Green SME : ครรชิต มาลัยวงศ์ (บทความปี 2558)

อ.เสน่ห์ ศรีสุวรรณ

ทุกวันนี้เราได้ยินคำว่า green หรือ เขียว ในความหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมที่สะอาดปราศจากมลพิษ และ การประหยัดพลังงาน

ทุกวันนี้เราได้ยินคำว่า green หรือ เขียว ในความหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมที่สะอาดปราศจากมลพิษ และ การประหยัดพลังงาน   นอกจากนั้นยังพลอยทำให้นึกไปถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสังคมปลอดภัยด้วย.  เราได้เห็นการใช้คำว่ากรีนประกอบกับคำอื่นๆ มากมาย เช่น green city, green environment, green PC, green entrepreneur และอื่นๆ.   สำหรับในตอนนี้  เราจะคุยกันถึงเรื่อง Green SME.

เราอาจจะกล่าวถึง Green SME ได้ในหลายแง่มุม.  เรื่องที่ตรงกับ SME ทุกแห่ง  ก็คือ การดำเนินงานโดยประหยัดพลังงาน, ใช้ต้นทุนน้อย, และ เกิดผลเสียน้อยที่สุด.  แต่ก็ยังมี Green SME ที่ทำธุรกิจทางด้าน green โดยตรง  นั่นก็คือ  SME ที่ผลิตสินค้าประเภทประหยัดพลังงาน  เช่นเครื่องไฟฟ้า และ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์   รวมไปถึงบริษัทที่ปรึกษาที่อาสามาช่วยศึกษาและแนะนำวิธีการที่จะประหยัดต้นทุนในด้านต่างๆ ตั้งแต่การวางระบบคอมพิวเตอร์ไปจนถึงการใช้ระบบสื่อสาร.

โดยทั่วไปแล้ว  ไม่มีผู้ประกอบการรายใดไม่ต้องการที่จะประหยัดต้นทุนในการดำเนินงาน.  แต่การประหยัดนั้นบางครั้งก็เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับสภาพที่ทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมสีเขียว.  ยกตัวอย่างเช่น โรงงานขนาดเล็กที่จะต้องใช้น้ำจำนวนมากเพื่อล้างหรือทำความสะอาดวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต.  น้ำล้างวัตถุดิบหรือน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตในโรงงานหลายแห่งเป็นน้ำที่มีสิ่งสกปรกหรือสารพิษเจือปนอยู่.  ตามระเบียบราชการแล้ว  โรงงานเหล่านี้จะต้องบำบัดน้ำเสียก่อนที่จะปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ.  แต่การบำบัดน้ำเสียตลอดเวลานั้นจำเป็นต้องใช้พลังงานมาก  ดังนั้นแม้จะมีบ่อบำบัดน้ำเสีย  แต่โรงงานก็จงใจไม่เดินเครื่อง  และลักลอบปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำไปเลย.  ผลก็คือเกิดปัญหาเดือดร้อนแก่ผู้ใช้น้ำในแหล่งน้ำนั้น  และทำให้เกิดมลพิษสะสมจนกลายเป็นอันตรายต่อสุขภาพ.   โชคร้ายที่ผู้ประกอบการในไทยจำนวนหนึ่งยังเห็นแก่ตัวทำนองนี้  ดังนั้นความพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมสีเขียวจึงเป็นเรื่องยาก.

ในยุคที่ประชาชนสามารถส่งข่าวสารผ่านทางสื่อสังคมนั้น  ประชาชนสามารถเป็นหูเป็นตาให้แก่ทางการได้.  ปัญหาก็คือ  ประชาชนไม่มีทางทราบว่าโรงงานใดไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์บ้าง และไม่สามารถตามเข้าไปดูในบริเวณที่ตั้งโรงงานได้.   อย่างไรก็ตามทางแก้ไขก็มีอยู่  คือ  การสุ่มตรวจเป็นระยะๆ, การติดตั้งระบบตรวจสอบแบบออนไลน์ว่าโรงงานเดินเครื่องบำบัดน้ำเสียจริงหรือไม่,  การส่งเจ้าหน้าที่ของทางการไปประจำที่โรงงาน ฯลฯ.  ทางแก้ไขเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนที่โรงงานย่อมไม่อยากรับภาระแน่.

ด้วยเหตุนี้ทางแก้ไขจึงดูเหมือนจะอยู่ที่การสร้างจิตสำนึกในการสร้างสิ่งแวดล้อมสีเขียวให้แก่ผู้ประกอบการทั้งหลาย  รวมทั้งการส่งเสริมให้มี SME ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างให้เกิดสิ่งแวดล้อมสีเขียวในราคาต้นทุนที่ประหยัดให้มากขึ้น.

ปัจจุบันนี้  แม้ผู้บริหาร SME จะมีระบบไอทีที่ทันสมัย และมีการเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ด้านต่างๆผ่านเว็บกันมากมายแล้ว.  แต่ดูเหมือนว่า  ข่าวสารที่เกี่ยวกับการสร้างจิตสำนึกสีเขียว และ การพัฒนา Green SME จะยังมีน้อยเกินไป.   นอกจากนั้นปัญหาการทุจริตเรื้อรังทั้งในภาครัฐและเอกชน  ทำให้ดูเหมือนว่า  การทำงานทุกด้านของประเทศไทยเวลานี้ต้องเริ่มต้นนับ 1 กันใหม่  ทั้งๆที่ประเทศอื่นได้ก้าวหน้าเกินไปหลักสิบนานแล้ว.

ในด้าน Green SME ก็เช่นกัน.  เรายังไม่ได้เห็นการผลักดันให้เกิด Green SME อย่างจริงจัง.  เราไม่เห็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนจากทางภาครัฐหรือภาคเอกชน.   เราไม่ได้เห็นการแลกเปลี่ยนความรู้ที่เกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยต้นทุนที่ต่ำและยอมรับได้,  เราไม่เห็นคำแนะนำในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ.   เรามี SME อยู่จำนวนเป็นล้านราย  แต่ทุกรายล้วนต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดกันเอง.

ยกตัวอย่างเช่น ธนาคาร SME ไทยประกาศว่ามีสินเชื่อ Green SME และระบุว่าเป็นสินเชื่อตามแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรมหรือหน่วยงานพันธมิตร ที่ดำเนินธุรกิจ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และให้กู้ได้สูงสุดถึง 15 ล้านบาท.  อย่างไรก็ตาม  ไม่ธนาคารไม่ได้ให้ข้อมูลว่ามี SME รายใดบ้างที่ได้สินเชื่อในลักษณะนี้.  ธนาคารแห่งนี้ได้ประโยชน์จาก SME โดยตรง  แต่กลับให้สิ่งตอบแทนแก่ SME น้อยมาก.  ยกตัวอย่างเช่น ในเว็บของธนาคารนั้น  ในหัวข้อมุมความรู้นั้น  ส่วนใหญ่เป็นบทความจากหนังสือพิมพ์  ส่วนบทความรู้ล่าสุดที่บรรจุในเว็บก็คือเมื่อปลายปี 2554.  ในหัวข้อ Show case ของธนาคาร นั้น  หัวข้อล่าสุดก็คือปี 2556 แล้วก็ไม่ได้เป็นมุม show case ที่หลากหลายหรือน่าสนใจแต่ประการใด.

 หน่วยงานของรัฐที่ดูแล SME ควรสนใจในด้านการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ SME อย่างจริงจัง  ด้วยการทำวิจัยค้นหาวิธีการที่ดีที่สุดในการประเหยัดพลังงานให้แก่กิจการ SME แต่ละประเภท,  แนะนำการดำเนินการที่คุ้มทุนและใช้ทรัพยากรต่างๆได้คุ้มค่าที่สุดให้แก่ SME.  จัดทำกรณีศึกษาในด้านการสร้างสิ่งแวดล้อมสีเขียวของ SME ที่ประสบความสำเร็จออกมาให้มากๆ.  สนับสนุนการทำธุรกิจ SME ทางด้านการให้คำปรึกษาเพื่อการประหยัดพลังงานและลดมลพิษ.  หน่วยงานที่น่าจะทำเรื่องนี้ได้ดีคือ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED).  อย่างไรก็ตาม สถาบันนี้ก็ยังไม่ได้เผยแพร่ความรู้ที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่ SME ไทย ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ การประหยัดพลังงานมากนัก.  หากหน่วยงานนี้รวบรวมการปฏิบัติที่ดีเยี่ยม (best practices) ในด้าน Green ทั้งหลายทั้งปวง มาเผยแพร่อย่างเป็นระบบ รวมทั้งให้คำแนะนำในการอนุวัติวิธีปฏิบัติเหล่านั้นสำหรับ SME แต่ละกลุ่มแล้ว  ประเทศไทยก็คงจะมีความเขียวมากกว่าปัจจุบันนี้.

บทความนี้ เขียนขึ้นเมื่อปี 2558 ซึ่งปัจจุบันข้อมูลบางอย่างอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเรียบร้อยแล้ว

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ