ผู้นำ…แบบญี่ปุ่น : สุรวัฒน์ ชมพูพงษ์

อ.เสน่ห์ ศรีสุวรรณ

ระยะนี้ใคร ๆ ก็พากันเดินทางไปญี่ปุ่น ไม่ว่าจะไปเที่ยว ไปดูงาน ไปทัศนศึกษาหรือแม้กระทั่งจะไปศึกษาต่อที่นั่น และคงมิใช่เพราะเหตุที่ปัจจุบันไม่ต้องทำวีซ่าหรือแสดงหลักฐานทางการเงินของผู้ที่จะเดินทางเข้าไปยังประเทศนี้เท่านั้น

  ระยะนี้ใคร ๆ ก็พากันเดินทางไปญี่ปุ่น ไม่ว่าจะไปเที่ยว ไปดูงาน ไปทัศนศึกษาหรือแม้กระทั่งจะไปศึกษาต่อที่นั่น และคงมิใช่เพราะเหตุที่ปัจจุบันไม่ต้องทำวีซ่าหรือแสดงหลักฐานทางการเงินของผู้ที่จะเดินทางเข้าไปยังประเทศนี้เท่านั้น แต่คงเป็นเพราะประเทศญี่ปุ่นมีเสน่ห์ดึงดูดให้คนชาติต่าง ๆ อยากเข้าไปสัมผัสไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมประเพณี สถานที่ท่องเที่ยว ค่านิยมและการดำเนินวิถีชีวิตตามแบบฉบับตะวันออกที่ไม่เหมือนใครและอาหารญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นอาหารสุขภาพที่ดังกระฉ่อนไปทั่วโลกแล้ว แต่สิ่งที่น่าจะเป็นเสน่ห์ที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องของนวัตกรรมในการคิด การทำงานและการบากบั่นต่อสู้ชีวิตด้วยความอดทนและความซื่อสัตย์ทั้งต่อตนเองและความรับผิดชอบต่อสังคมแบบที่เรียกว่า “จิตสาธารณะ” ที่ปลูกฝังกันมาตั้งแต่เป็นเด็กเป็นเยาวชนของคนในประเทศนี้นั่นเอง

                ผมเองก็เพิ่งเดินทางไปญี่ปุ่นในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาก็ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนั่นเอง และเมื่อเดินทางไปถึงแล้วก็รู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ สิ่งที่น่าประทับใจเรื่องแรกที่เหยียบแผ่นดินญี่ปุ่นก็คือความสะอาดสะอ้านเป็นระเบียบวินัยของบ้านเมือง อัธยาศัยไมตรีของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองซึ่งถือได้ว่าเป็นห้องรับแขกของประเทศ ถ้าใครมาถึงเรือนชานแล้ว ต้อนรับกันด้วยอัธยาศัยไมตรีและด้วยหัวใจอย่างแท้จริงแล้ว ผู้คนย่อมสัมผัสและรับรู้ถึงความรู้สึกดังกล่าวได้อย่างแน่นอน ผมเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมีทั้งสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่เป็นภาพจริงและภาพลวงตา แต่ในวันนี้ผมอยากจะนำเสนอข้อสังเกตและมุมมองรวมทั้งสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาถึงความเป็นผู้นำแบบญี่ปุ่นทางด้านสังคมดังต่อไปนี้

                ประการแรก   :   ผมได้ไปเมืองฮิโรชิมาและนาราซากิมา สองเมืองนี้ถูกบอมส์ทำลายอย่างหนักมากในปี ค.ศ.1945 แต่ด้วยพลังและแรงบันดาลใจที่จะต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคที่ถูกทำลายและฟื้นฟูจิตใจผู้คนให้ได้มากและเร็วที่สุด พวกเขาสามารถกอบกู้ขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาประมาณ 10 ปีเท่านั้น และทุกวันนี้ยังทำวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการตกแต่งเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์เพื่อให้คนทั้งโลกร่วมกันรำลึกถึงและมีรายได้จากการท่องเที่ยวอีกมากมายมหาศาล

                ประการที่สอง :   การสร้างและสนับสนุนในเรื่องการมีวินัยทำให้ญี่ปุ่นสามารถพัฒนาบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มตั้งแต่เด็กนักเรียนญี่ปุ่นจะต้องทำความสะอาดห้องเรียนร่วมกันกับคุณครูประมาณ 15 นาทีทุกวัน และต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าห้องเรียนโดยหันรองเท้าออกด้านนอกเพื่อสะดวกในการสวมใส่ ซึ่งนี่คือการสร้างจิตสำนึกรักความสะอาดอย่างแยบยลที่สุดในคนรุ่นใหม่

                ประการที่สาม :   คนญี่ปุ่นที่เลี้ยงสุนัขจะต้องมีความรับผิดชอบต่อพื้นที่สาธารณะ โดยต้องพกถุงเฉพาะที่คอยเก็บเศษอุจจาระของสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงของตนเอง เพราะสุขอนามัยเป็นสิ่งสำคัญและถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่น

                ประการที่สี่    :   คนทำความสะอาดในญี่ปุ่นมิใช่แค่ทำความสะอาดได้ แต่ต้องทำความสะอาดเป็นโดยต้องสอบผ่านทั้งข้อเขียนและสัมภาษณ์ก่อนจึงจะเข้าทำงานได้และมีตำแหน่งเรียกว่า “วิศวกรสุขภาพ”  ตำแหน่งเหล่านี้สามารถต่อรองเงินเดือนได้ตั้งแต่ 5,000 – 8,000 ดอลลาร์สหรัฐทีเดียวนะครับ  ถ้าคุณมีประสบการณ์มากพอ

                ประการที่ห้า :   วัฒนธรรมญี่ปุ่นเขาจะงดใช้โทรศัพท์มือถือในที่สาธารณะ อาทิ บนรถไฟและร้านอาหาร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะขับรถถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมและมีโทษทางกฎหมายด้วยอย่างชัดเจนเพื่อป้องกันมิให้คนชาติอื่น ๆ ละเมิดวัฒนธรรมของประเทศเขา

                ประการที่หก  :   ประเทศญี่ปุ่นสนับสนุนให้คนในชาติประหยัดพลังงานอย่างถึงที่สุด เพราะประเทศเขาไม่มีแหล่งพลังงานธรรมชาติและต้องเผชิญกับแผ่นดินไหวนับครั้งไม่ถ้วน จึงทำให้เขายังสามารถยืนอยู่ใน 4 อันดับแรกของประเทศที่มีความสำเร็จทางเศรษฐกิจโลก

                ประการที่เจ็ด :   แม้คนในชาติญี่ปุ่นจะร่ำรวยติดอันดับโลก แต่พวกเขาจะไม่มีการจ้างคนรับใช้ อาจจะมองในแง่สิทธิมนุษยชนด้วยก็ได้ และพ่อแม่ยังคงมีหน้าที่เลี้ยงดูลูกและดูแลบ้านเป็นหลัก

                ประการที่แปด :  ด้านเป้าหมายชีวิตของเยาวชนนั้นวัฒนธรรมญี่ปุ่นสอนให้เยาวชนรู้จักวางแผนแนวคิดในการดำเนินชีวิตและพัฒนาบุคลิก พฤติกรรมนิสัยเป็นสำคัญยิ่งกว่าเน้นการสอนในชั้นเรียน และสอนให้เด็กแปรงฟันหลังอาหารทุกครั้งเพื่อสุขภาพ

                ประการที่เก้า :   หากไปร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ในญี่ป่นจะพบว่า คนญี่ปุ่นจะไม่กินทิ้งกินขว้างเด็ดขาด เพราะเขาทราบและสอนกันถึงความยากลำบากในการทำเกษตรกรรมเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการเลี้ยงผู้คนบนโลกนี้

                ประการที่สิบ  :   วัฒนธรรมญี่ปุ่นฝึกและสอนให้เยาวชนมีวินัยในเรื่องการเคารพและตรงต่อเวลา ดังนั้นจึงเป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าระยะเวลาเฉลี่ยของการที่รถไฟมาผิดเวลาในแต่ละปีละประมาณ 7 วินาทีเท่านั้น

                เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้เทิดทูนบูชาอะไรชาวญี่ปุ่นมากมายหรอกนะครับ แต่เห็นว่าอะไรเหมาะอะไรดีก็ต้องนำมาเล่าสู่กันฟัง คนไทยก็มีอะไรดีๆ เยอะแยะมากมายที่คนไทยภาคภูมิใจ แต่ถ้าเห็นว่าเรื่องใดของเราบกพร่อง ชาติอื่นเขามีอะไรดี ๆ ก็มาแชร์กัน เพื่อสร้างสรรค์จรรโลงสังคมไทยให้น่าอยู่ด้วยความรักและรอยยิ้มพิมพ์ใจในฐานะที่ได้ชื่อว่าเป็น “Land of Smile”  กันดีมั๊ยครับ?

โดย อ.สุรวัฒน์  ชมพูพงษ์

มหาวิทยาลัยกรุงเทพ