ไร้ออฟฟิศ ในแบบ Startup : ดร.วิลาส ฉ่ำเลิศวัฒน์

ดร.วิลาส ฉ่ำเลิศวัฒน์

หลายคนคงฝันถึงการทำงานเมื่อไร ที่ไหนก็ได้ บางคนนึกถึงภาพชายหาดสวยๆ ทะเลใสๆ นั่งชิลๆ หน้าคอม ซึ่งมันเป็นไปได้จริงๆ นะครับในยุคนี้สมัยนี้ ปัจจุบันเรายังมีคำศัพท์ที่เรียกว่า Digital Nomad คือการทำงานแบบไม่อยู่กับที่ หรือเร่ร่อนท่องไปเรื่อย แล้วใช้อินเทอร์เน็

หลายคนคงฝันถึงการทำงานเมื่อไร ที่ไหนก็ได้ บางคนนึกถึงภาพชายหาดสวยๆ ทะเลใสๆ นั่งชิลๆ หน้าคอม ซึ่งมันเป็นไปได้จริงๆ นะครับในยุคนี้สมัยนี้ ปัจจุบันเรายังมีคำศัพท์ที่เรียกว่า Digital Nomad คือการทำงานแบบไม่อยู่กับที่ หรือเร่ร่อนท่องไปเรื่อย แล้วใช้อินเทอร์เน็ตในการทำงาน มันกลายเป็นอีกไลฟ์สไตล์หนึ่งที่คนรุ่นใหม่ใฝ่ฝันถึง

แต่ผมขอบอกก่อนเลยว่าการจะทำแบบนี้ได้ดีนั้น เราต้องสร้างท่อน้ำเลี้ยงที่มั่นคงก่อนเริ่มออกเดินทาง ซึ่งจะเห็นได้ว่ามันไม่ค่อยเหมาะกับงานที่ทำหลายๆ คนเป็นทีมใหญ่ๆ จะค่อนข้างเหมาะกว่ากับการทำงานคนเดียวหรือทีมเล็กๆ และทุกอย่างต้องเกิดขึ้นแล้วจบในอินเทอร์เน็ต ต้องเป็นดิจิตอล เช่น เป็นอีคอมเมิร์ซที่ซื้อขายดิจิตอลคอนเทนต์ เป็น Software as a Service (SaaS) ที่เก็บเงินลูกค้าผ่านอินเทอร์เน็ต มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าเราเกิดต้องมีหน้าร้านหรือส่งของที่เป็นชิ้นเป็นอัน เพราะอันนั้นต้องการที่ทำงานเป็นหลักเป็นแหล่งที่แน่นอน

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ผมอยากยกตัวอย่างคนหนึ่งครับ Jon Yongfook เขาเคยมาเมืองไทยปี 2013 จากประวัติของเขาคือ เป็นลูกครึ่งจีน-อังกฤษ โตและเรียนหนังสือในอังกฤษ แล้วก็ย้ายไปทำงานที่ญี่ปุ่นอยู่ 10 ปี จากนั้นก็ไปอยู่สิงคโปร์ 2 ปี และเริ่มเร่ร่อนเป็น Digital Nomad ตั้งแต่ปี 2013

และนี่คือสถานที่บางแห่งที่เขาเคยไปนั่งทำงานอยู่ เช่น เกาะสมุย กัวลาลัมเปอร์ ภูเก็ต เกาะเต่า มะละกา กรุงเทพฯ หัวหิน เชียงใหม่ โฮจิมินห์ บาหลี เป็นต้น เขาทำงานคนเดียวและมีรายได้จากเว็บไซต์ beatrixapp.com นอกจากนี้ยังได้เขียนหนังสือขายบนเน็ตชื่อ Growth Hacking Handbook และ 100 tried & tested startup marketing tactics

อีกคนเป็นฝรั่งชื่อ Jacob Laukaitis ผู้ก่อตั้ง ChameleonJohn บริการออนไลน์คูปองเพื่อให้ส่วนลดจากเว็บไซต์ขายปลีกต่างๆ เขามักจะใช้ Co-Working Space ในการทำงานระหว่างท่องไปทั่วยุโรปและเอเชีย เขาได้เดินทางไปกว่า 30 ประเทศแล้ว และใช้เวลาอยู่แต่ละที่ไม่นาน แล้วย้ายไปเรื่อยๆ เพื่อประสบกับวัฒนธรรมใหม่ๆ

Jacob กล่าวว่า ตัวเองให้ความสำคัญกับงานเป็นที่หนึ่ง งานต้องเสร็จก่อนไปดำน้ำ เล่นเซิร์ฟ ปีนเขา หรือทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งจะแตกต่างจาก Jon Yongfook ที่เขาทำงานเป็นทีม (ไม่เกิน 10 คน) และแต่ละคนรับผิดชอบงานของตัวเองโดยอาศัยอินเทอร์เน็ตในการทำงานเชื่อมกัน (Collaboration) ก็มีบางคนที่ทำงานอยู่กับที่และบางคนที่เร่ร่อนไปเรื่อยๆ

ถัดมาบริษัท Buffer ผู้ให้บริการ Social Media Automation ในซานฟรานซิสโก มีพนักงาน 50 กว่าคน กระจายอยู่ 40 กว่าเมือง ใน 10 Timezone สามารถดูได้ที่ http://timezone.io/team/buffer Joel Gascoigne ผู้ก่อตั้งได้ประกาศว่าพวกเขาได้ทำงานแบบ Remote 100% แล้ว และได้ปิดออฟฟิศที่ซานฟรานซิสโกลง

ข้อดีคือ ได้ลดค่าใช้จ่ายจากการเช่าและดูแลรักษาออฟฟิศ พนักงานสะดวกสบายเป็นอิสระตราบเท่าที่ส่งงานภายในระยะเวลาที่กำหนด จะทำงานวันละกี่ชั่วโมงที่ไหนเมื่อไรก็ได้ ไม่ต้องไปรถติดบนท้องถนนในเวลาเร่งด่วน ไม่เสียเวลา ไม่เสียค่าน้ำมัน แต่สิ่งที่สำคัญสำหรับพวกเขามากๆ คือ ความรับผิดชอบและการไว้ใจกัน เพราะงานแต่ละคนส่งผลกระทบถึงอีกคนแน่นอน

เขยิบเข้ามาอีกนิดในประเทศไทย ผมเคยอ่านบล็อกของคุณเม่น จักรกฤษณ์ ตาฬวัฒน์ กับการทำงานแบบไร้ออฟฟิศ (Virtual Office) ของ TiGERiDEA เพราะเขาพักอาศัยอยู่ที่ปาย และเพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆ อยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ประมาณ 2 ปี

คุณเม่นกล่าวไว้ว่ามีสิ่งสำคัญที่จะทำให้ทำงานแบบนี้ได้ 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ วัฒนธรรมองค์กร (หรือทีมสปิริต) และเครื่องมือ เพราะจะทำให้ทุกคนรายงานผลได้ตรงกัน สื่อสารกันด้วยความจริงไม่ใช่แค่ความเชื่อ แล้วหลังจากนั้นค่อยหาระบบที่เหมาะสมกับงานที่ต้องการ ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก ทั้งฟรีและค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก

ส่วนพวกผมที่ Budnow ก็ได้พยายามใช้ Virtual Office และทำงานแบบ Remote กันอยู่ เราเช่าออฟฟิศไว้เป็นฐานทัพให้คนภายนอกติดต่อ และสำหรับพบปะหรือประชุมกันอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ส่วนวันที่เหลือเราให้สิทธิ์พนักงานในการทำงานที่ไหนก็ได้ จะเข้าหรือไม่เข้าออฟฟิศก็ได้ แค่มีข้อแม้ว่างานต้องเสร็จ ซึ่งการจะทำงานแบบไร้ออฟฟิศได้นั้น ทุกคนต้องมีความเป็นผู้ใหญ่ ต้องมีความเป็นเจ้าของงาน ถ้าคิดว่าตัวเองเป็นแค่ลูกจ้างที่ทำงานตามคำสั่ง งานที่ได้ก็ไม่มีทางออกมาได้ดี

อย่างไรก็ตาม การสื่อสารก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ บางทีถ้าอยู่ร่วมกัน แค่เดินไปตาม โชว์หน้าจอให้ดู คุยกันแป๊บเดียวก็เข้าใจแล้ว แต่เมื่ออยู่ห่างกันถึงเราจะมีเครื่องมือมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Google Hangout, Facebook Message ที่ทั้งคุยด้วย VDO Chat ได้, Line, Skype ทุกอย่างช่วยให้พูดคุยกันได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น แต่อารมณ์ความรู้สึกมันก็ต่างกันไป ไม่ได้ Feeling ซะอย่างนั้น

สุดท้ายการทำธุรกิจในประเทศไทย ยังไงก็ยังคงต้องมีออฟฟิศให้คนภายนอกติดต่อเข้ามาอยู่ดี มันเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นระดับนึงว่าบริษัทมีที่ตั้งแน่นอน ส่วนทีมงานไหนจะทำงานแบบ Virtual Office ได้หรือไม่นั้น อยู่ที่ทุกคนต้องมั่นใจและไว้วางใจซึ่งกันและกัน

พูดความจริงไม่เน้นสร้างภาพ กล้าเผชิญหน้ากับปัญหา ไม่มัวจับผิดเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และต้องมีวินัยในการสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอ อย่าไปเน้นที่เครื่องมือก่อน เพราะเครื่องมือมีอยู่แล้วครับ คนต่างหากที่พร้อมหรือเปล่าที่จะปรับตัวก็เท่านั้นเอง

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ