MD ไม่ใช่คำตอบ ครีเอทีฟโฆษณาไม่ตรงเป้าหมาย สู่วิถีชาวไร่ออแกนิกไฮโซ “จอน นอน ไร่”

Nanyarath Niyompong

การตลาดในแบบของผม คือ ฟาร์มมิ่ง (Farming) + มาร์เก็ตติ้ง (Marketing) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในหลวงของเราท่านทรงสอนเราเป็นอัตโนมัติอยู่แล้ว นั่นคือเศรษฐกิจพอเพียง ผมทำ เท่าที่ผมควบคุมมันได้ ถ้าเราควบคุมไม่ได้ เราจะขยายต่อไม่ได้

…หนึ่งในโอกาสที่ดีของนักเขียนธรรมดาๆ นั่นคือการได้พูดคุย สัมภาษณ์ ถามคำถามที่อยากรู้กับคนที่มีวิถีธรรมชาติแท้ๆ แบบที่น้อยคนนักจะมี อีกทั้งมีโอกาสดีที่ได้ยืนในจุดสูงสุด แต่กลับเลือกทำสิ่งที่ใช่ ตรงตามความต้องการ อย่างมีสไตล์ตัวเองมากกว่า  เรากำลังพูดถึง “พี่จอน”เจ้าของฟาร์มออแกนิก จอน นอน ไร่ ที่นิยามตัวเองว่าเป็นฟาร์มแบบเอเลี่ยนสไตล์ ถ้าไม่แปลก…ผมไม่ปลูก

เริ่ม……..

ทำไม จอน ต้อง “นอนไร่”

พี่จอน เล่าย้อนถึงที่มาที่ไป ก่อนจะเป็น จอน นอน ไร่ แบบทุกวันนี้ให้ฟังว่า “….ย้อนไปไกลเลย เมื่อประมาณ 30 ที่ผ่านมา ผมเรียนด้านดีไซน์ จบจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็เริ่มชีวิตทำงานด้านออกแบบ ทำโฆษณา บริษัทใหญ่ๆ ผมอยู่มาเกือบหมด ถ้าให้ยกตัวอย่างก็มี Matchbox, Leo burnett เป็นต้น ผมก็เป็นไปเรื่อยทั้งอินทีเรีย ดีไซน์ ครีเอทีฟ อาร์ตไดเร็คเตอร์ ช่างภาพก็ยังเป็นเพราะผมชอบถ่ายภาพ งานศิลปะผมทำได้หมด แต่พอมาถึงจุดๆ หนึ่ง “ผมก็ไม่อยากทำมันซะดื้อๆ”

….จริงๆ มันมีสาเหตุ คือผมอยู่ในวงการโฆษณามา 30 ปี จนวันหนึ่ง เราก็มีหน้าที่ต้องรับงานบริหาร ในระดับ MD (Managing Director)  นี่แหล่ะที่เป็นจุดเปลี่ยน ผมค้นพบว่างานบริหารมันไม่ใช่ผม เพราะมันต้องบริหารจัดการ แต่ผมเป็นครีเอทีฟ แรกๆ ผมคิดว่าคำว่า Creative Design มันแก้ไขทุกอย่างได้หมด แต่นี่คือชีวิตจริง มุมมองของผมมันไม่ได้ เมื่อมันไม่ได้ ผมก็จะเป็นคนที่ชัดเจนมาก คือถ้าไม่ใช่ ก็เลิกเลย อะไรก็ตามบนโลกใบนี้ ถ้าสนุก…ผมทำ ถ้าไม่สนุก…ผมเลิก

จุดเปลี่ยน……

….พอไม่ทำงาน ปรากฏว่า ผมมีเวลากับชีวิตมากขึ้น ผมมาเปิดบริษัทเล็กๆ ของตัวเอง ที่ไม่ต้องใช้การบริหารจัดการอะไรเยอะแยะ ผมสนุกกับมันจนลืมเวลา เพราะทุกอย่างเราทำมันได้หมดทั้ง Proceed ตั้งแต่ Advertising, Copywriter, ช่างภาพ ทำแบบง่ายๆ จนมาคิดได้ว่า นี่เราสนุกเกินไปหรือเปล่า คนเราควรมีชัตเตอร์ใหม่ๆ จนมาคิดได้ว่า นี่เราสนุกเกินไปหรือเปล่า ทุกอย่างมีจุกหักของมัน พอคิดได้ ผมทำเลย ไม่เสียเวลาลำพวย

แปลงผัก…..

อาชีพปลูกผัก เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ เพราะจากที่ผมทำบริษัทเล็กๆ มันทำให้เราออกแบบชีวิตได้ เราก็ออกเดินทาง ไปเที่ยว ไปถ่ายรูป เพราะผมมีความสุขเวลาที่ได้ถ่ายรูป ผมเริ่มดีไซน์แผนผังการเดินทางถ่ายรูปของตัวเอง ผมไปเรื่อยๆ เพราะตั้งใจจะไปให้ครบ76 จังหวัด พอไปได้ถึงจังหวัดที่ 72 นี่แหล่ะที่ทำให้ชีวิตผมเปลี่ยน

ผมได้ตื่นตี 5 มาเห็นความงดงามของธรรมชาติ บางอย่างเราไม่เคยเห็น เป็นวิถี เป็น Citylife อีกแบบหนึ่งเลย ได้เดินตลาดเช้า มันสนุก ผมชอบความสนุก ได้เห็นไร่นาของชาวบ้าน เห็นคนปลูกต้นไม้ เป็นการค้นพบ (Discover) ที่เราไม่รู้ตัวเลย มันทำให้เราเข้าถึง รู้จักตัวเอง

วิถีออแกนิก…..

ผมเป็นคนช่างสังเกต ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ …ผมไม่ชอบอะไรก็ตามที่เป็นสารเคมี แต่ผมจะเข้าไปดูฝั่งที่ใช้สารเคมี กับฝั่งที่ไม่ใช้ แล้วเอาผลที่ได้มาเปรียบเทียบกัน เก็บข้อมูล ศึกษามัน ผมคิดว่า ผมเป็นนักทดลอง ไม่ใช่เกษตรกร เพราะผมจะลองทำทุกอย่างให้เหมือนงานทดลอง ถ้าผมได้คำตอบ เมื่อรู้คำตอบผมจะแหกกฎของมัน

ผมตั้งคำถามกับทุกๆ สิ่งตามทฤษฎี Who, What,  When, where, why ทำให้เป็นระบบ เป็นกระบวนการ แล้วเอาระบบที่คิดมาทำ ของที่ผมปลูก ต้องแปลก ไม่แปลกผมไม่ทำ อ่อ แต่มีสิ่งที่ผมปลูกซ้ำกับของที่มีในตลาดอยู่แล้วเหมือนกันนะ  คือ กะหล่ำปลี กับมะเขือเทศ เพราะผมจะปลูกสิ่งที่ผมชอบกิน ถ้าเราชอบมันจะมีแรงขับ ไม่สนใจเรื่องอื่นๆ เชื่อไหมว่า ตามท้องตลาดหรือที่ขายในห้างก็ตาม 95% ใช้สารเคมี โดยเฉพาะ กะหล่ำปลี สูงมาก ผมเลยปลูกมันขึ้นมาแบบ “ออแกนิก”

ประเทศเรา มีจุดอ่อนอย่างหนึ่งที่ผมเชื่อคือ เราไม่สอนให้คนตั้งคำถาม แต่จะเป็นการ ว่าตามกัน ผลเสียคือ เราไม่มีคำถามใหม่ๆ เกิดขึ้น คำว่า ออแกนิก แปลว่า วิธีการ นักวิจัยไม่ผิดที่คิดค้นสูตรใดๆ ก็ตามขึ้นมามากมาย แต่จริงๆ มันมีรากฐานมาจากที่เดียวกัน

ขาย อยู่ได้ พอเพียง

การตลาดในแบบของผม คือ ฟาร์มมิ่ง (Farming) + มาร์เก็ตติ้ง (Marketing) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในหลวงของเราท่านทรงสอนเราเป็นอัตโนมัติอยู่แล้ว นั่นคือเศรษฐกิจพอเพียง ผมทำ เท่าที่ผมควบคุมมันได้ ถ้าเราควบคุมไม่ได้ เราจะขยายต่อไม่ได้ ผมมีแปลงผัก 1 ไร่ ที่จังหวัดนครราชสีมา ตอนนี้จาก 1 ไร่ ผมมีเพิ่มเป็น 5 ไร่ แต่ไม่ได้แปลว่าผมต้องปลูกผักครบทั้ง 5 ไร่ “ผมแค่ปลูกผักให้เพื่อนกิน” เอาเท่าที่เราไหว

ผมมีเฟซบุ๊ก ผมจะโพสต์ว่า “ใครจะกินผักอะไร” ผมก็จะปลูกอันนั้น แค่นั้น วิธีคิดของผมคือ ทุกคนคือเพื่อนกัน

ผมจะเล่าเรื่องลุงลาน

ลุงลาน เป็นชาวโคราช ที่มีแปลงผักที่ใหญ่มาก คือแครอท ลุงลานปลูกแครอทได้ดีอยู่แล้วในพันธุ์สีส้ม  ผมก็คุยกับลุงลานว่า ผมจะปลูกแครอทสีเหลืองกับสีม่วง ในตลาดก็จะมีแครอท 3 สี คือ สีส้ม สีม่วง และสีเหลือง เป็นเกษตรกรแบบช่วยเหลือกัน

ไม่แปลก…ไม่ปลูก

ผมปลูกผักกาดขาวญี่ปุ่น ผมชอบอาหารญี่ปุ่น เป็นสายพันธุ์ที่อร่อย พออร่อย Value (มูลค่า) ก็เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่าง ร้านจิ้มจุ่มแห่งหนึ่งอยากได้ผักในไร่ของผม ผมก็ปลูกให้ คื่นฉ่ายญี่ปุ่น, ต้นหอมญี่ปุ่น เป็นต้น ด้วยรสชาติที่อร่อย พอร้านเอาไปขาย เค้าก็ได้มูลค่าเพิ่มขึ้น แต่ผมทำแค่โมเดลเล็กๆ ให้ควบคุมได้ เพราะผมไม่ต้องการให้มันมีจนล้น …แปลงผักผมต้องสวย เพราะผมเป็นดีไซเนอร์ ไร่จอน นอน ไร่ ต้องวาไรตี้ ต้องสีสวยงาม ที่สำคัญคือไร่ของผมช่วยให้คนไม่ต้องกินสารเคมี

ผมเปรียบตัวเองเป็นเอเลี่ยน ผมจะปลูกแต่ของแปลก แปลกๆ หมดเลย ผมไม่สนใจว่ามันจะปลูกได้หรือไม่ได้ เพราะถ้าไม่ได้ต้องเอามาหาคำตอบว่าเพราะอะไร ทำไมไม่ได้ ความล้มเหลวทำให้เราหาคำตอบ

มีร้านอาหารฝรั่งมาติดต่อขอซื้อผัก ผมบอกเค้าว่า “คุณต้องไม่ถามว่า ผมมีผักอะไร แต่คุณต้องบอกผมมาว่าคุณจะเอาผักอะไร” แล้วผมจะปลูกให้

ปัจจุบัน คนสนใจมาดูแปลกผักที่ไร่ของผม ผมไม่เชื่อว่าเค้ามาดูแปลงผักธรรมดา เค้ามาดูของแปลก อย่างมะเขือเทศเชอรี่ญี่ปุ่น ของแปลกๆ ผักแปลกๆ ในไร่ มาด้วยความตื่นเต้น  ตอนนี้ Main Business คือ กะหล่ำปลี กับ มะเขือเทศ แล้วเราก็เริ่มเอามาแปรรูปเป็นแบรนด์จอน นอน ไร่ เราทำน้ำพริกกระป๋อง ทำกิมจิจากผัดกาด หัวไชเท้าที่เราปลูกเอง “เอาไอเดียมาไดร์ฟธุรกิจ”

ทิ้งท้าย….

ผมใช้วิถีที่เคยทำงานโฆษณา มาอยู่ในวิถีที่เป็นออแกนิก อะไรที่โลกชอบแล้วเราชอบ มันจะสนุกและเวิร์กมากๆ…ขณะเดียวกัน เราก็ต้องอยู่บนโลกให้ได้ด้วย

เป็นการจบการสนทนา ด้วยสภาวะเงื่อนไขของเวลาและหน้าที่ ที่บังคับ แต่เชื่อเถอะว่าตัวตน ที่สะท้อนความเป็นจอน นอน ไร่ ท่ามกลางไร่ออแกนิกแท้ๆ ยังมีอะไรที่ให้เราค้นหาได้อีกมากมาย…โดยเฉพาะของแปลกๆ ในไร่พื้นที่ไม่ใหญ่ แต่ปลูกเมื่อไหร่ ก็ว้าวว……ทุกที

Special Thanks : FB จอน นอน ไร่

 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ