ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมานี้ พวกเรานักการตลาดและนักธุรกิจที่มีการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลาไม่ให้อยู่นิ่ง มักจะได้ยินได้ฟัง การจัดสัมนาและ Workshop เกี่ยวกับเรื่อง CRM หรือการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ หรือบางทีเราก็เรียกว่า เป็นการทำการตลาดสัมพันธ์ แต่เรามักจะมีประสบการณ์กับการจัดสัมนาที่ลงท้ายด้วยการโฆษณาขาย Software Solution ของคนจัดและพยายามบอกเราว่า Software ของเขาสามารถทำได้ทุกอย่างที่เราต้องการ
ผมได้มีโอกาสเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้มาในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และก็มีท่านผู้อ่าน Email และโทรศัพท์มาหาผมมากมายเพื่อให้ผมไปพูดให้องค์กรของเขาฟังว่า CRM ที่แท้จริงคืออะไร
ในฉบับนี้ ผมจึงอยากถือโอกาสนี้ สรุปบางประเด็นที่ผมพูดให้ท่านผู้อ่านได้อ่านบ้าง
พูดถึงการตลาดในยุคศตวรรษที่ 21 นี้ มันคือ สงครามของการแย่งชิงลูกค้า และนั่นคือที่มาที่ผมบอกว่า เราต้องปรับกระบวนทัศน์ใหม่ในเรื่องของ CRM ซึ่งสำคัญที่สุด
ว่าด้วยการตลาดความสัมพันธ์
ทำไมต้องมีการตลาดความสัมพันธ์ ( Relationship Marketing )?
ก็เพราะถ้าคุณสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าได้ดี คุณก็จะสามารถรักษายอดขายของคุณได้
Relationship Marketing หรือ RM คืออะไร ?
RM คือ ยุทธศาสตร์ใหม่ …. คือ เรื่องของการใช้เทคนิค และเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อให้คุณชนะใจลูกค้าและรักษาลูกค้านั้นของคุณไว้ตลอดชีวิต หรือเรียกว่า Lifetime Customer
ความแตกต่างระหว่างการทำ RM กับการทำการตลาดแบบดั้งเดิม ( Traditional Marketing ) คืออะไร?
หนึ่ง การตลาดแบบดั้งเดิมนั้นเป็นการทำการตลาดที่มุ่งเน้นที่ส่วนแบ่งตลาดเป็นสำคัญ ในขณะที่การตลาดแบบ RM เราต้องการส่วนแบ่งของลูกค้า ( Share of Customer )
การที่เราจะทุ่มเงินให้ได้ลูกค้ามาซื้อสินค้าหรือบริการเพิ่มขึ้นนั้นเป็นไปได้ยากขึ้น เพราะลูกค้าในปัจจุบันมีจำกัดและฉลาดมากขึ้นสามารถหาข้อมูลก่อนการตัดสินใจซื้อ ฉะนั้น สิ่งที่บริษัทธุรกิจจะทำได้ในทศวรรษนี้ คือ ทำอย่างไรที่จะให้คนๆหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกค้าของท่านซื้อเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 40% เท่านั้นเอง ท่านก็สามารถเพิ่มยอดขายอีกเท่าตัว นั่นคือ Share of Customer หรือส่วนแบ่งของลูกค้า
สอง การทำการตลาดแบบดั้งเดิมเป็นความพยายามที่จะสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ เช่น แชมพูสำหรับผมแตกปลาย ผมแห้ง ผมมัน ขณะที่ RM มุ่งเน้นที่การสร้างความแตกต่างของลูกค้า ( Differentiate Customer )
คุณต้อง Differentiate Customer ยกตัวอย่างพฤติกรรมลูกค้า ลูกค้าบางกลุ่มเป็นลูกค้าที่สบายๆ บางกลุ่มเป็นลูกค้าที่จู้จี้แต่ก็ยังพอรับได้ แต่ลูกค้าบางกลุ่มที่ Super JJ คือ “จู้จี้แอนด์จุกจิก” พวกนี้คุณต้องค่อยๆใส่พานประเคนไปให้คู่แข่งคุณ คือ ยกชิ้นกระดูกไปให้คู่แข่ง !!
ต้อง Differentiate Customer ไม่ใช่ไป Differentiate Product นะครับ!
สาม การทำการตลาดแบบดั้งเดิมจะเน้นบริหารจัดการเรื่องผลิตภัณฑ์ แต่ถ้าเป็น RM คุณจัดการที่ลูกค้า ทำอย่างไรที่จะทำให้ลูกค้าพึงพอใจมากที่สุด?
เพราะฉะนั้น กล่าวโดยสรุป ก็คือ การตลาดแบบดั้งเดิมเป็นการผลิตสินค้าก่อนแล้วค่อยไปหาคนมาซื้อ แต่ถ้าเป็นการตลาดยุคใหม่ หรือการตลาดความสัมพันธ์ ( RM ) หรือการตลาดแบบหนึ่งต่อหนึ่ง ( One-to-One Marketing ) หรือ CRM ที่เราพูดกัน คุณต้องไปสำรวจหาลูกค้าก่อนที่คุณจะไปเสนอสินค้า เช่น ลูกค้าชอบอะไร? ลูกค้าชอบรสต้มยำหมูสับ แต่ไปออกต้มยำอย่างอื่นก็อาจจะไม่มีใครซื้อ
เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากตลาดและอุตสาหกรรมส่วนใหญ่กำหนดหรือมุ่งไปที่ลูกค้ามากกว่าตัวสินค้าประกอบกับลูกค้ามีอิสระมากขึ้น มีความต้องการมากขึ้น ฉลาดมากขึ้น มีการศึกษาดีขึ้น สมัยก่อนเราได้ยินว่า ของดีราคาถูกมีที่ไหน? แต่ลูกค้าวันนี้บอกว่ามี ! ของดีแล้วต้องราคาต้องยุติธรรม ! ถ้าของดีราคาแพงมากก็ไม่ซื้อ
เพื่อสร้างความได้เปรียบ องค์กรต่างต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับคู่ค้าและลูกค้ามากยิ่งขึ้น เราเรียนรู้ตำราพิชัยสงครามซุนวูว่า “ รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” ผมอยากถามท่านผู้อ่านว่า จะมีสักกี่คนที่รู้เขา ? เผลอๆยังมีที่ไม่รู้เราด้วย ไม่รู้ว่าตัวเองขายสินค้าอะไร? ไม่รู้ว่าตำแหน่งผลิตภัณฑ์ของบริษัทคืออะไรด้วยซ้ำไป? ลองถามเจ้านายหรือลูกน้องท่านดูซิครับ
นี่จึงเป็นประเด็นสำคัญที่สุด ถ้าคุณยังไม่รู้แม้กระทั่งตัวเองคือใคร? คุณจะไปสู้กับเขาได้อย่างไร?
ในโลกทุกวันนี้ ทุกองค์กรต่างพุ่งความสนใจและให้ความสำคัญไปที่การเพิ่มความถี่ของการซื้อหรือการใช้มากกว่า โดยเน้นไปที่ลูกค้าที่มีความจงรักภักดี เหตุผลที่ทำเช่นนั้นได้ก็เพราะว่าวิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้เราสามารถทำการตลาดแบบเฉพาะเจาะจงได้ สามารถเข้าถึงลูกค้าแบบถึงตัวได้ ทำให้เราได้ศัพท์ใหม่ทางการตลาดที่เรียกว่า Mass Customization ก็คือ ทำแบบเฉพาะเจาะจงให้กับแต่ละคนได้เป็นจำนวนมากๆด้วย โดยอาศัยเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ท และยังสามารถทำให้เราเพิ่มการตอบรับจากลูกค้าได้มากขึ้น
ฉะนั้น การที่มีอินเตอร์เน็ต และเศรษฐกิจดิจิตอลเกิดขึ้นมานี้ ทำให้องค์กรต่างๆตื่นตัวและปรับตัวกับเทคโนโลยีเหล่านี้ โดยเฉพาะการเปิดรับคนรุ่นใหม่ เข้าแทนที่พนักงานรุ่นเก่าที่จะเป็นไม้แก่ดัดยาก และมีปัญหาการใช้เทคโนโลยี เนื่องจากโลกเราเป็นโลกานุวัตร ฉะนั้น พวกเรานักการตลาดรุ่นใหม่ เราจะต้องรับมือกับภาวะความซบเซาทางเศรษฐกิจที่หลายคนพูดกันตลอดเวลาว่า ปีนี้และปีหน้าอาจจะเกิดภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจโลกตกต่ำ เพราะสงครามอิรัก
แต่สำหรับผมคิดว่า ภาวะเงินฝืดน่าจะไม่เกิด ยกเว้นปัญหาของกรีซและยุโรปแก้ไม่ได้ และอเมริกาประกาศขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่ากำหนด ดังนั้น สิ่งที่ผมอยากฝากไว้คือ เราจะต้องประเมิน Resource ของท่านใหม่ ต้องมีการพิจารณาทรัพยากรในองค์กรใหม่ คือ
1.ส่วนผสมทางด้านภูมิศาสตร์ ( Geographical Mix )
จากเดิมที่ขายสินค้ากันทุกภาคเลย ทั้งที่สินค้าบางตัวของคุณอาจจะแข็งแรงและทำกำไรได้เฉพาะบางภาค บางภาคอาจไม่ได้กำไร เพราะฉะนั้น ควรจะตัดภาคที่ไม่ได้กำไรทิ้งไหม ? แล้วรวมทรัพยากร ดึงทหารหรือถอนทหารกลับมาเสริมจุดที่เราแข็งแกร่งที่สุดและมีกำไรดีที่สุดหรือเปล่า?
ผมเคยได้ยินผู้บริหารท่านหนึ่งพูดประโยคหนึ่งตอนที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งใหม่ๆ ผมชอบมาก เขาบอกว่า บางครั้งเราจำเป็นต้องยอมแพ้บางสมรภูมิรบ เพื่อเอาชนะสงครามในที่สุด และตัวอย่างที่เราได้เห็นก็คือ การที่ CP ตัดขายทิ้งทุกอย่างที่ไม่ใช่ Core Business ของตัวเองหลังเกิดวิกฤติปี 2540 เหลือแต่ธุรกิจหลักของเขาอยู่ 3 อย่าง นั่นคือ ธุรกิจการเกษตร ธุรกิจโทรคมนาคม กับธุรกิจค้าปลีก
2. ส่วนผสมทางด้านเซ็กเม้นท์ตลาด ( Market Segmentation Mix) คุณเลือกทุกเซ็กเม้นท์ไม่ได้ ก็เหมือนกันคุณต้องพิจารณาใหม่ว่า ส่วนของตลาดส่วนไหนที่มีผลกำไรที่สุด แล้วมุ่งไปที่ตลาดนั้น
3.ส่วนผสมทางด้านลูกค้า ( Customer Mix ) กลุ่มลูกค้ากลุ่มใดที่ทำเงินให้คุณมากที่สุดดูแลเขาให้ดีที่สุด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง รักษาลูกค้าที่ให้กำไรสูงสุดต่อองค์กรของเราไว้
4.ส่วนผสมทางด้านผลิตภัณฑ์ ช่องทางการจัดจำหน่าย และการส่งเสริมการขาย (Product ,Channel & Promotion Mix) ก็เหมือนกัน คุณต้องตัดสินใจว่า คุณต้องการจะบุกเพื่อจะได้ส่วนแบ่งตลาด หรือตั้งป้อมเพื่อรักษาส่วนที่คุณมีอยู่
ในสถานการณ์แบบนี้ โอกาสที่คุณจะได้ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มคงยากมาก ยิ่งถ้าคุณเป็นผู้นำตลาด ( Brand Leader ) ยิ่งเป็นช่วงที่ลำบากที่สุดในการที่จะล้มหรือฆ่าแบรนด์อันดับ 2 , 3 , 4 ฉะนั้น คุณต้องแน่ใจว่า จะสามารถคงคำมั่นสัญญาที่มีคุณค่าโดยผ่านแบรนด์ของท่าน ( Maintain the Value Proposition Promise by Your Brand ) ด้วยการระดมทรัพยากรทั้งหมด เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่า คุณจะคงรักษาภาพลักษณ์และคำมั่นสัญญาที่คุณให้กับลูกค้าไว้ได้ แล้วก็พยายามที่จะเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์ แทนที่จะเข้าสู่สงครามราคา