เงินไม่ใช่ปัญหาในครั้งแรกแต่ที่สำคัญคือจะเอาอย่างไรในอนาคต ที่จะเดินตามความคิดที่จะสร้างร้านอย่างแมคโดนัลด์ให้เติบโตกลายเป็นร้านระดับโลกให้ได้ ความเชื่อมั่นในระบบแฟรนไชส์ที่เรย์ประกาศว่า ระบบแฟรนไชส์ของแมคนั้นเป็นระบบใหม่ แนวคิดการบริหารใหม่ ที่ตั้งใจสร้างให้ผู้ร่วมธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง เรย์กล่าวท่ามกลางผู้คนในการเปิดตัวระบบ
แฟรนไชส์ เขาว่า
“ธุรกิจแมคโดนัลด์ จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อแฟรนไชส์ซีประสบความสำเร็จ”
แฟรนไชส์ซีต้องมาก่อนบริษัทเสมอ อย่างนี้แหละครับกระบวนการบริหารของแมคจึงเน้นการสร้างนักธุรกิจในนามแมคอย่างพิถีพิถันและเอาใจใส่ต่อเนื่อง ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการขายระบบธุรกิจไม่ใช่การขายสินค้าหรือเน้นแค่ขายแฟรนไชส์ได้ก็จบ แบบส่วนใหญ่ที่เป็น การขายแฟรนไชส์ของเรย์ในระยะแรกๆ นั้นก็ไม่ใช่กินกล้วยเหมือนตอนนี้ สมัยนั้นค่าแฟรนไชส์แมคถูกจริงครับ เขาเสนอค่าแฟรนไชส์แรกเข้าเพียง 950 เหรียญสหรัฐเท่านั้น แต่ไปเน้นที่จะทำให้แฟรนไชส์ซีขายสินค้าได้มากที่สุดแล้วปันส่วนจากการขายมาสร้างธุรกิจต่อเนื่อง การขยายธุรกิจแฟรนไชส์ของเรย์นั้นยิ่งนานยิ่งดีขึ้น ปัญหาที่เกิดกับสองพี่น้องที่เป็นเจ้าของตราสินค้าและเป็นผู้ก่อตั้งนั่นแหละครับที่ต้องแก้ก่อนเรื่องจะบานปลาย
อย่างที่เล่ามาแล้วว่า เรย์ นั้นเสนอสัดส่วนจากยอดขายให้สองคนพี่น้องเมื่อเกิดปัญหาการขายสิทธิ์ให้คนอื่นเรย์ก็เลยเจรจาขอซื้อสิทธิ์ ในการใช้ชื่อและตราสัญลักษณ์ โดยไม่เอาร้านที่เบอร์นาดิโน ในที่สุดราคาของสิทธ์ในการใช้ตราแมคโดนัลด์ก็เกิดขึ้นครั้งแรกด้วยเงื่อนไข เงินสด 2.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นมูลค่าก็คงไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทในตอนนี้ แล้วสำคัญมีเวลาจำกัดและต้องเป็นเงินสดๆ เท่านั้น ผมเห็นความเป็นอัจฉริยะในการขายสุดๆ ก็ตรงนี้แหละครับ ผู้ที่จะเป็นเถ้าแก่ที่แท้จริงในธุรกิจนั้นการหาเงินทุนคือ ความสามารถที่ต้องมีให้ได้ ใครหาเงินทุนไม่เป็นก็ถือว่า ราศีเถ้าแก่ยังไม่เกิดครับ เรย์ ทุ่มขายความคิดตัวเองเท่าที่จะทำได้ในการหาเงินมาจ่ายคู่อริที่เคยเป็นคู่ค้า หุ้นส่วนกันมากก่อนนั่นแหละ ดอกเบี้ยเงินด่วนนั้นรีดกันเลือกซิบๆ ครับ ในปี 1961 แมคโดนัลด์ก็กลายเป็นสิทธิของ เรย์ คอร์ค วันที่เรย์ตัดสินใจนั้นเป็นวันที่ยิ่งใหญ่และกลายเป็นประวัติศาสตร์ของโลกธุรกิจ ต้นทุนการคิดใหญ่คราวนั้นกว่าเรย์จะใช้หนี้ได้หมดคิดเป็นเงินต้นทบดอกเขาต้องจ่ายไปถึง 14 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าเงินต้นถึง 4 เท่าตัว เป็นเงินไทยก็ตกราว 560 ล้านบาท แต่ถ้าถามว่าราคาของตราแมคโดนัลด์วันนี้มูลค่าเท่าไรก็คงตอบยากกว่า แต่ที่แน่ๆ คงสูงกว่าราคาตอนที่ซื้อมาหลายสิบเท่าตัว
มีใครยกมือขึ้นถามครับ เขาอยากรู้ว่าเงินตั้งมากมายนั้นเรย์ใช้อะไรเป็นตัวตัดสินใจในการซื้อ
อย่างนี้ต้องหันไปดูการดำเนินการของแมคก่อนช่วงปี 1961 เสียหน่อยว่าเรย์ทำอะไรไปบ้าง วันที่มีการตกลงให้เรย์ กลายเป็นแฟรนไชส์เอเจนท์ มีหน้าที่ขายแฟรนไชส์แทนสองพี่น้องนั้นก็ตกราวปี 1954 จากวันนั้นเรย์ ก็ลุยเปิดแฟรนไชส์ วันแรกเขาเปิดร้านที่ชิคาโกบ้านตัวเอง วันแรกนั้นเป็นวันที่มีฝนตก หาตะไคร้มาปักไม่ทัน ฤกษ์เปิดร้านมากับฝน ฝนเมืองนอกนั้นมันไม่เปียกอย่างเดียวมันหนาวด้วยครับ ขายของได้แค่ 366 เหรียญกับอีก 12 เซ็นต์ ดอลลาห์สหรัฐ หรือ หมื่นกว่าบาท วันนั้นเล่นเอาเรย์ หายใจไม่ค่อยทั่วท้อง ยอดขายแค่นั้นถ้าเป็นอย่างนี้ต่อเนื่องก็ต้องม้วนเสื่อโรงเรียนมะกัน แต่ความเป็นนักสู้ก็สู้กันต่อไป ในที่สุดด้วยแนวคิดมาตรฐานของร้านสามารถสร้างให้ร้านเป็นที่นิยมในปี 1957 นั้นเรย์บอกว่าขายแฮมเบอร์เกอร์ครบ 100 ล้านชิ้นเป็นตัวเลขที่สูงมากเป็นประวัติการณ์ของธุรกิจอาหาร และจากปี 1954 มาถึงปี 1961 มีร้านแมคไม่น้อยกว่า 200 สาขาเข้าไปแล้ว มีสมุดบันทึกของแมคที่บอกว่าเขาขายแฮมเบอร์เกอร์ไปแล้วไม่น้อยกว่า 500 ล้านชิ้น ดังนั้นวันที่ตัดสินใจในการซื้อชื่อร้านมาเป็นของตัวเอง เรย์ ก็น่าจะมีเหตุผลบ้าง ไม่ใช่อาศัยลูกบ้าเที่ยวล่าสุดเป็นที่ตั้ง
“Go for Goodness at McDonald” นี่คือสโลแกนที่ผมชอบมากที่สุดตั้งมีแมคโดนัลด์มาเลยก็ว่าได้ มันให้อารมณ์ที่กลั่นมาจากเรย์ได้อย่างดี ความเป็นสุดยอดของคนเจ้าระเบียบได้สร้างมหาวิทยาลัยทางอาชีพให้กับธุรกิจของตนเองเป็นเครื่องบ่งบอก แนวความคิดที่เป็นสุดยอดทีเดียว ในโลกนี้ถ้าจะมีคนคิดเรื่องการสร้างสถาบันเพื่อการสร้างคนสุดยอดเข้ามาทำงานของธุรกิจตัวเองในยุคนั้นมีสองคนเท่านั้น คือ เรย์ และ ดิสนีย์เพื่อนเก่า ที่สร้างมหาวิทยาลัยเพื่อการอบรมทีมงานของ วอลท์ ดิสนีย์ เรย์สร้างมหาวิทยาลัยแฮมเบอร์เกอร์ ได้สำเร็จในปี 1961 ในปีที่ตัวเองซื้อสิทธิในตราของแมคมานั่นเอง วันนี้ถ้าใครต้องการเป็น แฟรนไชส์ซีของแมคจะต้องผ่านการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ไม่น้อยกว่า 18 เดือน จึงจะเรียกได้ว่าจบการศึกษาจาก H.U. จริง ไม่นับพวกที่แค่ไปแตะๆ 5 วัน 10 วัน หรือไปเรียนเรื่องอื่นๆ ซักกะหน่อยแล้วก็กลับนะครับ เพราะการเรียนใน H.U.นั้นเข้มข้นกว่าที่คิดมาก
ก่อนที่วีรบุรุษแห่งแฟรนไชส์จะล้มลงในเดือนมกราคมวันที่ 14 ปี 1984 นั้น เรย์สร้างความยิ่งใหญ่ไว้มากต่อมากแค่ในปี 1980 แมคโดนัลด์นั้นกลายเป็นบริษัทอาหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก เขากลายเป็นอภิมหาเศรษฐีที่ใครก็ต้องพูดถึง มีข่าวลือเรื่องเขามากมาย แม้กระทั่งการบริจาคเงินถึง 250,000 เหรียญสหรัฐ ให้กับประธานาธิบดีนิกสัน เพื่อการหาเสียง เขากลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่สามารถผลักดันการแก้กฎหมายแรงงานของสหรัฐได้ ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตด้วยวัย 81 ปี นั้นยังลงทุนซื้อทีมเบสบอล เอาไว้ดูเล่นเสียอีก คงไม่มีอะไรที่เรย์ไม่เคยทำในชีวิตของเขาอีกแล้ว ชีวิตรักกับภรรยาคนเดียวที่ชื่อ Atel อยู่มาจนตายจากกันและมาแต่งงานใหม่อีกครั้งกับ Jones Smith ก็ตกเข้าไป 70 ปีแล้วเป็นที่ฮือฮากันทีเดียว แล้วที่สุดก็ต้องปิดฉากลง คนที่ผ่านมาหลากชีวิต ขึ้นและลงที่ไม่สามารถหาใครเสมอเหมือนได้อีกแล้ว ผู้ที่สร้างตำนานแฟรนไชส์ที่ยิ่งใหญ่ ปิดจบลงด้วยตัวเลขเงินสดในบัญชี 500 กว่าล้านเหรียญสหรัฐ
…… แล้วมาต่อเรื่องการตลาดของแมคโดนัลด์ในคราวหน้า…..นู้นแล้วกันครับ
ดร.พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์