สร้างกลยุทธ์ SME ด้วย Marketing Event : เนตรนิภา สิญจนาคม

เนตรนิภา สิญจนาคม

คนที่สามารถนำ Marketing Event ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม ถูกที่ ถูกเวลา ถูกสถานการณ์ ย่อมได้รับผลตอบรับกลับมาตามที่ได้วางแผนไว้

Marketing Event   เป็นกลยุทธ์และเครื่องมือทางการตลาดในอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความสำคัญไม่ต่างจากกลยุทธ์การตลาดอื่น ๆ ในการทำธุรกิจ

           Marketing Event   เป็นอาวุธทางการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายในสมรภูมิเศรษฐกิจปัจจุบัน

           Marketing Event   เป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์กับลูกค้า แบบที่เรียกว่า Two- Way Communication

          หลายคนที่สามารถนำ Marketing Event ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม ถูกที่ ถูกเวลา ถูกสถานการณ์ ย่อมได้รับผลตอบรับกลับมาตามที่ได้วางแผนไว้ แต่สำหรับบางคนที่ใช้อย่างผิดวิธี ก็อาจจะกลับกลายเป็นดาบสองคมที่ถูกกระแสสังคมวิพากษ์กันไปในทางลบ ซึ่งแน่นอนผลลัพธ์คือ เสียทั้งเงิน เสียทั้งชื่อเสียง มูลค่าการตลาดที่คาดไว้กลับกลายเป็นศูนย์ถึงติดลบ

          ในขณะที่เศรษฐกิจกำลังเหวี่ยงขึ้นลงอย่างรุนแรงตามสถานการณ์ปัจจุบัน หลายธุรกิจเริ่มปรับปรุง ปรับลดงบประมาณในแต่ละภาคส่วนลง โดยเฉพาะแผนกการตลาด เมื่องบประมาณบางส่วนถูกตัดทอนลง ฝ่ายการตลาดส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงกิจกรรมที่ใช้งบประมาณน้อยแต่ให้ได้ผลมาก พยายามสร้างกระแสหรือสร้างกิจกรรมที่ส่งให้เกิดการจดจำในผลิตภัณฑ์หรือแบรนดิ้งให้ได้มาก ๆ จึงถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เราจะสร้างสรรค์กิจกรรมการตลาดขึ้นใหม่ในหลาย ๆ รูปแบบ

วันนี้เราจะมาลองคิดและตอบกับ  5 คำถาม เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์กิจกรรมการตลาดที่เราเรียกว่า Marketing Event

1.        Why

คำถามแรกเป็นคำถามที่สำคัญมาก เป็นส่วนสำคัญในการสร้างวัตถุประสงค์ของกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่เราจะทำขึ้น และจะสามารถกำหนดทิศทางของกิจกรรมได้ในภาพรวมด้วย เช่น เพื่อแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่, เพื่อกระตุ้นยอดขาย, เพื่อสร้างการจดจำ หรือเพื่อการทดลองใช้  ซึ่งวัตถุประสงค์เหล่านี้จะนำเราไปสู่ผลของการทำกิจกรรมที่เราควรจะได้รับหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมทางการตลาดนั้นแล้ว

2.        Who

คำถามต่อมา คือ “ใครควรจะเป็นผู้รับรู้ในข้อมูลข่าวสารนั้น ๆ” เป็นการกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้กับผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์ของเราในการทำกิจกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ของเด็กอาจไม่จำเป็นที่จะต้องสื่อถึงเด็กเป็นหลัก พ่อแม่เด็กต่างหากที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก หรือการจัดกิจกรรมสำหรับครอบครัวก็ควรจะโฟกัสหรือเจาะจงกลุ่มผู้มีอำนาจในการตัดสินใจที่ชัดเจน แล้วค่อยจัดกิจกรรมสำหรับกลุ่มเป้าหมายนั้นเป็นหลัก ส่วนกลุ่มเป้าหมายรอง จะเป็นผลพลอยได้ที่จะสร้างให้เกิดกระแสในวงกว้าง

3.        What

เป็นคำถามที่สาม ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มาผสมผสาน ถ้ายังคิดไม่ออกให้กลับไปพิจารณาคำถามที่ 1 และ 2 อีกครั้ง แล้วมองให้เห็นถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องหรือสิ่งที่มีผลกระทบกับกับกลุ่มเป้าหมายของเราโดยตรง โดยเราสามารถใช้วิธีทำแบบสอบถามเพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการทำกิจกรรมได้ เช่น ในกรณีที่ต้องการจัดกิจกรรมสำหรับผลิตภัณฑ์กีฬาโดยมีวัยรุ่นเป็นกลุ่มเป้าหมาย อาจจะทำการสอบถามวัยรุ่น ประมาณ 50 คน ด้วยคำถามที่ว่า คุณสนใจเรื่องราวหรือกิจกรรมประเภทใดมากกว่ากัน ระหว่างพบกับนักกีฬาในดวงใจกับชมคอนเสิร์ตศิลปินที่คุณชื่นชอบ ข้อมูลจากแบบสอบถามก็อาจพอเป็นข้อสังเกตได้ว่าเราควรจัดกิจกรรมอะไรให้กับกลุ่มเป้าหมายของเราดี

4.        Where

เป็นคำถามที่เชื่อมโยงกับคำถามที่ 2 และ ต่อเนื่องจากคำถามที่ 3 เพราะการจัดกิจกรรมที่ไหนนั้น อาจดูเป็นคำถามที่มักจะมีคำตอบในตัวอยู่แล้ว ถ้าคุณตอบข้อ 2 ได้ ว่ากลุ่มเป้าหมายของคุณเป็นใคร คุณก็ย่อมจะตอบได้ว่าคุณจะจัดที่ไหนที่จะใกล้กับกลุ่มเป้าหมายของคุณและสถานที่นั้นสามารถรองรับกิจกรรม “อะไร” ที่คุณจะจัดได้

5.        When

เป็นคำถามสุดท้ายของการวางแผนการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการตลาด กระแสเป็นเรื่องสำคัญ หลายครั้งที่คำถามข้อนี้กับกลายเป็นโจทย์ข้อแรกของการตั้งคำถาม จังหวะ เวลา และโอกาส จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้กิจกรรมการตลาดนั้น ๆ ประสบความสำเร็จ การเกาะกระแสไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่อยู่ที่ว่าเราจะทำมันทันต่อกระแสนั้นหรือไม่

            หวังว่าคำถามทั้ง 5 คำถามข้างต้น จะทำให้ท่านผู้อ่านที่อยากจะสร้างสรรค์กิจกรรมดี ๆ ได้รับประโยชน์กันบ้างไม่มากก็น้อยแล้วพบกันใหม่ในครั้งหน้าค่ะ

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ