข้าสู่ยุค “โชติช่วงชัชวาล”

เริ่มต้นปีระกา 2560 รัฐบาลประกาศเดินหน้ามุ่งส่งเสริมพัฒนาคนไทยยกระดับคนไทยที่ปัจจุบันส่วนใหญ่ยังเป็นคนไทย 1.0 และ 2.0 ได้แก่เกษตรกรรายย่อย ผู้ใช้แรงงานทักษะต่ำ กลุ่มผู้ผลิตสินค้า OTOP กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ SME ให้เป็นคนไทย 3.0 คือสามารถเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาตนเอง

แสวงหาความรู้ใหม่ๆและเปิดประตูกว้างในการติดต่อกับคนได้ทั่วโลก พร้อมก้าวเข้าสู่การเป็นคนไทย 4.0 คือคนไทยที่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าเปลี่ยนจากการทำการเกษตรแบบเดิมๆ ไปเป็น Smart Farmer เปลี่ยนจาก SME, OTOP ไปเป็น Smart Enterprise หรือ Startup เปลี่ยนจากภาคบริการทั่วไปเป็นการบริการมูลค่าสูง และเปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำเป็นแรงงานทักษะสูง เพื่อรองรับนโยบายประเทศไทย 4.0

เมื่อตอนที่รัฐบาลประกาศขับเคลื่อนนโยบาย ประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 รองรับโลกในศตวรรษที่ 21 ก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูง ผมเองไม่เข้าใจความหมายว่าประเทศไทย 4.0 คืออะไร เคยมีประเทศไทย 1.0, 2.0, 3.0 ด้วยหรือตอนไหน จนกระทั่งผมได้พบได้สัมภาษณ์ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ในรายการมันนี่ทอล์คจึงเข้าใจความหมายและรายละเอียดโมเดลประเทศไทย 4.0

ประเทศไทย 1.0 เป็นยุคดั้งเดิมของประเทศไทยที่พึ่งพาการเกษตรแบบดั้งเดิม คำขวัญบอกความเป็นประเทศไทยที่จำกันได้ก็คือ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” สินค้าส่งออกในสมัยนั้นได้แก่ ข้าว ไม้สัก ยางพารา เป็นต้น

ประเทศไทย 2.0 เป็นการเริ่มต้นของอุตสาหกรรมเบา(Light Industry)ได้แก่อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร เกิดการจ้างงานใช้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมได้รับค่าแรงขั้นต่ำรายวันและค่าล่วงเวลาหรือโอที เพลงฮิตในสมัยนั้นก็คือ “ฉันทนาที่รัก” ฉันทนากลายเป็นชื่อเรียกคนงานที่ทำงานในโรงงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานทอผ้า

ประเทศไทย 3.0 เริ่มเมื่อคำขวัญประเทศไทยเพิ่มเติมเป็น “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในอ่าวมีก๊าซ” เมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้วที่ประเทศไทยเราขุดเจอก๊าซธรรมชาติปริมาณมากในอ่าวไทยพร้อมประกาศเข้าสู่ยุค “โชติช่วงชัชวาล” ทำให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้มากขึ้น ก๊าซธรรมชาตินอกจากจะใช้เป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม ก๊าซหุงต้มแล้วยังมีการแยกส่วนไปเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นยุคที่ประเทศไทยเข้าสู่การส่งเสริมอุตสาหกรรมหนัก(Heavy Industry)  เช่นรถยนต์ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ โรงกลั่นน้ำมัน เคมีภัณฑ์ ฯลฯ ประเทศไทยกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน

ประเทศไทย 4.0 จะเป็นการเปลี่ยนครั้งสำคัญไปสู่เศรษฐกิจสร้างมูลค่า (Value-Based Economy) ด้วยการใช้นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี เป็นการเปลี่ยนผ่านทั้งระบบใน 4 องค์ประกอบที่สำคัญคือ

  1. ภาคการเกษตร เปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิมไปเป็น Smart Farmer ใช้ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร เกษตรอินทรีย์หรือเกษตรออร์แกนิค(Organic) เกษตรกรจะมีรายได้มากขึ้นกลายเป็นผู้ประกอบการ(Entrepreneur)ครอบคลุมการผลิตจนถึงการตลาดการจำหน่ายถึงผู้บริโภค
  2. ภาคผู้ประกอบการ ทั้ง OTOP และ SME ยกระดับด้วยความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี อีคอมเมิร์ซ ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ให้กลายเป็น Smart Enterprise หรือ Startups ใช้ความคิดสร้างสรรค์หาแหล่งทุนมาสนับสนุนจนประสบความสำเร็จ
  3. ภาคบริการ เปลี่ยนจากการบริการแบบดั้งเดิมมูลค่าต่ำ(Traditional Services) ไปเป็นการบริการมูลค่าสูง (High Value Services) ในทุกด้านทั้งด้านธุรกิจบริการ การเงิน สุขภาพ การท่องเที่ยว ฯลฯ
  4. ภาคอุตสาหกรรม ก็จะก้าวเข้าสู่อุสาหกรรม 0 ส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นที่ต้องการในโลกยุคใหม่ ยกระดับแรงงานจากแรงงานไร้ทักษะหรือทักษะต่ำ(Non-Skill Labor) เป็นแรงงานที่มีความรู้ความชำนาญทักษะสูง

การก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 จะอาศัยประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพด้านการเกษตรและความหลากหลายทางวัฒนธรรมด้านการบริการและการท่องเที่ยว ควบคุมไปกับการส่งเสริมพัฒนาและยกระดับคนไทยไปสู่ คนไทย 4.0

ดังกล่าวข้างต้น ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงองค์รวมทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญหลังจากที่อาศัยโมเดลไทยแลนด์ 3.0 มานานสามสิบกว่าปี