วันนี้เราจะมาพูดในเรื่องการทำแผนสำหรับการระดมทุน หรือ Raise Fund กันนะครับ
มีหลายท่านเข้ามาคุยกับผมในเพจที่ผมทำไว้ในหลาย ๆ เรื่องเช่น เรื่องการทำ Startup ให้หาเงินได้ เรื่องการทำวิจัยตัวสินค้าที่กำลังจะเริ่ม แต่มีอยู่หัวข้อหนึ่งที่เป็นหัวข้อยอดฮิตติดชาร์ทของปี 2016 เลยก็คือ เรื่องหาแหล่งเงินทุน ซึ่งก่อนผมจะเปิดเผยแหล่งเงินทุนนั้นผมมีการบ้านให้ทุกคนทำก่อน เพราะถ้าไม่ทำโอกาสในการที่จะได้รับเงินลงทุนนั้นจะน้อยมากหรือแทบจะเป็นไม่มีโอกาสเลย ซึ่งในแต่ละแหล่งทุนที่เราจะไปเจรจาขอเงินมาลงทุนนั้นมีข้อดีและข้อเสียต่างกันไป ถ้าStartup ไหนพลาดไปยอมรับเงินทุนที่มีเงื่อนไขเอาเปรียบมาก ผลที่ตามมาอาจจะแย่กว่ากู้เงินธนาคารเสียอีก ฉะนั้นจึงควรจะคิดให้รอบคอบหรือปรึกษาผู้รู้เสียให้ดีก่อนไปตกลงรับข้อเสนอจากใคร
ผมพูดอย่างนี้เป็นการขู่รึเปล่า เปล่าเลยครับ ตลอดที่ทำงานกับ Startup มา ผมเห็นตัวอย่างจากStartupทั้งกลุ่มที่เพิ่งเริ่มทำและกลุ่มที่มีประสบการณ์(การเจ็บตัว)มาพอสมควร แล้วจริง ๆ ทุนมันน่ากลัวขนาดนั้นเลยไหม คำตอบของผมคือ ทุนจะน่ากลัวถ้าเราไม่มีประสบการณ์ในการทำการเจรจาต่อรองในเงื่อนไขการลงทุนที่เพียงพอ ซึ่งก่อนจะไปหาแหล่งเงินทุนกันในบทความตอนต่อไป มีการบ้าน 6 ชิ้นสุดท้ายที่ผมอยากให้ทุกคนทำ
- ทำการบ้านเกี่ยวกับธุรกิจที่ตัวเองจะทำให้มากที่สุด สามารถย้อนดูในเพจผมได้ เช่น การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของตลาดนั้น ๆ การทำ Validation ของตลาดและตัวสินค้า การนำทฤษฏีทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาเพื่อเชื่อมโยงกับความต้องการของตลาด ซึ่งถ้าจะให้ดีให้คุยกับคนที่เคยทำธุรกิจในแขนงที่ใกล้เคียงกับธุรกิจที่เรากำลังจะทำให้มากที่สุด เพราะเราจะได้ทราบถึงความผิดพลาดและปัญหาของพวกเค้าก่อนที่จะประสบความสำเร็จ
- หลังจากทำความเข้าใจธุรกิจของเราเป็นอย่างดีและได้ทำวิจัยตลาดมาระดับหนึ่งแล้ว ให้เราสร้างคำจำกัดความของStartupของเราให้คนอื่นสามารถเข้าใจได้ใน 7 คำพูด (7Words Pitch) เช่น “อูเบอร์สามล้อ” คนก็อาจจะเดาได้กลาย ๆ ว่า น่าจะเกี่ยวกับรถรับจ้างแต่มีแค่สามล้อ ก็น่าจะเป็นตุ๊ก ๆ เป็นต้น และแบบไม่เกิน 200 คำให้อยู่ในรูปแบบของการบรรยายเป็นตัวอักษรและคำพูด นั่นเพราะว่าเวลาเราออกไปคุยเรื่องธุรกิจที่เราจะทำบางครั้งเราต้องคุยกับคนหลายคน และเราไม่สามารถที่จะอธิบายภาพรวมได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นการเตรียมคำพูดแนะนำสั้น ๆ สำหรับธุรกิจให้สามารถดึงดูดความสนใจของนักลงทุนหรือคนที่สนใจให้อยากคุยกับเราต่อ คำบรรยาย 200 คำแบบตัวอักษรนั้นเราจะได้ใช้บ่อยเวลาลงสื่อประกาศต่าง ๆ บน online และ offline เป็นคำบรรยายสั้น ๆ เกี่ยวกับธุรกิจ บางคนอาจจะทำละเอียดถึง 2 เวอร์ชั่นคือข้อความสำหรับบุคคลทั่วไป และข้อความสำหรับนักลงทุนเท่านั้น ความแตกต่างก็จะเป็นในเรื่องของการบอกโอกาสการลงทุน นอกนั้นแทบจะเหมือนกันหมดครับ
วันนี้รับไปก่อนสองข้อน่ะครับ เราจะมาว่ากันในตอนต่อไปในตอนที่ 2/3 อีก 3 ข้อเจอกันตอนหน้าครับ