ช่วง 2 ถึง 3 ปีที่ผ่านมาเมืองไทยพูดถึงเรื่อง AEC หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกันเยอะ มีคนพูดถึงโอกาส และตัวเลขความเป็นไปได้ต่างๆ มากมาย ไม่รู้จบ ผมก็ว่าน่าสนใจดีครับ แต่คิดไปคิดมาตามประสาคนเดินทางที่เดินทางในประเทศแถบนี้เป็นประจำ ก็เลยอยากจะเสริมเพิ่มประเด็นอีกในเรื่องอื่นๆ ลำพังตัวเลขอย่างเดียว มันไม่เห็นภาพสถานการณ์ที่เป็นจริงในภาคสนาม
คอลัมน์นี้ก็คงจะเป็นจุดเริ่มต้นชุดบทความเรื่องเพื่อนบ้าน AEC เรา ที่จะเขียนให้กับทาง SmartSME ก็คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ทางธุรกิจขนาดเล็กและขนาดใหญ่ในบ้านเราที่จะรู้จักเข้าใจและมองเห็นช่องทางในการเจาะตลาดทำมาค้าขายทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านเราที่เป็นตลาดใหญ่และกำลังเติบโต ประชากรเวียดนามก็มี 89 ล้านคนในปัจจุบัน มากกว่าประเทศไทยเลยด้วยซ้ำ
อย่ามองผมเป็นนักวิชาการ หรือนักเขียน เป็นนักเดินทางภาคสนามดีกว่า เพราะเวลาอ่านงานเขียนของผมอยากให้ดูที่ภาพมากกว่า เพราะเป็นภาพที่ถ่ายมาจากสถานที่จริงในประเทศเพื่อนบ้านเราจริงๆ อย่างที่เขาบอกว่าภาพภาพเดียวแทนคําพูดนับพันตัวอย่างที่เห็นครับ
ให้ภาพเล่าเรื่องกัน เรื่องตัวเลข การวิเคราะห์อะไรต่างๆ ก็คงให้เป็นเรื่องของนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป เอาภาพจากสนามการค้าจริงๆ มาแชร์ ให้ชมกันจะดีกว่าจะได้ฉีกแนวจากงานเขียนวิชาการ
ชิ้นแรกก็อยากจะเขียนถึง “เวียดนาม” ก่อนเพราะเป็นประเทศที่คุ้นเคยดีและผมพอจะสื่อสารภาษาเวียดนามได้ไม่ได้เรียนมาจากไหนก็อาศัยว่าเดินทางทำเว็บท่องเที่ยวกับแชนแนล Youtube ไปบ่อยจนพอพูดได้บ้าง
แต่น่าเสียดายที่ ดูเหมือนคนไทยจะไม่ค่อยรู้จักเวียดนามเท่าไหร่ในขณะที่คนเวียดจะรู้จักคนไทยมากกว่าเยอะ ถ้าไม่รู้เขารู้เราแล้วจะรบชนะในศึกการค้าได้อย่างไร
ทุกวันนี้ ทั้งสองประเทศมีมูลค่าค้าขายกันปีละกว่าสามแสนล้านบาท ไทยกับเวียดนามเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีอะไรคล้ายกันหลายอย่าง อาหารการกินก็เรียกว่าต่างกันไม่มาก พวกเครื่องปรุงส่วนผลมหลัก กะปิ ปลาร้า น้ำปลาเวียดนามก็มีหมด ช่องทางที่เอกชนไทยทั้งรายใหญ่และรายเล็กจะรุกเปิดตลาดเวียดนามยังมีอีกเยอะ โดยเฉพาะยิ่งในตอนนี้ เศรษฐกิจเวียดนามกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว คนมีกำลังซื้อ ตลาดของกิน ตลาดอาหารก็ขยายตัว
วันนี้พามาเที่ยว แวะดูชั้นวางของซุปเปอร์มาร์เก็ตเวียดนามครับ ทั้งที่อยู่ในห้างหรูอย่างในห้างล็อตเต้ ที่กลุ่มทุนเกาหลีเข้าไปเปิดในฮานอยและหลายเมืองของเวียดนาม ไปจนถึงที่เขาวางขายกันทั่วไป เอาแบบเบสิคมาดูว่า เขามี สินค้าไทย ผลิตภัณฑ์จากไทยอะไรไปขายกันบ้าง ก็มีหลายอย่างที่ได้รับความนิยม บางอย่างก็เพิ่งเริ่มบุกตลาด
สินค้าไทยบางอย่างเข้าไปในทุกตลาดชาติอาเซียน เป็นปกติ อย่าง กระทิงแดง ถั่วโก๋แก่ และที่หลายคนอาจจะไม่เชื่อคือ “สาหร่ายเถ้าแก่น้อย” ที่รายนี้มาแรงเจาะไปทุกตลาด AEC ได้อย่างไม่น่าเชื่อ รวมทั้งที่เวียดนามนี่ด้วย
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่างพวกแบรนด์มาม่า พวกนี้ก็ได้รับความนิยมมานาน แต่ยังไม่ถึงกับว่า ชอบมากจนตีแบรนด์ท้องถิ่นได้ อย่างในลาวหรือพม่าที่สองประเทศนั้นมีเวอร์ชั่นส่งออกโดยเฉพาะ หรือย้ายฐานการผลิตเข้าไปในประเทศนั้นเลยอย่างที่เกิดในพม่า (เดี๋ยวเอาไว้เล่าให้ฟังอีกที)
ที่น่าสนใจและได้รับความนิยม อีกอย่างก็คืออาหารกระป๋อง ปลากระป๋องนี่ชอบกันอันดับหนึ่ง พวกน้ำกะทิกระป๋องและอาหารผลไม้กระป๋องบางอย่าง ที่ถึงแม้มีแบรนด์ของเวียดนามทำขายแข่ง แต่สินค้าไทยก็สู้ได้
สินค้าไทยในเวียดนามยังมีโอกาสเติบโตอีกเยอะครับ เพราะความชอบพอกับผลไม้ไทย และอาหารไทยเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างรสต้มยำ ที่กำลังบูม ขนมของกินเล่นน่าจะเอามาลองตลาดกันดูบ้าง
อย่างไรก็ตาม ตลาดเวียดนามยังมีความต่างระหว่างภาคและเมืองสูง เพราะว่า จากเหนือจดใต้มีความยาวมาก สภาพภูมิอากาศและผู้คนต่างกัน รสนิยมเรื่องรสชาติหลายอย่างก็ต่างกัน บางเมืองจะชอบสินค้าไทยมาก บางเมืองชอบเป็นอย่างๆ ไป
แต่ถ้าใครมีโอกาส ไปดูลู่ทางค้าขายเวียดนามแนะนำว่าให้ ไปเดินดูให้ทั่ว นั่งรถเมล์ ขี่มอเตอร์ไซค์ เดินซุปเปอร์มาร์เก็ตเข้าร้านสะดวกซื้อ ดูตามร้านโชห่วยขายของข้างทาง แล้วจะเห็นภาพของตลาดครับ
ใครที่ยังไม่มีโอกาสไป มาอุ่นเครื่องด้วยการชมภาพด้านล่างนี้ส่วนใหญ่ จะถ่ายมาเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2559 นี้เอง แต่ก็มีบางภาพที่ถ่ายก่อนหน้านั้น เวลาไปเจอสินค้าไทยวางขายในต่างแดนเห็นแล้วก็ดีใจบอกไม่ถูกเลยครับ
สำหรับราคาสินค้าอัตราแลกเปลี่ยนเงินด่องเวียดนามเทียบง่ายๆ จะอยู่ราว 1 หมื่นด่อง เท่ากับ สิบห้าถึงสิบหกบาทไทยครับ
บางมุมของซุปเปอร์มาร์เก็ตเวียดนาม จะมีสินค้าไทยวางมากจนดูเผลอๆ อาจจะนึกว่าอยู่เมืองไทย แต่ถ้าดูฉากหลังจะเห็นว่าขวดไวน์ วางตั้งเรียงราย แบบนี้ไม่ใช่เมืองไทยแน่นอน
“หมี่มามาแฮว” หรือบะหมี่มาม่าบิ๊กหมูสับ ราคาซองละ 9,900 ด่อง ได้รับความนิยมเป็นอย่างดี คนเวียดคงซื้อไปเยอะ จนชั้นวางพร่อง
ปลาหมึกเบนโตะ ขนมสแน็กทานเล่นจากเมืองไทยวางไปขายแข่งปลาหมึกบดย่างของ เจ้าถิ่น หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าคำว่า “หมึก” ภาษาไทยกับภาษาเวียดนามเรียกเหมือนกัน ออกเสียงเหมือนกันว่า “หมึก” ครับ
ค่ายกะทิชาวเกาะ ที่มี การเจาะตลาด ลงเชลฟ์วางสินค้าเวียดนามอยู่แล้วด้วย ผลิตภัณฑ์น้ำกะทิ ก็มีการ เอาลำไยในน้ำเชื่อมไปขายในเวียดนามด้วยครับ ตีแบรนด์ชาวเกาะเลย ราคา 51600 ด่อง
อาหารประเภทต้มยำก็เริ่มได้รับความนิยม อันนี้เป็นของตราแม่พลอย ทำเป็นเครื่องต้มยำสำเร็จรูป มีขายทั้งแบบซองราคา 13500 ด่องและแบบกระปุกราคา 76000 ด่อง ไว้ขายแม่บ้านเวียด
ของที่ต้องแช่เย็นก็มี เอาไปขายในซุปเปอร์มาเก็ตเวียดนามครับ อย่างนมเปรี้ยวบีทาเก้น อันนี้ที่ ห้างลอตเต้ ฮานอย แสดงว่าโลจิสติกส์การขนส่งสินค้าจากไทยไปเวียดนามซับซ้อนน่าสนใจ
มาดูค่ายไวไว ก็มีขายครับ ซองละ 7,200 ด่อง (ถูกกว่ามาม่าเพราะอันนี้ไซส์ธรรมดา ไม่ใช่ไซส์บิ๊ก) ถ่ายจากห้างฟีว่ามาร์ต มีทั้งรสหมูสับและ ไวไว แบบเจ ตลาดอาหารเจเวียดนามน่าสนใจครับ เพราะว่ามีคนเวียดนามกินเจกันเยอะ โดยเฉพาะทางภาคใต้
พูดเรื่องปลากระป๋องอย่างตราสามแม่ครัวเป็นปลากระป๋องอันดับ 1 ของเวียดนาม ดูเหมือนจะมีการทำเลียนแบบด้วย เพราะผมเจอทั้งแบบผลิตในไทยและ ผลิตในเวียดนามซึ่งไม่แน่ใจว่าได้ license หรือเปล่า เรื่องนี้คงต้องตามต่อ แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีไหน สะท้อนให้เห็นความนิยมของแบรนด์ที่มีชื่อสินค้าไทยโดยเฉพาะในเรื่องปลากระป๋อง
ปลากระป๋องซีคราวน์เวอร์ชั่นขายเวียดนาม สังเกตว่า ถึงแม้ จะมีการตั้งใจทำขายเวียดนาม มีการทำชื่อภาษาเวียดนามและบรรยายส่วนประกอบเป็นภาษาเวียดนาม แต่ว่า หน้าฉลากกระป๋องหลักยังใช้ภาษาไทยตัวอักษรไทยพิมพ์เด่นกว่า แสดงรสนิยมผู้บริโภคปลากระป๋องเวียดนาม ยังให้ความเชื่อถือกับแบรนด์ไทย
แบรนด์ไทยแต่ ใช้ชื่อ Aroy-D อร่อยดี เป็นลำไยกระป๋อง สังเกตว่ามีตัวอักษรไทยด้วย
น้ำผลไม้ทิปโก้ เจ้าเก่าจากไทย มีขายหลายรส ในเวียดนาม เป็นเวอร์ชั่นไทยล้วนๆ ไม่มีเวียดนาม
สินค้าตามร้านต่างจังหวัดเวียดนาม มีขายหลายอย่าง แกะกล่องกับพื้นแต่ให้สังเกตุ ขนมขาไก่กรุบกรอบ ตราโลตัส สินค้าไทยที่ได้รับความนิยมในเวียดนาม
ข้าวเกรียบฮานามิและข้าวเกรียบรวยเพื่อน ขายตามร้านสะดวกซื้อ ในเมืองใหญ่
ไส้กรอกตราCP ซีพี หรือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มทุนไทย ที่ขยายกิจการไปทั่วโลก มีกิจการอยู่ในเวียดนาม ยังไม่ถึงเป็นแบรนด์นำตลาด แต่ก็มีสินค้าไส้กรอกแฮม หมูยอและแหนม ขายในเวียดนาม
ไวไวรสหมูสับ
ห้างลอตเต้มาร์ตก็มีสินค้าไทยวางขายอยู่หลายอย่าง