ปั้น Startup สู่ยักษ์ใหญ่ ขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 : ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

Bordin Iamsri

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ปาฐกถาบนเวทีสัมมนา “ไทยแลนด์ 4.0 สตาร์ท(อัพ)แบบไหน พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย” โดยมีตัวแทนทั้งภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจร่วมสัมมนาในครั้งนี้

  

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าคุมบังเหียนฝ่ายเศรษฐกิจของไทยในปี 2560 ขึ้นกล่าวปาฐกถาบนเวที ในงานสัมมนา  ไทยแลนด์ 4.0 สตาร์ท(อัพ)แบบไหน พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย”  ร่วมด้วยตัวแทนจากภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ได้แก่  ฐากร ตัณฑสิทธิ์ (กสทช.), นิธิศ มนุญพร (บสย.), สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ (เอไอเอส), ลาร์ส นอร์ลิ่ง (ดีแทค) และ ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ (ทรู)

ดร.สมคิดและรัฐบาล ให้ความสำคัญกับ Startup โดยมองว่า ควรสนับสนุนให้ไทยมีบริษัทยักษ์ใหญ่ให้มากขึ้น นั่นก็คือสนับสนุนให้มี Startup เกิดขึ้น คำว่า Startup” ไม่ใช่แค่กลุ่มคนทำธุรกิจเล็ก ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ แต่ Startup ยังเกี่ยวกับภาคส่งออก และภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วย

ดร.สมคิดแนะว่า เราดูประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกง ประเทศเหล่านี้ต่างขนเม็ดเงินไปลงทุนยังต่างประเทศทั้งนั้น ส่วนภายในประเทศ เขาก็อัปเกรดสิ่งที่มีอยู่ภายในประเทศให้ดีขึ้นมาแทน ให้มีมูลค่าสูงขึ้น นี่คือวงจรของการพัฒนาธุรกิจ อุตสาหกรรมไหนที่มีศักยภาพก็จะไปเพิ่มพลังให้ตัวนั้น (หมายรวมถึง Startup ด้วย)

ดร.สมคิด ยังเปิดมุมมองต่อไปว่า… สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาอัตโนมัติ ประเทศไทยมีบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่เกิน 50 บริษัท ตอนนี้เราจะเห็นว่าธุรกิจทีวีดิจิทัลเจ๊งกันบ้างแล้ว เพราะอะไรล่ะ เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่ในไทยเรามีอยู่เพียงไม่กี่บริษัท ที่จะสามารถเป็นสปอนเซอร์ให้ทีวีดิจิทัลได้บางช่องเท่านั้น ที่เหลือก็เจ๊ง

ไม่มีประเทศไหนที่เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยที่ประเทศนั้น ๆ มีบริษัทใหญ่อยู่เพียงไม่กี่บริษัท

ทีนี้เราต้องมาดูว่า ประเทศไทยเราจะทำยังไงให้มีบริษัทใหม่ ๆ ใหญ่ ๆ ขึ้นมาบ้าง ก็ต้องมาสร้างบริษัท Startup ซึ่งคำว่า “Startup” นั้นเมื่อ 2-3 ปีก่อนเคยมีใครพูดถึงไหม ไม่มี มัวแต่พูดถึงเรื่องการนำเข้าจะต้องทำยังไง ถ้ามีปัญญาอยู่แค่นั้น ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล  

หันมาดูอีกซีกหนึ่งของประเทศไทย ความเจริญทางด้านเทคโนโลยีนำไปสู่เมืองใหญ่ แต่ในชุมชนกลับยังยากจนอยู่ ภาคเกษตรเรายังล้าหลังอยู่

เราต้องการดึงให้คนมาลงทุนที่นี่ (หมายถึงในไทย) มหาวิทยาลัยไหนที่ไม่สามารถขยายขอบเขตการพัฒนาบุคลากรให้รองรับเทคโนโลยีได้ เราจะดึงมหาวิทยาลัยเหล่านั้นมาลงทุนในอีอีซีที่สามจังหวัดของไทยได้เลย ทั้งวิชาวิศวะ เทคโนโลยี การแพทย์ ครบถ้วนเลย

นี่คือการทำให้เป็นแหล่งลงทุนและการขนส่ง

การแข่งขันในอนาคตจะอยู่ที่ Innovation ตอนนี้ที่เราเห็น ๆ กันอยู่ ก็รู้ว่า Innovation  จะมาจากแบงก์ ไม่ใช่มาจากบริษัทใหญ่ มาจาก New Startup ทั้งนั้น การจ้างงานก็เหมือนกัน มาจาก Startup สมมติถ้าบริษัท Startup ของคุณมีพนักงาน 5 คน ถ้าไทยเรามี Startup 1 ล้านบริษัท ไทยเราก็จะมี Startup 5 ล้านคนแล้ว

คุณลองไปดูเมืองจีนวันนี้เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว วันนี้เห็นแล้วจะตกใจ  สตีฟ จ๊อบส์ ตายไป 1 คน ก็มาเกิดที่เมืองจีนเป็นล้านคนทั้งนั้นเลย (ดร.สมคิดเปรียบเปรย) ไปดู Startup ที่เมืองจีนพบว่า ไม่ใช่เป็นแค่ Startup ด้านการเกษตรหรือท่องเที่ยวเท่านั้นนะ แต่เขาเป็น Startup ด้าน Technology Base ทั้งนั้นเลย

ดร.สมคิดมองว่า การสร้าง Startup นั้น ต้องเกี่ยวโยงกับทุก ๆ ภาคส่วน ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งย่ำแย่ ก็จะพากันแย่ไปด้วย ฉะนั้นจะต้องช่วยกันผลักดัน  ดร.สมคิดบอกว่า ผมมั่นใจว่าถ้าเราทุกคนช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้น มันจะไปได้ และถ้าถามว่าปีทองนี้จะเป็นยังไง ผมขอถามว่า ถ้าพวกเราไม่มารวมกันเชือดไก่ให้ตาย ไก่จะขันได้ แต่ขอร้องอย่ารุมกันถอนขนไก่ หรือเชือดไก่กันเอง เดี๋ยวจะไม่ไหวกันซะก่อน

ท่านดูตัวเลขโครงสร้างทางสังคมของเรา 60-70% ของจีดีพีอยู่ที่การส่งออกทั้งนั้น แต่โครงสร้างการส่งออกของเรายังเหมือนเดิม แต่ที่เห็นว่าเมื่อปลายปี 2559 เศรษฐกิจดีเริ่มดีขึ้น เพราะภาคการเกษตรดีขึ้นแล้วไง ส่วนภาคอุตสาหกรรมอื่นของไทยที่เห็นว่าดีขึ้นบ้างด้วยเหมือนกันนั้น ก็เพราะได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจประเทศยักษ์ใหญ่เริ่มดีขึ้นต่างหาก

ส่วนของไทยนั้น ถ้ายังเป็นยังงี้ น้ำท่วมอีก เกิดภัยแล้งอีก เศรษฐกิจโลกทรุด แล้วเมืองไทยเราจะไปอยู่ที่ไหน และถ้าค่าแรงเรายังมีอยู่เท่านี้ ในขณะที่เรายังไม่สามารถเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีได้ อุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ก็จะย้ายฐานจากไทยไปอยู่กัมพูชา เวียดนาม ลาว เมียนมา นี่คือเหตุผลที่จีดีพีขึ้น เพราะอุตสาหกรรมมีความจำเป็นต้องย้ายฐานไปอยู่ที่ประเทศเหล่านั้น ซึ่งยุทธศาสตร์ธุรกิจต้องเป็นยังงั้นอยู่แล้ว อะไรที่แข่งในบ้านไม่ได้

ถ้าเราดูแค่โครงสร้างของการส่งออก ถ้าเราปล่อยให้เป็นยังงี้ไปอีกเรื่อย ๆ ก็รู้ ๆ อยู่ว่าเป็นยังไง เมื่อการส่งออกถึงจุด ๆ หนึ่ง คุณก็จะต้องออกไปลงทุนต่างประเทศใช่ไหม รัฐบาลจะช่วยเหลือเขา และสนับสนุนให้เขานำเงินกลับเข้ามาในประเทศไทย ฉะนั้นถ้าประเทศไหนมีแต่ส่งออกอย่างเดียว แต่ขาดการสนับสนุนเรื่องส่งออกนั้น ประเทศนั้นก็จะกลายเป็นประเทศด้อยพัฒนา

จากงานสัมมนา  ไทยแลนด์ 4.0 สตาร์ท(อัพ)แบบไหน พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย”

 

วันพุธ 22 กุมภาพันธ์ 2560 โรงแรมพูลแมน คิวเพาเวอร์ ห้องอินฟินิตี้ 1-2 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ