ทำ 1 นาทีของเราให้เท่ากัน ภาคจบ

พัทธนันท์ มหาพิรุณ

บทความที่แล้วเป็นเหมือนข้อความที่ให้ทุกคนตระหนักว่า จริงๆ แล้วคุณจัดเวลาได้ ในภารกิจมากมาย แม้ว่าเวลาของคุณจะมี (แค่) 24 ชั่วโมง เท่ากันกับคนอื่นๆก็ตาม อ่านเพิ่มย้อนหลังได้ที่ ทำ 1 นาทีของเราให้เท่ากัน ภาค 1

คราวนี้หลายคนคงตั้งต่อรออ่าน ว่าจะเคล็ดลับการจัดการเวลาอะไร ที่ (ยังไม่รู้ ไม่เคยผ่านตา) น่าสนใจอีก

ขอผสมผสานแนวคิดจากกูรูหลายๆ ท่าน และจากประสบการณ์ตรงที่ทดลองมาแล้วว่าจริง

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังเริ่มทำอะไรเกิน 1 อย่าง เช่น เป็นพนักงานออฟฟิศ แล้วจะขายของออนไลน์ เป็นฟรีแลนซ์รับจ๊อบหลายที่แต่อยากเป็นบล๊อกเกอร์รายการท่องเที่ยวด้วย หรืออีกมากมาย สิ่งที่คุณควรเริ่มคือ

1.      ผ่าตัดเวลา 24 ชั่วโมง เอาเวลา 24 ชั่วโมง มาแจกแจงให้เจ้าของเวลาดู (ก็คุณนั่นแหละ!) ว่าจริงๆแล้วคุณต้องทุ่มเทให้กับการทำงานจริงเท่าไร เริ่มจากตัดเวลานอนออกก่อนเลย 8 ชั่วโมง ตัดเวลาเดินทางไป-กลับที่ต่างๆ ตัดเวลากินข้าวเช้า-กลางวัน-เย็นออกไป แล้วมาพิจารณาดูซิว่า เหลือกี่ชั่วโมงที่คุณจะได้ทำงาน และมีกี่ชั่วโมงบ้างที่คุณจะจัดเวลาหาความรู้ธุรกิจ ดูคลิปกูรู หรือหาข้อมูลสินค้าที่จะเอามาขาย ถ้าคุณได้ทำอย่างละเอียดจริงๆ คุณจะรู้เลยว่าที่ผ่านมาคุณใช้เวลาทำงาน (จริงๆ) เท่าไร ใช้เวลาคุ้มค่าหรือไม่ และที่สำคัญคุณจะรู้ว่าเสียเวลาเปล่าประโยชน์ (กับบางกิจกรรมที่ไม่จำเป็น) ไปมากแค่ไหน

2.      วางแผนลงตารางเวลา เรียงกิจกรรมตามกรอบชีวิตประจำวัน ขอยกตัวอย่างกิจกรรมของตัวเอง

งานประจำ : โคโปรดิวเซอร์และพิธีกร       งานเสริม : นักร้อง

9.00-9.30         ลงเสียงรายการ

9.30-10.00       อ่านคอนเทนท์ที่น่าสนใจ และอัพเดทคอนเทนท์ใหม่ลงเพจรายการและพิธีกร

10.00-10.45     แต่งหน้าทำผมเตรียมเข้ารายการสด (พัก 15 นาที ทำสมาธิ ตั้งสติก่อนไลฟ์ Facebook)

11.00-11.30    ไลฟ์ Facebook รายการ SME Smart Service รวบรวมคำถามจากทางบ้านก่อนสัมภาษณ์สดในรายการ

11.30-12.00     พักฟังและซ้อมเพลงใหม่ๆ ที่ต้องใช้งาน 1 เพลง

12.00-12.50     หาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อสัมภาษณ์ในรายการ SME Smart Service

12.50-13.05     เช็คความเรียบร้อยก่อนถ่ายทำรายการ

13.05-14.00     สัมภาษณ์สดในรายการ

14.00-14.30     พักเปลี่ยนเสื้อผ้า บรีฟสคริปเทปต่อไป

14.30-15.30     ถ่ายทำรายการ

15.30-17.30     คุมช่างตัด เก็บตกงานออฟฟิศที่คั่งค้าง

17.30-19.30     เดินทางเข้าเมือง พร้อมฟังเพลงที่ต้องการใช้งาน  >>  กิจกรรมที่ต้องตัดออก

19.30-20.30     พักทานข้าว  >>  กิจกรรมที่ต้องตัดออก

20.30-21.00     พักสายตาเล็กน้อย หรืออาจจะแกะเพลงเพิ่มเติม

21.00-23.00     ร้องเพลง

23.00-00.00     เดินทางกลับบ้านพักผ่อน  >>  กิจกรรมที่ต้องตัดออก

เป็นต้น

3.      ปฏิบัติตามแผนอย่างจริงจัง เป็นการฝึกและสำรวจตัวเองว่า จริงๆแล้วแต่ละกิจกรรมที่คุณทำนั้น มันใช้เวลาตามที่กำหนดจริงหรือไม่ และเราสามารถฝึกตัวเองให้อยู่ในกรอบเวลานั้นได้มากน้อยแค่ไหน การฝึกตัวเองให้มีกำหนดเวลาในทุกๆ กิจกรรม จะทำให้คุณเข้าใจถึงคำว่า มีวินัยในตนเอง เมื่อทำจนเคยชินคุณจะหวงเวลา และจะกลายเป็นนักวางแผนจัดการได้แทบจะทันทีที่มีกิจกรรมใหม่ๆ เข้ามา หากคุณไม่เชื่อ…ต้องลอง !

4.      ทดลองทำเป็นนิสัยสัก 1 เดือนเป็นอย่างน้อย ที่บอกอย่างน้อย เพราะหากคุณเป็นคนหนึ่งที่ รู้ตัว ว่า “เคยชินกับความขี้เกียจ” หรือใครๆก็บอกคุณเสมอว่า “เป็นคนไม่มีวินัยในการทำงาน” หรือ “จัดการเวลาได้แย่มากๆ” ถ้าคุณเป็นคนนึงที่ อยากจะพัฒนาตัวเอง ฝึกเถอะ!! มันจะดีกับตัวคุณเอง และต้องให้เวลากับตัวเองนานๆ เพราะอย่าลืมว่านิสัยเดิมที่ติดตัวมานั้น มันก็ถูกฝึกมาตามอายุคุณนั้นแหละ แต่คุณเท่านั้นที่จะเลือกระหว่าง อยู่กับนิสัยเดิมๆ หรือปรับตัวเองสู่คุณคนใหม่

5.      ลำดับความสำคัญให้ดี อีกปัญหาหนึ่งที่หลายๆ คนเคยลองทำกิจกรรมหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกันแล้วไม่รอด คือการให้ความสำคัญที่ ผิด ลำดับ เริ่มตั้งแต่งาน 2 อย่างมาพร้อมกัน จะทำอะไรก่อน จนไปถึงทำงานแรกอยู่แต่ใจไปงานต่อไป นี่ก็ล้วนแต่เป็นการจัดลำดับความสำคัญที่ไม่ถูกทั้งสิ้น อันดับแรกเรื่องการเลือกว่าจะทำอะไรก่อนหลัง มันก็มีทริคง่ายๆ ว่างานไหนที่เราควรเลือกทำก่อน….

          งานไหนที่ไม่ทำตอนนี้แล้วชีวีจะมีภัยที่สุด ชื่อก็บอกอยู่แล้ว งานนี้ไม่เสร็จภายในวันพรุ่งนี้ คนที่ได้รับผลกระทบคือเพื่อนร่วมงาน 4 แผนก ยอดบริษัทตก ลูกค้าไม่เชื่อถือ เห็นแบบนี้แล้วไม่ทำก่อนจะได้หรือ ในความเป็นจริงงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่น หรือทีม ย่อมเป็นงานที่เราควรจัดการเป็นอันดับต้นๆ เพื่อให้เกิดกระบวนการที่สอดคล้องเหมาะสม งานเสร็จตามมอบหมายอยู่แล้ว

          งานที่ยากที่สุดหนักที่สุด ในหนังสือกินกบตัวนั้นซะ ได้พูดถึงงานที่ยากแสนยากว่ามันคือการกินกบ เราจะอยากทำมันน้อยที่สุด แต่เพราะมันยากที่สุด เหนื่อยที่สุดนี่แหละ เราจึงควรที่จะเคลียมันเสียก่อน เพื่อให้เรามีพลังทำอย่างอื่นต่อไปได้อย่างสบาย เบาตัว จงรีบตัดสินใจและกินกบตัวนั้นซะ!!

          งานแฝดก็เหมือนลูกแฝด  งานที่ต้องเสร็จพร้อมกัน สำคัญพอกัน ไม่เสร็จตามกำหนดก็เดือดร้อนเหมือนกัน เอาล่ะ! ต้องสวมวิญญาณแม่ลูกแฝดได้แล้ว เราไม่สามารถลี้ยงลูก 2 คนพร้อมกันได้อย่างแน่นอน สิ่งที่ต้องทำคือ จัดเวลาที่มีในการทำงาน 2 งานนี้มาแบ่งครึ่ง แล้วทำสักงานหนึ่งให้เสร็จก่อน เผื่อนึกภาพไม่ออก โปรเจค  A และ B ถูกมอบหมายมาวันจันทร์ ซึ่งทั้งสองงานต้องเสร็จภายในวันศุกร์ จงแบ่งเวลาดังนี้ โปรเจค A จะถูกเคลียให้แล้วเสร็จภายใน พุธ 10 โมง จากนั้นจนถึง 12.00 วันศุกร์ เป็นเวลาของโปรเจค B ซึ่งต้องเสร็จตามเวลาที่กำหนด และจัดเวลาตรวจทาน 2 โปรเจคอีกครั้งก่อนนำเสนอหรือนำส่งสัก 1-2 ชั่วโมง เป็นต้น ไม่แนะนำให้ทำงานหนึ่งครึ่งวันเช้า อีกงานครึ่งวันบ่าย เพราะคุณจะสับสนและจัดลำดับไม่ถูก ซึ่งจะพูดถึงการจัดความสำคัญในอีกความหมายนึงในข้อต่อไปนี่เอง

การจัดลำดับความสำคัญอีกนัยนึงที่หากคุณไม่เข้าใจ ก็ พัง ได้เช่นกัน คือ ให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะทำอะไรก่อน จงให้เวลาสิ่งนั้นเต็มที่ ให้ใจ ให้สติอยู่กับงานนั้นแบบเต็มร้อย การใช้เวลาที่คุ้มค่าที่สุดคือการที่เราตั้งสติ สมาธิกับการใช้เวลาตรงนั้นโดยไม่วอกแวก ไม่เสียเวลาไปกับการพักคิดเรื่องอื่น แล้วคุณจะเห็นว่าผลลัพธ์มันต่างกับการนั่งทำงานเอกสารและเปิดเฟสบุคส่องไทม์ไลน์คนอื่นไปด้วยเป็นไหนๆ ลำดับ (สติ) ความ (คิด) สำคัญให้ถูก งานจะเดินหน้ากว่าที่เคยเป็นมา

และนี่ก็คืออีกกลเม็ดเคล็ดลับ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เริ่มอ่านบทความจากข้อความนี้ก่อนจะไล่อ่านตั้งแต่ต้น ขอให้คุณลองใช้การอ่านบทความนี้ให้เป็นตัวอย่างของการจัดเวลา เช่น คุณจะเริ่มอ่านทุกตัวอักษรให้จบเมื่อไร หรือคุณจะแบ่งอ่านกี่ข้อภายในวันไหน การฝึกบริหารจัดการเป็นเรื่องที่อยากให้คุณเข้าใจว่ามันสำคัญ เพราะแน่นอนว่าเวลาคือสิ่งล้ำค่า เมื่อผ่านมาแล้วก็ผ่านเลย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้เวลาทุกๆ 1 วินาทีของเราให้ “มีคุณค่า” เท่ากันกับของคนอื่นนั่นเอง 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ