เจ้าพ่อแฟรนไชส์ (ตอนที่ 1) : ดร.พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์

ดร.พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์

มหาวิทยาลัยการผลิตอาหารที่เรียกว่าแฮมเบอร์เกอร์แห่งแรกของโลกที่แมคสร้างขึ้นในอเมริกา ที่สร้างความแปลกใจให้กับคนที่ได้ฟังเรื่องแมคที่เห็นว่าการทำร้านอาหารง่ายๆ ขนาดนี้ต้องมีการฝึกอบรมมากขนาดนั้นทีเดียวหรือ

เรื่องของแมคโดนัลด์ นั้นอาศัยเล่าให้ทั้งคนคุ้นเคยและไม่ค่อยคุ้นกันมานานหนักหนา เรื่องเกล็ดเล็กเกล็ดย่อยมีเล่าให้ฟังสามวันไม่หมดแต่ไม่น่าเชื่อ ไม่เคยเขียนเป็นเรื่องเป็นราวออกมาซัก…ที

คราวนี้แหละได้ฤกษ์ดี ที่จะว่าเรื่องของเจ้าพ่อตัวจริงที่คิดสร้างระบบแฟรนไชส์มาให้ลือลั่นโลก แต่ถ้าตั้งใจเอาสาระแบบนักวิชาการละก็คงต้องขอตัวก่อน เพราะเรื่องที่จะเล่าเป็นแบบวณิพกเล่าเรื่อง หวังให้ผู้ฟังได้รับบันเทิงอย่างมีสาระ เพราะถ้าอ่านแล้วเครียด แล้วจะอ่านทำไม…จริงมะ.

การที่จะเล่าเรื่องยักษ์ใหญ่ที่เป็นร้านอาหารที่เรามักเรียกว่า ร้านจานด่วน หรือบางครั้งก็กลายเป็นร้านที่ได้รับฉายาว่า Quick Service Restaurant ที่มีเครือข่ายมากกว่าสามหมื่นสาขา เน้นอีกทีครับว่า มากกว่า 30,000 สาขา เฉพาะในอเมริกาอย่างเดียวร้านแบบนี้มีถึง 11,800 สาขาและเน้นแนวคิดที่เป็นร้านอาหารสำหรับครอบครัวทันสมัยชาวมะกันมานานหนักหนา  วันนี้ร้านแบบแมคโดนัลด์ (ที่จะขอเรียกสั้นๆ ว่า “แมค” ให้ง่ายมือง่ายปากเสียหน่อย) มีทั่วโลกมากกว่า 114 ประเทศ ในแต่ละวันจะมีคนเข้าไปร้านแมคไม่น้อยกว่าวันละ 22 ล้านคน อะไรจะปานนั้น ในโลกนี้คงไม่มีใครที่จะมีลูกค้าต่อวันได้มากเท่ากับร้านขนมปังผ่าครึ่งยัดไส้เข้าไปอย่างนี้ได้อีกแล้ว ส่วนยอดขายนั้นถ้าคิดว่ากินกันคนละหนึ่งร้อยบาทก็เท่ากับว่า ร้านแมคนั้นคงต้องมียอดขายไม่น้อยกว่าสองพันล้านบาทต่อวัน ใครคิดจะสร้างสินค้าให้คนกินแล้วทำกันสดๆ ในร้านให้ขายได้วันละสองพันล้านอย่างนี้ก็ต้องยอมรับเรียกว่า เจ้าคุณปู่ กันไปเลย

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากพลังของระบบงานที่เราเรียกว่า แฟรนไชส์ ทำให้เกิดร้านแบบแมคที่สามารถทำงานในรูปแบบเดียวกันได้ทั่วทุกมุมโลก กว่า 75% ของร้านแมคทั้งหมดนั้นดำเนินการโดยนักลงทุนในระบบแฟรนไชส์ ที่เขารักที่จะยอมควักเงินมาจ่ายเพื่อความสำเร็จจากแมค ส่วนที่เหลือเป็นร้านที่บริษัทดำเนินการเอง ร้านแมคนั้นมีทุกที่ที่คนสามารถไปถึงจากที่เคยมีเพียงในเมืองใหญ่วันนี้โลกของแมคนั้นไปได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นเมืองต่างจังหวัดเล็กๆ จะเป็นห้างใหญ่ ทางด่วน โรงพยาบาล สนามบิน ในสวัสดิการของทหาร วิทยาลัย หรือข้างทางตามถนนธรรมดา ก็มีให้เห็นได้ไม่ยาก

ถึงแม้ร้านจะมีมากแค่ไหนแต่คุณภาพของแมคไม่เคยเปลี่ยน การเอาจริงเอาจังเรื่องคุณภาพนั้นเป็นเรื่องเด่นที่แมคทำมาได้อย่างดี สิ่งที่เราได้ยินอยู่เสมอที่แมคจะมีปรัชญาที่เข้าใจง่ายและรับรู้ทั้งคนเป็นลูกค้าและพนักงานก็คือ การรักษาแนวคิดที่ว่าด้วยเรื่อง Q S C และ V ซึ่งก็หมายถึง คุณภาพสินค้า Quality ตามด้วยมาตรฐานการบริการ Service ต่อด้วยเรื่องความสะอาด Clean และสุดท้ายคือเรื่องของคุณค่าที่คุ้มค่าให้กับลูกค้า Value การสร้างแนวคิดง่ายๆ แต่มีประสิทธิภาพคือเรื่องที่แมคมีเหนือกว่าธุรกิจในโลกนี้ที่เคยทำมา

แม้ว่าแมคโดนัลด์จะเน้นเรื่องของ แฮมเบอร์เกอร์ เป็นพระเอกจานด่วนที่ชัดเจนแต่ก็ไม่ใช่ว่า แมคจะไม่มีวัตกรรมใหม่ๆ ซะที่ไหน แมคนั้นสร้างสินค้าตัวใหม่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหมู ไก่ และปลา สลัด หรืออาหารเช้ารูปแบบของแมคเอง มีทั้งไข่ ไส้กรอก สินค้าที่จำได้ง่ายอย่าง แมคมัฟฟิน แซนวิช ขนมปัง ไอศกรีม ต่างๆ เรียกได้ว่าเรื่องการคิดสินค้าใหม่ของแมคนี่ล่ะทำให้กระบวนการทำงานของการผลิตในร้านได้เปลี่ยนโฉมหน้าของการทำอาหารในอุตสาหกรรมด้านนี้ทีเดียว เครื่องมือการทำงานต่างๆ ได้สร้างมาตรฐานการทำงานตามระบบแมคเกือบหมด

มหาวิทยาลัยการผลิตอาหารที่เรียกว่าแฮมเบอร์เกอร์แห่งแรกของโลกที่แมคสร้างขึ้นในอเมริกา ที่สร้างความแปลกใจให้กับคนที่ได้ฟังเรื่องแมคที่เห็นว่าการทำร้านอาหารง่ายๆ ขนาดนี้ต้องมีการฝึกอบรมมากขนาดนั้นทีเดียวหรือ  แต่ในที่สุดมหาวิทยาลัยแห่งแฮมเบอร์เกอร์ของแมคก็เกิดขึ้นที่  ELK Grove Village ที่เมืองอิลลินอย ชิคาโก ในสหรัฐชื่อสั้นๆ ว่า H.U. จากคำว่า แฮมเบอร์เกอร์ยูนิเวอร์ซิตี้ กลายเป็นศูนย์การสร้างบุคลากรและแฟรนไชส์ซีให้แมคได้อย่างสมศักดิ์ศรี ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกตั้งแต่ปี 1961 เท่ากับแฮมยูเปิดมาไม่น้อยกว่า 45 ปี ปัจจุบัน HU มีขนาดประมาณ 20,000 ตารางเมตรในเมืองโอคบรูค Oak Brook ที่อิลลินอยเช่นกัน และตัวแฮมยูนี้ยังมีสาขาในต่างประเทศที่เปิดในญี่ปุ่นช่วงปี 1972  และเปิดที่ มูนิค ในปี 1975 และแห่งล่าสุดก็คือที่อังกฤษด้วยช่วงปี 1982 แต่ยังไม่มีแผนจะมาเปิดในไทยนะครับ…แฮ่ม.

ถ้าหลายคนเคยเห็นร้านแมคเป็นรูปขาวดำเก่าๆ อาจจะนึกถึงสีสันต่างๆ ไม่ออกก็มันเกือบ 50 ปีมาแล้วนั่นเอง จริงๆ แล้วร้านแมคนั้นตอนเริ่มครั้งแรกไม่ใช่สีเหลืองแดงอย่างตอนนี้ เพราะร้านที่เปิดช่วงแรกใช้สีเป็นแดงขาว และมีเส้นโค้งสีทองสองเส้นเป็นสัญลักษณ์ รูปเส้นโค้งนั้นจริงๆ แล้วก็พัฒนามาจากชื่อสั้นๆ ของคำว่าแมคโดนัลด์ที่มีตัว M เป็นตัวเด่นออกมา กลายเป็นลักษณะโลโก้ไปด้วยเลย เห็นรูปโค้งขนาดใหญ่ก็นึกถึงตัวเอ็มนั่นแหละ จำง่ายคิดง่าย  มีคนเคยอุตริเอาไปถามคนกินแมคในอเมริกาว่าถ้าคุณเห็นรูปโค้งของแมคแล้วคุณนึกถึงอะไรมากที่สุด คงจะนึกออกนะครับว่าคนอเมริกันนั้นนะ เรื่องทะลึ่งนั้นแค่ไหน เพราะผลสำรวจออกมาว่าคนจะเห็นเป็นรูปทรงของนมผู้หญิงและพาลให้คิดถึงนมของแม่ไปด้วย ถึงว่าร้านแมคนั้นจึงได้ขายดิบขายดี ก็ออกแบบรูปสัญลักษณ์ได้เฉียบคม นอกจากจำง่ายแล้วยังชวนกินเสียด้วย อย่างนี้นี่เอง

อย่างที่บอกครับเรื่องของเจ้าพ่อแฟรนไชส์อย่างแมคโดนัลด์เขียนตอนเดียวคงไม่สนุก

ครั้งหน้าผมจะมาเล่าถึงผู้ให้กำเนิดแมคโดนัลด์ต่อนะครับ

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ