CG การกำกับดูแลกิจการที่ดี : อ.เสน่ห์ ศรีสุวรรณ

อ.เสน่ห์ ศรีสุวรรณ

บริษัทจดทะเบียนฯที่มีกรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือ CG จะมีโครงสร้างและกระบวนการสัมพันธ์ระหว่างกรรมการ ฝ่ายจัดการและผู้ถือหุ้น นำไปสู่ความเจริญเติบโตและเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นในระยะยาว โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance – CG) เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับองค์กรทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่เข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนระดมทุนขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องผ่านเกณฑ์การกำกับดูแลกิจการที่ดีในเรื่องที่สำคัญได้แก่

  • นโยบายการกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณ โดยครอบคลุมถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย(Stakeholder) บทบาทความรับผิดชอบของคณะกรรมการ การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส จรรยาบรรณทางธุรกิจต่อผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงวินัยและการร้องเรียน
  • นโยบายบริหารความเสี่ยงขององค์กร
  • มาตรการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น
  • การปฏิบัติเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ของกรรมการและพนักงาน

บริษัทจดทะเบียนฯที่มีกรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือ CG จะมีโครงสร้างและกระบวนการสัมพันธ์ระหว่างกรรมการ ฝ่ายจัดการและผู้ถือหุ้น นำไปสู่ความเจริญเติบโตและเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นในระยะยาว โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี 6 ประการได้แก่

  1. หลักนิติธรรม (Compliance) ด้วยการปฏิบัติตามตัวบทกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ กฎกติกา
  2. หลักคุณธรรม (Moral) ทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม เสมอภาค ซื่อสัตย์เป็นธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบ
  3. หลักความโปร่งใส (Transparency) ไม่ปิดบังอำพราง ตรงไปตรงมาตรวจสอบได้
  4. หลักความมีส่วนร่วม (Participation) เปิดโอกาสเท่าเทียมกัน คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย
  5. หลักความรับผิดชอบ (Responsibility & Accountability) มุ่งมั่นรับผิดชอบในหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ และรับผิดชอบต่อผลลัพธ์การกระทำ
  6. หลักความคุ้มค่า (Value) สร้างคุณค่าในระยะยาวที่ยั่งยืน เลือกปฏิบัติในสิ่งที่ดีที่สุด เกิดผลประโยชน์ที่คุ้มค่า

ข้อปฏิบัติและจรรยาบรรณทางธุรกิจ (Business Conduct & Ethics) เป็นกุญแจสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดีได้แก่การกำหนดนโยบายอย่างเคร่งครัดในเรื่องต่างๆดังนี้

  1. นโยบายการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) ไม่เปิดช่องให้มีการแสวงหาผลประโยชน์หรือสกัดกั้นผลประโยชน์ทางธุรกิจจากตำแหน่งหน้าที่การงาน
  2. นโยบายด้านการจัดซื้อและการทำสัญญา (Procurement & Contract) มีระบบการจัดซื้อและทำสัญญาที่เป็นรูปแบบเป็นธรรมไม่ทำให้ธุรกิจเสียประโยชน์ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น
  3. นโยบายการใช้และปกป้องข้อมูลและทรัพย์สิน (Use and Protection of Information and Assets) การใช้ข้อมูลและทรัพย์สินขององค์กรเป็นไปอย่างเหมาะสมคุ้มค่า ปกป้องคุ้มครองข้อมูลและทรัพย์สินขององค์กร
  4. นโยบายความเป็นกลางทางการเมือง (Political Neutrality) เป็นองค์กรที่ไม่ฝักใฝ่การเมืองหรือสนับสนุนพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใด
  5. นโยบายการแข่งขันทางการค้า (Trade Competition) ไม่ผูกขาดหรือฮั้วกันทางการค้า ดำเนินธุรกิจการค้าด้วยความเป็นธรรมไม่เอารัดเอาเปรียบคู่ค้าและผู้มีส่วนได้เสีย
  6. นโยบายด้านทรัพยากรบุคคล (Human Resource) พัฒนาความรู้ความสามารถและความก้าวหน้าของบุคลากร มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่สนับสนุนการคุกคามข่มขู่ (Harassment)
  7. นโยบายการต่อต้านคอร์รัปชั่น (Anti – Corruption) ไม่สนับสนุนและขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ
  8. นโยบายต่อต้านการฟอกเงิน (Anti – Money Laundering) ไม่สนับสนุนหรือทำธุรกิจกับธุรกิจที่ผิดกฎหมาย ธุรกิจสีเทาหรือมีพฤติกรรมเข้าข่ายการฟอกเงิน
  9. นโยบายด้านความมั่นคง ความปลอดภัย สุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม (Security, Safety, Health, Environment – SSHE) ดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงปลอดภัย ไม่เกิดผลเสียต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม
  10. นโยบายการให้ของขวัญและการเลี้ยงรับรอง (Gifts & Entertainment) งดรับและให้ของขวัญมูลค่าสูงกว่าที่กำหนด ไม่รับหรือให้การเลี้ยงรับรองที่สุ่มเสี่ยงต่อจรรยาบรรณทางธุรกิจ
  11. นโยบายด้านการเป็นกรรมการบริษัทอื่น (Directorship) ไม่อนุญาตให้ผู้บริหารหรือพนักงานไปรับหน้าที่เป็นกรรมการบริษัทอื่นเพื่อป้องกันการสูยเสียประสิทธิภาพและความทุ่มเทในการทำงาน
  12. นโยบายด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาเสพติด (Alcohol & Drug) ไม่อนุญาตให้พนักงานดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในที่ทำงานหรือขณะปฏิบัติงาน ห้ามเสพยาเสพติดให้โทษโดยเด็ดขาด

การกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นมาตรการสำคัญที่ไม่ใช่เพียงแค่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแต่ต้องมีการปฏิบัติจริง มีมาตรการการควบคุมดูแล ติดตามประเมินผลให้เกิดผลอย่างเคร่งครัด ผู้บริหารต้องใส่ใจให้ความสำคัญอย่างแท้จริงไม่ปล่อยปละละเลยหรือทำผิดซะเองอันเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี กรณีการให้และรับสินบนโรลส์รอยซ์ การใช้ข้อมูลภายใน (Insider) ในการซื้อขายหุ้นของผู้บริหาร เหล่านี้ล้วนเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีทั้งสิ้น ส่งผลเสียหายทั้งทางธุรกิจ ทางกฎหมาย ความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงขององค์กรนั้นๆ

 

 

 

 

 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ