ธุรกิจรายได้ดีไม่มีหด แล้วเงินสดหายไปไหน : อ.เศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์

เศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์

คุณรู้หรือไม่ว่า กิจการแบบ SME สามารถบริหารเงินทุนหมุนเวียนได้โดยไม่ต้องมีสินเชื่อได้ เมื่อเราเข้าใจว่าวงจรเงินสดที่กล่าวมาข้างต้นมาอย่างไร อยากให้พิจารณาใช้วิธีดังต่อไปนี้

ผู้อ่านเคยเห็นร้านอาหารที่มีลูกค้ารอคิวยาวๆ ตั้งแต่เปิดร้านใหม่ๆ ดำเนินไปได้สักระยะนึง แล้วต้องปิดตัวลงไหมครับ หรือบางธุรกิจแสดงยอดรายได้เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี และแสดงกำไรทางบัญชีเป็นบวกด้วย แต่ต้องกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นบ้างไหมครับ

เกิดอะไรขึ้นกับบริษัทเหล่านั้น การตลาดไม่ดีรึ ก็ไม่ใช่ เพราะมีความต้องการหรือลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างที่เห็น การทำธุรกิจผิดพลาดตรงไหน หนึ่งในสาเหตุของความล้มเหลว ได้แก่ เงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจไม่เพียงพอ หรืออีกนัยหนึ่ง ขาดเงินสดในการดำเนินงาน เงินเข้ามาเท่าไร ก็นำไปซื้อวัตถุดิบมากขึ้นเพื่อเตรียมขาย จ้างคนงานเพิ่มขึ้นเพราะคาดว่าจะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นอีก มีค่าใช้จ่ายมากกว่าเงินสดในมือ เพราะคาดหวังว่าจะได้รับเงินสดในอนาคต เป็นต้น

เงินสดเมื่อรับเข้ามาในธุรกิจแล้ว จะกระจายไปอยู่ใน “สินทรัพย์หมุนเวียน” ได้แก่ (1) เงินสด ซึ่งแบ่งเป็น เงินสดในมือ และเงินสดฝากในธนาคาร (2) สต็อกสินค้า หรือ สินค้าคงคลัง ได้แก่ วัตถุดิบ สินค้าระหว่างทำ สินค้าสำเร็จรูป หรือสินค้าพร้อมขาย (3) ลูกหนี้การค้า ได้แก่ลูกค้าที่รับสินค้าเราไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ชำระเงิน นอกจากนี้เงินสดที่เข้ามาจะนำไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เช่นลงทุนในอาคาร อุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือ เพื่อรองรับกับการเติบโต

วงจรของเงินสด เริ่มต้นจากการซื้อวัตถุดิบมาผลิตสินค้า หรือสั่งซื้อสินค้ามาเพื่อขาย สมมติใช้เวลา 30 วัน (เงินสดหายไปแล้ว 30 วัน) เมื่อสินค้ามาอยู่ในคลังสินค้าแล้วหรือว่าอยู่หน้าร้านรอขายอีก 10 วัน มีลูกค้ามาซื้อสินค้าถ้าซื้อด้วยเงินสดเราจะได้เงินสดเข้ากระเป๋าเลย แสดงว่ากว่าจะเปลี่ยนสินค้ามาเป็นเงินสดเราใช้เวลา 40 วัน ซึ่งสมมติว่าเราไม่ได้เครดิตจากเจ้าหนี้การค้าเลยคือซื้อของจากซัพพลายเออร์ด้วยเงินสด แปลว่าเราจะไม่มีเงินสดในมือนานถึง 40 วัน

สมมติต่อมาว่า ถ้าซัพพลายเออร์ใจดีให้เครดิตสินค้าเรา 45 วัน แปลว่าให้สินค้าเราไปขายก่อน แล้วค่อยชำระเงินเมื่อถึงกำหนดวันที่ 45  และผู้ประกอบการสามารถขายได้ 40 วัน ซึ่งหมายความว่า ผู้ประกอบการไม่ต้องใช้เงินสดเลย ขายได้ภายใน 40 วัน แล้วนำเงินไปชำระเจ้าหนี้การค้าภายในวันที่ 45 มีเวลาถือเงินสด 5 วัน และมีกำไรจากส่วนต่างราคาขายและต้นทุนสินค้าด้วย กรณีนี้คือสวรรค์ของการทำธุรกิจเลยครับ

ถ้าสมมติเพิ่มเติมว่า เมื่อกิจการต้องการมีลูกค้ามากขึ้น และสามารถสู้กับคู่แข่งขันรายอื่นๆ ได้ กิจการมีนโยบายให้เครดิตกับลูกค้า 30 วัน อีกนัยหนึ่งกว่ากิจการจะได้รับชำระจากลูกหนี้การค้าก็อีก 30 วัน ซึ่งถ้าสินค้าพร้อมขายรออยู่หน้าร้านแล้ว 40 วัน บวกกับจำนวนวันที่ลูกหนี้การค้าชำระอีก 30 วัน กิจการกว่าจะได้รับเงินสดคือ 70 วัน (ถ้าลูกหนี้ชำระนานกว่า 30 วัน จะแย่ไปอีก)

เรื่องยังไม่จบตรงนี้ เจ้าหนี้การค้าบอกว่าช่วยชำระเงินภายในวันที่ 45 นับจากวันส่งของ กล่าวคือกิจการต้องชำระเงินสินค้าในวันที่ 45 แต่ต้องรอเงินรับจากลูกค้าต่อไปอีกจนถึงวันที่ 70 วัน แสดงว่ากิจการขาดเงินสดในมือ 35 วัน

นี่แค่วงจรการหมุนเวียนเงินสดในการดำเนินงาน ยังไม่ได้นับรวมค่าใช้จ่ายคงที่ต่างๆ ได้แก่ ค่าเช่า ค่าซ่อมบำรุง ค่าการตลาด เงินเดือนพนักงาน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอื่นๆ อีกจิปาถะ ที่ต้องชำระตามกำหนด ไม่สนว่าจะกิจการจะมีรายได้เข้ามาหรือไม่

เมื่อเงินสดรับเข้ามามีน้อยกว่า เงินสดจ่ายออกไป กิจการจะเกิดภาวะขาดสภาพคล่องได้ จำเป็นต้องก่อหนี้เพื่อมาใช้จ่ายชำระหนี้ในระยะเวลาที่ขาดเงิน เช่นเปิดวงเงินเบิกเกินบัญชี (O/D) หรือวงเงินตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องธุรกิจ

คุณรู้หรือไม่ว่า กิจการแบบ SME สามารถบริหารเงินทุนหมุนเวียนได้โดยไม่ต้องมีสินเชื่อได้ เมื่อเราเข้าใจว่าวงจรเงินสดที่กล่าวมาข้างต้นมาอย่างไร อยากให้พิจารณาใช้วิธีดังต่อไปนี้

  1. จัดทำงบประมาณเงินสด บันทึกว่าจะมีเงินสดรับ เงินสดจ่ายเมื่อไร กำหนดเป็นวัน เป็นสัปดาห์เลย เพื่อประเมินว่ากิจการจะมีช่วงไหนขาดเงินสดในมือ
  2. ปรับปรุงงบประมาณเงินสดบ่อยๆ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณมีเงินพอสำหรับจ่ายค่าใช้จ่ายที่จะถึงกำหนดชำระ
  3. เปรียบเทียบยอดสินค้าคงเหลือหรือสต๊อกสินค้า กับยอดขายที่ผ่านมา ดูว่าช่วงไหนควรเก็บสต๊อคไว้มากหรือน้อย จะได้สอดคล้องกับยอดขายประมาณการ คือมีสินค้าไว้ในจำนวนที่น้อยที่สุดซึ่งเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า เงินสดจะได้ไม่จมอยู่กับสินค้า
  4. พิจารณาการให้เครดิตกับลูกหนี้การค้าเท่าที่จำเป็น และควรติดตามเรียกเก็บชำระหนี้อย่างเคร่งครัด จัดทำตารางแยกอายุลูกหนี้ และรู้หรือไม่ว่า Invoice หรือใบแจ้งหนีี้สามารถรับเงินล่วงหน้าผ่านธนาคารได้ แม้จะถูกตัดค่าธรรมเนียมไปบ้าง แต่ก็สามารถนำเงินสดมาหมุนเวียนใช้ได้ก่อน
  5. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าหนี้การค้า จะช่วยให้การเจราจาเพื่อขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เกิดขึ้นได้ง่าย
  6. อย่านำเงินสดไปลงทุนในทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้กับกิจการ หรือเมื่อกิจการต้องการเงินสด กิจการสามารถนำสินทรัพย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานออกไปขายได้ เช่นเครื่องจักรที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว เป็นต้น

โดยสรุป กิจการจะมีรายได้เข้ามาเท่าไร เงินสดจะไม่หดหายไปไหน เงินสดไม่ขาดมือ เพราะมีการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียน มีการตรวจสอบและประมาณการอย่างสม่ำเสมอ และเงินสดได้ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ