ถูกบังคับให้ทำธุรกิจครอบครัวทั้งที่ไม่ชอบ ทำไงดี?

วอแว ณัฐรินทร์

“ รู้สึกหมดพลังอย่างรุนแรงกับธุรกิจที่บ้านเพราะพ่อแม่ทำให้เหนื่อยใจ อยากถอยกลับมาคิดเพื่อตัดสินใจชีวิตในอนาคตของตัวเอง ” ทำไงดี?

แม้ตอนนี้การทำธุรกิจครอบครัวจะเป็นที่นิยมมากขึ้น แต่ปัญหาการทำธุรกิจครอบครัวก็ยังมีมาให้เห็นอย่างไม่จบสิ้น สำหรับธุรกิจครอบครัวที่มีการบริหารจัดการที่ดี พี่น้องถูกปลูกฝังถูกวางวัฒนธรรมของครอบครัวมาดีอันนั้นก็ไม่น่าห่วงเพราะธุรกิจก็จะเติบโตอย่างแข็งแรงได้ไม่ยาก แต่กับบางครอบครัวก็ต้องยอมรับว่ายังมีอยู่ที่พ่อแม่ทำธุรกิจมาแล้วให้ทายาทมาช่วยงานต่อเลยโดยไม่ถามความคิดเห็นหรือมุมมองความรู้สึกของผู้ที่เป็นลูก เพราะเชื่อเพียงว่าเป็นลูกก็ต้องทำตามคำสั่งพ่อแม่เท่านั้น ทั้งที่ความคิดแบบนี้ถือเป็นอีกหนึ่งจุดอ่อนสำคัญของการทำธุรกิจครอบครัว เอาง่ายๆเลยนะ…ธุรกิจมันจะเดินหน้าต่ออย่างราบรื่นได้อย่างไรล่ะหากผู้ที่จะมาสืบทอดไม่มีความสุขที่จะทำมัน?

มีอยู่หนึ่งปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถามกับ ผศ. ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดี Extension School และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปัญหาดังกล่าวมีใจความว่า 

“ ทำธุรกิจส่วนตัวของครอบครัวค่ะ ครอบครัวในที่นี้ คือมีแค่เรา พ่อแม่ และลูกน้องอีกคน เราเป็นลูกคนเดียวค่ะ เพราะฉะนั้นไม่มีตัวช่วยอื่นใดอีก เรารู้สึกเหนื่อยมาก เพราะต้องทำทุกอย่างเองทั้งหมด ตั้งแต่ทำบัญชี ทำสต็อค แบกของ ส่งของ 

แต่ปัญหาจริงๆของเราคือเหนื่อยใจมากกว่า เหนื่อยกายนั่นก็เหนื่อยหนักอยู่ล่ะ สาเหตุก็มาจากพ่อกับแม่ของเราเอง เราก็พยายามทำตัวเป็นลูกที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้วนะ แต่บางทีมันเหนื่อยน่ะ รู้สึกทำไมเท่าไหร่ก็ไม่พอใจซะที ทุกวันนี้เราทำงานเฝ้าโกดังโดยไม่ได้ออกไปไหนนอกจากไปส่งของ จันทร์ถึงเสาร์ ไม่ติดต่อเพื่อนฝูงใดๆเพราะนัดแล้วไม่มีปัญญาไป วันอาทิตย์ก็ต้องไปทำธุระกับแม่ตามแต่แม่จะไป เรารู้สึกเฉาลงไปทุกวันๆ รู้สึกเหมือนเป็นทาสยังไงไม่รู้ พ่อเราเป็นคนอารมณ์ร้ายมาก เวลาไม่พอใจก็จะด่า ไล่ ส่วนแม่เรา เมื่อก่อนเป็นคนที่เข้าใจเรามากที่สุด เรารักแม่มาก แต่ช่วง 2-3 ปีหลังมานี้แม่ไปทำบุญกับหลวงพ่อคนหนึ่ง แล้วแม่ก็เปลี่ยนไป ทุกอย่างในชีวิตของแม่คือวัด หลวงพ่อและกลุ่มเพื่อนๆที่ไปทำบุญกับแม่ แม่ต้องไปงานบุญ ไปไหว้พระ ถวายเพล ถวายปัจจัย นุ่งขาวห่มขาว เราก็มีหน้าที่ต้องคอยรับส่งทั้งที่บางทีเราก็รู้สึกเหนื่อยมากอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นความสุขของแม่เราก็จะพยายามไม่ขัดใจ ช่วงหลังๆมานี่แม่ไม่เคยสนใจว่าเราจะเป็นยังไง เหนื่อยมั้ย ป่วยมั้ย เอาแค่ว่าเธอต้องไปรับชั้นตามที่สั่ง งานที่ร้านเธอก็ต้องทำ แล้วเธอก็ห้ามหงุดหงิดนะ ไม่งั้นเธออกตัญญู เราเหนื่อยมากเลย บอกไม่ถูกมันเหมือนอึดอัดอยู่ข้างใน พูดกับใครก็ไม่ได้  พ่อแม่เราเค้าก็ทะเลาะกันทุกเรื่องอยู่แล้ว เราควรทำใจยังไงดีให้ความรู้สึกมันดีขึ้นกว่านี้ ไม่ต้องแนะนำให้พูดคุยกับพ่อแม่เลยนะคะ เพราะลองแล้วและเป็นปัญหาใหญ่โตกว่าเดิมมาก ช่วยแนะนำทีค่ะ ”

เรื่องที่เล่ามานี้ยอมรับเลยค่ะว่าอาจารย์เอกชัยได้ฟังแล้วนิ่งไปพักหนึ่ง แต่สุดท้ายก็มีทางออกมาเป็นแสงสว่างให้เสมอ ซึ่งอาจารย์ได้แนะนำการแก้ไขปัญหาไว้ 2 วิธี ดังนี้

1.หาสามีสักคน เพราะการที่จะหลุดจากสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะต้องสร้างอะไรขึ้นมาใหม่ หากผู้ที่ประสบปัญหาเริ่มมีครอบครัว ก็สามารถให้สามีเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ได้ หรือในกรณีที่สองคือไปกับสามีเพื่อไปทำธุรกิจอื่น เป็นต้น ก็จะพอช่วยให้มีทางออกไปในแนวทางอื่นได้

2.ใช้ศิลปะในการสร้างสถานการณ์ เช่น ในเมื่อเราพูดเองแล้วท่านไม่เชื่อ ก็ลองให้ท่านได้ฟังจากปากคนอื่นบ้าง ยกตัวอย่างเช่น หากมีรายการใดที่จะมาพูดถึงประเด็นที่เราประสบปัญหาอยู่ เราก็อาจหาวิธีให้ท่านมานั่งดูด้วย อาจเอาขนมมาวางหน้าทีวี ทำบรรยากาศให้ท่านอยากมาร่วมแจมดูทีวี หรือท่านอาจนั่งดูทีวีอยู่แล้วเราก็แกล้งเนียนๆเปลี่ยนช่องให้ท่านมีโอกาสได้ฟังได้ประสบเอง อย่าให้รู้ว่าเชียวว่าเราเป็นคนสร้างสถานการณ์นั้น เป็นต้น

“ ปัญหาของแต่ละคนที่เจอก็แตกต่างกันออกไป แต่หากเรามีสติและรู้จักปรึกษาได้ถูกคน สุดท้ายทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งนั่นแหละ”

เพจ : vorvaesmartsme

 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ