มีลูกเพื่อชาติ : เสน่ห์ ศรีสุวรรณ

อ.เสน่ห์ ศรีสุวรรณ

เป็นที่รับรู้กันว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัจจุบันมีสัดส่วนผู้สูงอายุอยู่20% อันเนื่องมาจากคนไทยอายุยืนขึ้น อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยในปี 2505 อยู่ที่ 57 ปี ต่อมาอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยในปี 2555 เพิ่มขึ้นเป็น 75 ปี คาดการณ์อีกไม่กี่ปีจากนี้ไปสัดส่วนผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น25% ขณะเดียวกันอัตราการเกิดใหม่ของประชากรกลับลดต่ำลงอย่างน่าเป็นห่วง

กระทรวงสาธารณสุขประกาศสนับสนุนส่งเสริมนโยบาย “สาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ ด้วยวิตามินแสนวิเศษ” หรือที่เรียกกันสั้นๆว่าว่านโยบาย “มีลูกเพื่อชาติ” เป็นที่ฮือฮาได้รับความสนใจกันอย่างกว้างขวาง

ยุคเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นยุคที่พ่อแม่ทั่วโลกนิยมมีลูกหลายคน บางครอบครัวมีลูกเกินสิบคน คนที่เกิดในยุคเบบี้บูมเมอร์ปัจจุบันจะมีอายุประมาณ 55-70 ปีเป็นยุคที่มีประชากรเกิดใหม่มากมายทั่วโลก ทำให้มีการรณรงค์คุมกำเนิด มีสมาคมวางแผนครอบครัว มีถุงยางอนามัยที่เรียกกันติดปากว่า “ถุงมีชัย” เพื่อการคุมกำเนิดและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และคำขวัญที่จดจำกันได้ขึ้นใจคือ “ลูกมากจะยากจน”

คนที่เกิดในยุคเบบี้บูมเมอร์เริ่มมีการคุมกำเนิดมีการวางแผนครอบครอบครัวมีลูกน้อยลงเหลือเฉลี่ยครอบครัวละประมาณ 2-3 คนเพื่อสืบสกุล เด็กเหล่านี้อยู่ในวัยที่เรียกกันว่าเจนเนอเรชั่นเอ็กซ์(Generation X หรือ Gen X) ปัจจุบันคนเจนเอ็กซ์มีอายุประมาณ 35-55 ปีมีค่านิยมแต่งงานช้า มีลูกน้อยลงเหลือแค่ครอบครัวละ 1-2 คนหรือบางครอบครัวก็ไม่มีลูกเลย

ลูกของคนเจนเอ็กซ์จะเป็นคนเจนวาย (Generation Y หรือ Gen Y) ปัจจุบันจะมีอายุประมาณ 20-35 ปีเป็นคนที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์คือเป็นวัยที่พร้อมแต่งงานมีลูกแต่กลับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปมีค่านิยมที่ต้องการความพร้อมด้านฐานะการงานทำให้แต่งงานช้าหรือไม่ก็อยู่เป็นโสดไม่แต่งงานไปเลย แต่งแล้วก็ไม่อยากมีลูกมาก อยากมีลูกแค่สักคนสองคนหรือไม่มีลูกเลยก็ไม่เป็นไรไม่ให้ความสำคัญกับการมีลูกไว้สืบสกุล คนที่อยากมีลูกก็มีลูกยากอาจเป็นเพราะความเครียดสุขภาพร่างกายต้องไปใช้บริการหมอที่ให้แนะนำสำหรับผู้มีบุตรยาก ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของกลุ่มเพศสภาพที่เรียกว่า LGBT (Lesbian หมายถึงหญิงรักหญิง Gay หมายถึงชายรักชาย Bi-sexual หมายถึงได้ทั้งสองเพศ และ Transgender หมายถึงคนแปลงเพศ) เป็นกลุ่มที่ไม่มีการเจริญพันธุ์ไม่มีประชากรเกิดใหม่ อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรลดลงน่าใจหายจากร้อยละ 2.7 ในปี 2513 เหลือเพียงร้อยละ 0.4 ในปี 2558

ลูกของคนเจนวายจะเป็นคนเจนแซด (Generation Z  หรือ Gen Z) ปัจจุบันอายุประมาณแรกเกิดถึง 20 ปี ด้วยวิถีชีวิตและค่านิยมของคนรุ่นใหม่คาดการณ์ได้ว่าคนเจนแซดเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์จะมีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรต่ำกว่าร้อยละ 0.4 โดยเด็กที่เกิดใหม่จำนวนหนึ่งเกิดจากแม่วัยทีน (Teenage Mom) คือแม่ที่ยังเป็นวัยรุ่นอายุไม่ถึงยี่สิบยังไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์ยังไม่พร้อมจะมีลูก พ่อแม่บางคนอายุมากเลยวัยเจริญพันธุ์พอมีลูกก็อาจเจอปัญหาความผิดปกติหรือการพิการของลูก แม่จำนวนหนึ่งมีปัญหาด้านสุขภาพมีภาวะโลหิตจาง เป็นปัญหาที่เรียกว่า “เด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ” เป็นปัญหาที่น่าหนักใจของประเทศ

กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทำนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติฉบับที่ 2 ปี 2560-2569 ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการโตอย่างมีคุณภาพโดยเริ่มจากการให้หญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 20-34 ปีทุกคนที่พร้อม ตั้งใจและวางแผนมีลูกได้รับวิตามินแสนวิเศษเสริมธาตุเหล็กและวิตามินโฟเลต พร้อมคำแนะนำเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ไปสู่การคลอดที่ปลอดภัย ทารกมีสุขภาพแข็งแรงเติบโตอย่างมีคุณภาพ

เป็นที่รับรู้กันว่าประเทศไทยเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัจจุบันมีสัดส่วนผู้สูงอายุอยู่ประมาณร้อยละยี่สิบ อันเนื่องมาจากคนไทยเราอายุยืนขึ้น อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยในปี 2505 อยู่ที่ 57 ปี ต่อมาอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยในปี 2555 เพิ่มขึ้นเป็น 75 ปี คาดการณ์อีกไม่กี่ปีจากนี้ไปสัดส่วนผู้สูงอายุของไทยจะกลายเป็นร้อยละยี่สิบห้า นั่นหมายความว่าเห็นคนไทยเดินมาสี่คนหนึ่งในนั้นจะเป็นผู้สูงอายุ ในขณะเดียวกันอัตราการเกิดใหม่ของประชากรกลับลดต่ำลงอย่างน่าเป็นห่วง

หลายประเทศกำลังประสบปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรน้อยมากเช่นสิงคโปร์ที่ประสบปัญหาเด็กเกิดใหม่น้อยมานานหลายปีแล้ว ปัจจุบันสิงคโปร์มีจำนวนประชากร 5.3 ล้านคน เป็นคนสิงคโปร์เพียง 3.5 ล้านคน อีก 1.8 ล้านคนเป็นคนจากประเทศอื่นที่โอนสัญชาติหรือเข้ามาทำงานมาอยู่อาศัยในสิงคโปร์ เป็นปัญหาใหญ่ของสิงคโปร์ที่ต้องการการเพิ่มขึ้นของทรัพยากรมนุษย์ ญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดในขณะที่สัดส่วนการเกิดใหม่หรือการเพิ่มขึ้นของประชากรน้อยมาก ส่งผลให้ญี่ปุ่นประสบปัญหาขาดแคลนคนทำงานในวัยหนุ่มสาว จีนเป็นประเทศขนาดใหญ่มีประชากรกว่า 1,300 ล้านคนใช้นโยบายลูกคนเดียวหรือ One Child Policy ควบคุมการเกิดการเพิ่มขึ้นของประชากรมานานหลายปี ปัจจุบันรัฐบาลได้เลิกนโยบายลูกคนเดียวไปแล้วเพื่อเปิดโอกาสให้คนจีนมีลูกเพิ่มมากขึ้นแต่ดูเหมือนว่าคนจีนก็ยังติดค่านิยมมีลูกน้อยเช่นเดิม

การลดลงของประชากรเกิดใหม่มีผลกระทบอย่างยิ่งต่อประเทศในทุกด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนคนวัยทำงานในทุกภาคส่วนทั้งการเกษตร อุตสาหกรรม ธุรกิจการค้า การประกอบการการบริการ ฯลฯ นโยบาย “มีลูกเพื่อชาติ” จึงเป็นนโยบายที่ต้องมีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมและไม่ควรเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ต้องบูรณาการกระทรวงและหน่วยงานอื่นเข้ามามีส่วนขับเคลื่อนด้วยเช่นกระทรวงศึกษาธิการฯต่อยอดในเรื่องการศึกษาที่มีคุณภาพ กระทรวงการคลังสนับสนุนด้านภาษีที่จูงใจให้กับการมีลูก กระทรวงเศรษฐกิจดิจิตอลสนับสนุนการเข้าถึงและใช้งานด้านเทคโนโลยีดิจิตอลอย่างทั่วถึง เป็นต้น หวังว่าประเทศไทยเราจะมีอัตราการเกิดใหม่ของประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างมีคุณภาพ ขอสนับสนุนนโยบาย “มีลูกเพื่อชาติ”แบบบูรณาการครบวงจร ครับ

 

 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ