“ธุรกิจครอบครัว ผู้นำหัวแข็ง พี่น้องขัดแย้งกัน” เป็นปัญหาโลกแตกที่แก้ได้

วอแว ณัฐรินทร์

“คนที่เป็นคนหลักหรือคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจของการปกครองธุรกิจครอบครัว เขาย่อมเป็นคนเก่งจึงสามารถปั้นธุรกิจขึ้นมาได้ และคนเหล่านี้มักจะมีกำแพงอยู่เสมอ ผู้ตามที่มีหัวการค้าแบบยุคสมัยใหม่ต้องมองให้ออกว่ากำแพงนั้นเป็นเรื่องอะไรบ้าง เพื่อหาวิธีทลายมันไปให้ได้ด้วยศิลปะ มิใช่การโต้เถียง!”

การมาสานต่อธุรกิจครอบครัวต้องอย่าลืมว่าบรรพบุรุษเรานั้นไม่ใช่กระจอกงอกง่อย กว่าที่จะค่อยๆปั้นธุรกิจให้เกิดขึ้นมาก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกเลยหากคุณปู่คุณย่า หรือคุณพ่อคุณแม่ที่ปั้นธุรกิจมาท่านจะมีความมั่นใจในวิธีการทำธุรกิจของท่านและอาจยังเป็นห่วงในวิธีการทำธุรกิจของลูกหลานอยู่จนไม่กล้าที่จะให้อำนาจการตัดสินใจเบ็ดเสร็จ100% เอาไว้ที่ลูกหลาน ในขณะที่ลูกหลานเองทั้งร่ำเรียนทั้งขวนขวายหาความรู้ต่างๆจนมั่นใจว่าควรเปลี่ยนแปลงรูปแบบกลยุทธ์การทำตลาดใหม่เพื่อให้เข้ากับเทคโนโลยีและยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แต่ติดตรงที่ไม่รู้จะโน้มน้าวความคิดของผู้มีอำนาจสูงสุดอย่างคุณพ่อคุณแม่อย่างไร?

ก่อนหน้านี้ดิฉันได้มีโอกาสสัมภาษณ์พูดคุยกับ ผศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดี Extension School และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถึงเป็นหาดังกล่าว ซึ่งอาจารย์ก็ยอมรับว่าเป็นปัญหาโลกแตกจริงๆ แต่เป็นปัญหาโลกแตกที่แก้ได้ หลายคนเคยมาปรึกษาอย่างเช่น คุณพ่อไม่ยอมเปิดใจรับฟังกลยุทธ์ใหม่ๆของลูก เพราะยังยึดติดกับทฤษฎีเดิมๆและเชื่อว่าการทำแบบนี้ไปเรื่อยๆธุรกิจยังไงก็อยู่ได้ อาจารย์เอกชัย จึงได้แนะนำไว้ว่า 

“ คนที่เป็นคนหลักหรือคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจของการปกครองธุรกิจครอบครัว เขาย่อมเป็นคนเก่งจึงสามารถปั้นธุรกิจขึ้นมาได้ และคนเหล่านี้มักจะมีกำแพงอยู่เสมอ ผู้ตามที่มีหัวการค้าแบบยุคสมัยใหม่ต้องมองให้ออกว่ากำแพงนั้นเป็นเรื่องอะไรบ้างเพื่อหาวิธีทลายมันไปให้ได้ด้วยศิลปะ มิใช่การโต้เถียง! “  เช่น หากเรารู้ว่าจะมีรายการหนึ่งที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของบ้านเรา พอใกล้ถึงช่วงเวลานั้นๆเราก็อาจจะเอาขนมมาวางเอาไว้ตรงหน้าทีวี เมื่อพ่อหรือแม่เดินมา ด้วยบรรยากาศก็อาจทำให้ท่านเข้ามาร่วมแจมดูทีวีกับเราด้วย และท่านจะค่อยๆซึมซับมุมมองใหม่ๆเข้าไปโดยอัตโนมัติและอาจเริ่มเปิดใจยอมรับ โดยที่ท่านจะไม่กังวลว่าตนเองจะสูญเสียตำแหน่งในอำนาจของตนเอง ดังนั้นหน้าที่ของลูกๆก็เพียงแต่จัดสภาพแวดล้อมเท่านั้น เป็นต้น

อีกหนึ่งคำถามที่น่าสนใจคือ มีคุณผู้ชมทางบ้านท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ทำธุรกิจส่วนตัว แต่ละปีทำรายได้หลักล้าน ตนเองมีหน้าที่คิดกลยุทธ์ใหม่ๆ แม้ธุรกิจจะดำเนินไปได้ด้วยดี แต่ปัญหาคือพี่น้องมักทะเลาะกันทำให้เกิดความไม่สามัคคี จนไม่รู้ว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไรดี? ซึ่งอาจารย์เอกชัย ได้แนะนำวิธีแก้ไว้ 2 วิธี คือ

1.คนที่เป็นผู้นำจะมีบทบาทสำคัญซึ่งไม่ควรแกว่งไปตามคำพูดคน

2.หากเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน คนเป็นผู้นำต้องรู้จักตัดประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องงาน และควรใช้วิธีถามหาข้อมูลอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้ตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของข้อมูล ยกตัวอย่างเช่น หากพี่น้องทะเลาะกันเรื่องยอดขายไม่ได้ตามเป้า คนที่เป็นผู้นำก็อาจถามกลับไปว่า ยอดที่ไม่ได้ตามเป้ามันห่างสักเท่าไหร่? ในแต่ละช่วงมันห่างอย่างไร? ค่อยๆห่างหรือว่าอยู่ดีๆก็ตกพรวดลงไป? ในรายละเอียดมันห่างที่ลูกค้ากลุ่มไหนเป็นพิเศษ? เมื่อได้คำตอบแล้วควรหาสาเหตุต่อว่า เป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดี หรือเป็นเพราะตัวของลูกค้าเองหรือเป็นเพราะคนในทีมเรา? ให้ผู้นำดูที่ข้อมูลเป็นหลักแล้วพูดโดยอิงข้อมูล มิใช่พุ่งตรงต่อว่าที่ตัวบุคคลอย่างเดียว วิธีนี้ก็จะทำให้ตัวของผู้นำดูน่าเชื่อถือด้วย

“ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจครอบครัว หรือไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว ก็จะมีมนต์เสน่ห์ที่แตกต่างกัน มีความได้เปรียบเสียเปรียบแตกต่างกัน แต่อุปสรรคที่พบเจออาจเหมือนหรือต่างกันไปบ้าง แต่ทุกๆวิธีในการแก้ไขปัญหามันก็สามารถสะท้อนออกมาได้เช่นกันว่าเรามีความพร้อมที่จะเป็นผู้นำที่ดีจริงแท้แค่ไหน..”

วอแว ณัฐรินทร์ เพจ : vorvaesmartsme

 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ