ในสถานการณ์เศรษฐกิจผันผวนในแง่ลบ กำลังซื้อหดหาย ผู้ประกอบการ SME นอนก่ายหน้าผากเพราะรายได้หด และคิดว่าจะอยู่รอดต่อไปได้อย่างไรในสถานการณ์แบบนี้ หากศึกษาในทฤษฎีและมองบริษัทใหญ่ ๆ เขาทำกันคือการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อรักษาเงินสดและความอยู่รอดของบริษัท กิจการขนาดกลางและขนาดเล็กจะปรับตัวได้เหมือนกับบริษัทขนาดใหญ่นั้นต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไปครับ เพราะค่าใช้จ่ายบางประเภท ยิ่งลด รายได้ยิ่งหด
ค่าใช้จ่ายที่กิจการส่วนใหญ่เลือกจะลดเป็นอันดับแรกคือ ต้นทุนขาย หรือต้นทุนผลิตสินค้า ได้แก่การลดปริมาณวัตถุดิบ การลดคุณภาพสินค้าเพื่อจะจ่ายค่าวัตถุดิบลดลง ลดส่วนผสมบางอย่างที่เคยเป็นจุดเด่นออกไป ลดรูปแบบหรือขนาดของบรรจุภัณฑ์ สิ่งที่คาดหวังคือจะขายในราคาเท่าเดิม และลูกค้าไม่น่าจะสังเกตเห็น โดยมีสมมติฐานว่ารายได้คงที่ แต่กำไรเพิ่มขึ้น เพราะต้นทุนลดลง คิดแบบนี้คิดได้ครับ แต่ในความจริง เมื่อสินค้ามีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม ทั้งรูปร่าง หน้าตา ขนาด รสชาติ (ในกรณีอาหาร) บรรจุภัณฑ์ที่ต้องซื้อขนาดใหญ่ขึ้น (ในกรณีสินค้าอุปโภคบริโภค สำหรับใช้ทั้งครอบครัว) ลูกค้าอาจจะไม่ซื้อเลย รายได้ก็จะหดหายไปอีก แล้วทำอย่างไรล่ะ กำลังคิดกันอยู่ใช่ไหมครับ ต้นทุนขายหรือต้นทุนผลิตสินค้า เราสามารถคาดการณ์ผลิตในปริมาณยอดขายที่มีความต้องการได้ ไม่ควรผลิตมากเกินความจำเป็น (ไม่ตุนสินค้าเมื่อไม่รู้ว่าจะขายเท่าไร) หากธุรกิจขายสินค้าตามฤดูกาล คือไม่ได้ขายทั้งปี จะมองเห็นวงจรความต้องการสินค้าได้ สำหรับสินค้าที่ต้องขายทุกวัน เช่นธุรกิจร้านอาหาร การสั่งซื้อพร้อม ๆ กับเพื่อนพันธมิตรร้านอาหารด้วยกัน จะช่วยลดต้นทุนได้ (บางคนบอกว่าไม่เคยมีเพื่อนธุรกิจเลย ภาวะเช่นนี้หาเพื่อนร่วมธุรกิจช่วยเหลือเกื้อหนุนกันได้แล้วครับ) สินค้าบางประเภทที่มีต้นทุนสูงขึ้นและดูแล้วไม่มีกำลังซื้อเลย ย้ำ นาน ๆ ขายที ก็ให้ลูกค้าสั่งล่วงหน้าจะเหมาะสมกว่า
ค่าใช้จ่ายอันดับถัดมาที่คิดจะลดกันคือ ค่าแรง เงินเดือน จนกระทั่งถึงการลดจำนวนพนักงาน เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้ค่าใช้จ่ายประจำเดือนลดลง ทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้เมื่อรายได้หด ในกรณีนี้มีทั้งต้องพิจารณาอย่างระวัง จะลดค่าแรงหรือเงินเดือนเมื่อลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ตามที่ตกลงกันไว้กับนายจ้าง หรืออีกนัยหนึ่งคือ ไม่ทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายไว้ ถ้าหากเขาทำดีแล้วจะไปลดค่าแรง หรือตัดเงินเดือนก็ไม่เห็นสมควร ผมเชื่อว่าการรักษาพนักงานที่ดีในภาวะคับขันเป็นงานที่สำคัญที่สุดของนายจ้าง บางกิจการจะเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษเพื่อกระตุ้นและสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงานอยากทำงานและหารายได้เพิ่มให้กับกิจการ การกำหนดตัวชี้วัดในแต่ละเดือนเพื่อให้พนักงานสนุกกับการทำงาน ไม่ใช่เป็นไม้บรรทัดวัดผลงาน โน้มน้าวให้พวกเขาอยากแข่งขันเพื่อเป้าหมายเดียวกัน เช่นการกำหนดว่าใครได้รับการโหวตว่าเป็นพนักงานดีเด่นจากลูกค้า จะได้โบนัสพิเศษประจำสัปดาห์
ในกรณีธุรกิจที่มีพนักงานเกินความจำเป็นในแต่ละช่วงเวลา อาจจะปรับเปลี่ยนเป็นพนักงานชั่วคราวตามความเหมาะสมของเวลาที่ต้องทำงาน เช่นช่วงบ่าย ๆ ร้านอาหารไม่มีคนมาใช้บริการมาก ไม่จำเป็นจะต้องมีพนักงานเต็มอัตราในช่วงเวลานั้น การรักษาพนักงานที่ดีมีต้นทุนน้อยกว่าการหาพนักงานใหม่มากเลย คิดให้ถี่ถ้วนก่อนจะลดพนักงานลงไป ถ้าแผนกงานไหนไม่มีโอกาสในการเติบโตธุรกิจแล้ว พนักงานกลุ่มนั้นสามารถกระจายไปทำงานอื่น ๆ ได้เช่นกัน และพวกเขาอาจจะสร้างรายได้ใหม่ให้เกิดขึ้นได้ด้วย
ค่าใช้จ่ายถัดมาที่กิจการส่วนใหญ่จะลดลง แต่เมื่อลดลงแล้ว รายได้ยิ่งหดอีก ได้แก่ ค่าใช้จ่ายทางการตลาด และค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์ เมื่อขายไม่ดี จะเสียค่าใช้จ่ายด้านการตลาดไปทำไม แค่คิดก็ผิดแล้ว การทำการตลาดในปัจจุบันมีช่องทางมากมาย การเลือกสื่อที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือวิธีการที่สำคัญ หากลูกค้าเป้าหมายไม่เคยดูทีวี จะลงโฆษณาบนทีวีจะไม่ได้ประโยชน์ สื่อออนไลน์มีความนิยมเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ต้องเลือกให้ดีและเจาะกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน บางกิจการคิดว่าสร้างเวปไซต์ หรือมีหน้าเฟซบุ๊กแล้ว จะมีลูกค้าและมีรายได้เพิ่ม เรื่องไม่จบตรงนั้นเพราะเราต้องสื่อสารให้เวปไซต์หรือเฟซบุ๊คเป็นที่รู้จักให้ได้ ค่าใช้จ่ายด้านนี้บริหารจัดการให้ตรงจุดได้ และจำเป็นต้องกำหนดเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดไม่สิ้นสุด ถ้าคิดว่าในภาวะเศรษฐกิจซบเซาจะลดค่าใช้จ่ายการตลาด ก็เหมือนปิดประตูหน้าร้านไม่ให้ลูกค้ารู้จักเลย ดังนั้นควรเลือกใช้ให้คุ้มและถูกทาง ตรงกลุ่มเป้าหมาย รายได้จะเพิ่มขึ้น
ค่าใช้จ่ายต่อมาคือ ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การฝึกพัฒนาบุคลากรและผู้นำขององค์กรจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ธุรกิจกำลังต้องการกำลังพลที่มีความรู้ความสามารถ อาวุธทางปัญญญาจะต้องเติม มาช่วยสร้างสถานการณ์ให้ดีขึ้น จะหาทางออกได้อย่างไรเมื่อคนในองค์กรมีความรู้เท่าเดิม การทำงานด้วยวิธีการเดิม ๆ จะได้ผลตามมาแบบเดิม ๆ สิ่งที่ผมได้พบเจอกับกิจการที่ให้ความสำคัญค่อนข้างน้อยกับการฝึกอบรมพนักงาน เพราะมองว่าเสียไปโดยไม่จำเป็น เจ้าของกิจการสามารถสอนเองได้ ตรงนี้ไม่ว่ากันครับ หากเจ้าของกิจการมีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะและที่สำคัญมีเวลาจะพัฒนาบุคลากรของตนเองได้ นอกจากนี้บางกิจการจะบอกว่า ส่งพนักงานไปฝึกอบรมเสร็จแล้ว เก่งแล้ว ก็ลาออกไปทำกับคนอื่น ลาออกไปทำกิจการของตนเอง เรามีหลายวิธีในการรักษาความรู้ได้ เช่นให้พนักงานที่ได้รับการฝึกอบรมจากข้างนอกมาให้มาสอนกับพนักงานที่ไม่ได้ไปในครั้งนั้น และมีการหมุนเวียนการไปฝึกอบรมเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และแบ่งปัน สรุปว่าการฝึกอบรมพนักงานจะช่วยให้พนักงานมีแรงจูงใจ และแรงขับเคลื่อนให้กิจการมีรายได้เพิ่มขึ้นจากความรู้และประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ได้จากการอบรมพัฒนา
ค่าใช้จ่ายอีกข้อที่กิจการ SME ส่วนใหญ่มองข้ามคือ ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา ถ้าหากยึดติดกับวิธีการทำธุรกิจแบบเดิม ๆ กับสินค้าและบริการเดิม ๆ ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เชื่อหรือไม่ว่า ธุรกิจขนาดใหญ่ให้ความสำคัญกับค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนามาก เพราะพวกเขาไม่ได้ทำธุรกิจเพื่อวันนี้เท่านั้น เขาวางแผนสำหรับสินค้าหรือบริการใหม่ๆ ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า มีการจดสิทธิบัตรมากมายเพื่อครองตลาดในอนาคต ไม่ว่าเศรษฐกิจจะมีความผันผวนอย่างไร บริษัทจะต้องให้ความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แล้วธุรกิจ SME จะต้องทำอย่างไร หลายคนจะบอกว่า ไม่เคยมีค่าใช้จ่ายประเภทนี้เลยด้วยซ้ำ ถ้าไม่มีตอนนี้ก็ควรพิจารณาได้แล้วว่าทิศทางของธุรกิจของเราจะเป็นอย่างไร มีองค์กรของรัฐหลายหน่วยงานที่มีเงินทุนและผลงานวิจัยสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นต้น ไปศึกษาเพิ่มเติมว่าสินค้าหรือบริการของเราสามารถจะเพิ่มมูลค่าอะไรได้อีกบ้าง สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอะไร เพิ่มจุดแข็งตรงไหน ลดจุดอ่อนอะไรได้ เพื่อโน้มน้าวให้เกิดกำลังซื้อเพิ่มขึ้น รายได้จะได้โตขึ้นนะ
หากพิจารณาให้ชัด ค่าใช้จ่ายเป็นตัวสร้างรายได้ ควรจะบริหารค่าใช้จ่ายตามความเหมาะสมกับงาน เวลาและเป้าหมาย และเลือกวิธีการให้ถูกต้องตรงจุด จะได้ไม่เสียไปโดยเปล่าประโยชน์
“อย่าคิดจะลดเพราะหมดหนทาง มองให้กว้างว่าจะใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์มากขึ้น” ฝากไว้จาก เศรษฐพงศ์ จีโนซิส