ก๊อปปี้อย่างไรให้รุ่ง

พัทธนันท์ มหาพิรุณ

ว่าด้วยเรื่องการ “ลอกเลียนแบบสินค้าคนอื่น” ทำอย่างไรให้มี “กึ๋น” และถ้าทำให้ดีจริงๆ เราจะสร้างตัวตนจากการเลียนแบบเหล่านั้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ

สิ่งที่เราต้องยอมรับ ในช่วงที่ใครๆ ก็หาสามารถหาสินค้าได้ใน google, application หรือแม้แต่ร้านค้าออนไลน์สำเนียงอินเดียที่บริหารโดยคนจีนก็ตาม สินค้าหลากหลายล้านแบบถูกโชว์ให้เราได้พบเห็นทุกวัน คือถ้าไม่ใช่สินค้านวัตกรรมทางเทคโนโลยีจริงๆ ของทุกอย่างก็แทบจะเหมือนๆ กันหมด

เพราะคนไทย “บางกลุ่ม” เป็นนักธุรกิจที่มีนิสัย “ชอบตามเทรนด์ และก๊อปปี้เทรนด์” เหล่านั้นมาวางขายแข่งกับเวลา แต่ท้ายที่สุดแล้วคนเหล่านี้ก็จะต้องมีของจากเทรนด์เก่าคงค้างบ้างตามการบริหารจัดการสต๊อค ไม่ก็ต้องวิ่งลดราคาขายทิ้ง แล้วหอบเงินทุนไปวิ่งไล่ตามเทรนด์อื่นต่อไป เป็นวงจรชีวิตที่บอกไม่ถูกจริงๆ

มีเหมือนกันค่ะ คนที่ก๊อปปี้แต่รุ่ง บางรายรุ่งกว่าต้นแบบด้วยซ้ำ จีนมีเคสตัวอย่าง ไม่นานมานี้จีนได้มีโอกาสไปคุมการถ่ายทำสกู๊ปรายการ SME Smart Service ช่วงของภารกิจพิชิตความรวย กับธุรกิจชื่อ Floral Me วุ้นดอกไม้แสนสวย กับ คุณสายทิพย์ ศุภโกวิท หรือ ครูเล็ก ค่ะ

ช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ครูเล็กพูดอย่างจริงใจว่า เราไม่ใช่คนแรกที่ทำสิ่งนี้ขึ้นมา แต่เราภูมิใจว่าเราไม่ได้ก๊อปปี้เขามาแล้วก็ขายๆไปอย่างนั้น เราก๊อปปี้เพื่อเรียนรู้ให้ได้วิชาในตอนต้น หลังจากนั้นเราก็เอาความรู้ที่มีมาสร้างสิ่งที่สวยงามในแบบที่เราชอบ เราทั้งคิดรูปแบบหัวเข็มเอง เราคิดส่วนผสมของวุ้นและโยเกิร์ตที่ฉีดสีขึ้นมาเองให้มันดีกับสุขภาพ รวมไปถึงรูปทรงใหม่ๆที่สวยงาม จนเราสามารถส่งต่อความรู้สร้างอาชีพให้คนอื่นได้ แม้แต่ต่างชาติก็ยังสนใจติดต่อมาขอเรียนกับเรา นี่คือสิ่งที่เราภูมิใจ

ปัจจุบันวุ้นของครูเล็กไม่ได้มีแค่ลายกุหลาบ แบบที่เหมือนกับในคลิปนั้นแล้ว มีดอกไม้หลากชนิด รวมถึงลวดลายวิจิตร หรือแม้แต่มังกร หรือนกยูงที่สง่าที่ฝังตัวอยู่ในวุ้นใสๆ ก็ยังสวยงามและน่าทึ่ง

ขอทิ้งท้ายตัวอย่างนี้ให้คิดกันต่อ ไม่มีอะไรผิดและถูก อยู่ที่ว่าเราอยากเดินไปข้างหน้าด้วย “ตัวตน” ที่คิดขึ้นมาเอง หรืออยากจะรอทำตามคนอื่นก็แล้วแต่สบายใจ