Startup พันล้านเหรียญ : ดร. วิลาส ฉ่ำเลิศวัฒน์

columnist

ในวงการนักลงทุนที่เรียกว่า Venture Capital ได้มีการกำหนดชื่อเรียกลำดับขั้นของธุรกิจ Startup แบบขำๆ โดยแบ่งตามมูลค่าประเมินไว้อย่างน้อย 3 ขั้น ได้แก่ ยูนิคอร์น, เซนทอร์ และ ลิตเติ้ลโพนี่ (หรือลูกม้าจิ๋วน่ารักๆ) โดยนิตยสาร Fortune ได้เคยนับจำนวนไว้เมื่อต้นปี 2015 ว่ามีอยู่ประมาณ 80 กิจการ เวลาผ่านมาแค่ 9 เดือน

ในวงการนักลงทุนที่เรียกว่า Venture Capital ได้มีการกำหนดชื่อเรียกลำดับขั้นของธุรกิจ Startup แบบขำๆ โดยแบ่งตามมูลค่าประเมินไว้อย่างน้อย 3 ขั้น ได้แก่ ยูนิคอร์น, เซนทอร์ และ ลิตเติ้ลโพนี่ (หรือลูกม้าจิ๋วน่ารักๆ) โดยนิตยสาร Fortune ได้เคยนับจำนวนไว้เมื่อต้นปี 2015 ว่ามีอยู่ประมาณ 80 กิจการ เวลาผ่านมาแค่ 9 เดือน

 

ในเดือนกันยายน 2015 ที่ผ่านมา cbinsights.com แจ้งว่ามีกิจการที่จัดอยู่ในกลุ่มยูนิคอร์น 138 ราย ซึ่งตีมูลค่าโดยรวมของธุรกิจอยู่ที่ $501 พันล้าน แค่เวลาไม่ถึงปีโลกเรามียูนิคอร์นเพิ่มขึ้นถึงเกือบเท่าตัว แล้วถ้าหันกลับมาเปรียบเทียบกับ GDP ของประเทศไทยเมื่อปี 2014 เราอยู่ที่ $373.80 พันล้าน แปลได้ว่า Startup แค่ 138 บริษัทนี้มีมูลค่ามากกว่ารายได้รวมทั้งประเทศของเราเสียอีกนะครับ

 

หากสนใจดูอัพเดทรายชื่อยูนิคอร์นสามารถไปดูต่อได้ที่ www.cbinsights.com/research-future-unicorn-companies

 

วันนี้ผมเลยอยากมาเล่าถึงสัตว์เทพในตำนานเหล่านี้ให้ทุกคนฟังครับ เริ่มจาก “ยูนิคอร์น” (Unicorn) มันคือธุรกิจที่ถูกตีมูลค่าไว้มากกว่า $1 พันล้าน ถัดมา “เซนทอร์” (Centaur) หรือเจ้าสัตว์ที่มีตัวเป็นคนมีขาเป็นม้า 4 ขา คือธุรกิจที่มีมูลค่ามากกว่า $100 ล้าน สุดท้าย “ลิตเติ้ลโพนี่” (My Little Pony) คือธุรกิจมูลค่ามากกว่า $10 ล้าน

 

แน่นอนครับธุรกิจไม่ได้เปิดมาแล้วพันล้านเลยทีเดียว แต่มันคือธุรกิจที่มีการเติบโตเป็นหลายเท่าตัวทุกปี จากลิตเติ้ลโพนี่ไปสู่ยูนิคอร์น เช่น ปีนี้โต 10 เท่า ปีถัดมาโต 10 เท่า ปีถัดมาโตอีก 10 เท่า 3 ปีคือโต 1,000 เท่า ส่วน SME ที่เราคุ้นเคยมักจะหวังการเติบโตเป็น % เช่น ปีนี้โต 10% ปีถัดมาโตอีก 10% ปีถัดไปก็โตอีก 10% สรุป 3 ปีคือโตขึ้น 33.1% ยังไม่ถึงเท่าตัวหรือ 100% เลยครับ

 

มันต่างกันตรงนี้ และธุรกิจที่สามารถเติบโตแบบนี้ได้คือ ธุรกิจที่ทำซ้ำ (Repeatable) และขยายได้ (Scalable) มันต้องเป็นธุรกิจที่มีเทคโนโลยีเป็นพื้นฐานทั้งนั้นครับ

 

สำหรับในเอเชียเรามียูนิคอร์นใน Top List เช่น

 

อันดับ 1 Xiaomi จากประเทศจีน มูลค่า $46 พันล้าน ระดมทุนไป $1.45 พันล้าน เป็นบริษัทที่ผลิต Smartphone อุปกรณ์ Wearable Gadget ต่างๆ

 

อันดับ 2 FlipKart จากประเทศอินเดีย มูลค่า $16 พันล้าน ระดมทุนไป $3.1 พันล้าน เป็นอีคอมเมิร์ซเว็บไซต์ที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย

 

อันดับ 3 Didi Kuaidi จากประเทศจีน มูลค่า $16 พันล้าน ระดมทุนไป $3.8 พันล้าน ให้บริการเกี่ยวกับรถ Taxi และรถเช่า

 

อันดับ 4 DJI จากประเทศจีน มูลค่า $10 พันล้าน ระดมทุนไป $75 ล้าน เป็นบริษัททำ Drone สำหรับผู้บริโภคทั่วไป

 

อันดับ 5 Lufax จากประเทศจีน มูลค่า $10 พันล้าน ระดมทุนไป $485 พันล้าน ให้บริการกู้ยืมเงินแบบผู้คนยืมกันเองโดยไม่ต้องผ่านธนาคาร

 

และที่เราคนไทยเคยได้ยินแล้วก็ใช้กันอยู่ 2 ธุรกิจคือ

 

อันดับ 12 GrabTaxi จากประเทศมาเลเซีย มูลค่า $1.8 พันล้าน ระดมทุนไป $690 ล้าน

 

อันดับ 15 Lazada จากประเทศสิงคโปร์ มูลค่า $1.2 พันล้าน ระดมทุนไป $763 ล้าน

 

ซึ่งในการสร้างยูนิคอร์นให้มีมูลค่าพันล้านแบบนี้ต้องมีรายได้ต่อปีก็อย่างน้อย 100 ล้านเหรียญ เรามีวิธีและชื่อเรียกขำๆ อยู่อีก 5 อย่าง ได้แก่

 

1. ธุรกิจจับแมลงวัน คือมีผู้ใช้งาน 10 ล้านคนที่ทำให้เราสามารถไปขายโฆษณาได้ที่ 10 เหรียญต่อคนต่อปี ซึ่งแน่นอนเราต้องการประมาณ 100 ล้านคนที่มาดาวน์โหลดแอปฯ หรือเข้าเว็บไซต์เรา ธุรกิจประเภทนี้ต้องการความเป็น Social มากๆ ผู้ใช้เป็นคนสร้างเนื้อหาเอง และมีอารมณ์ของการบอกต่อส่งต่อสูง อย่างเช่น Instagram เป็นต้น

 

2. ธุรกิจจับหนู คือมีลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคจำนวน 1 ล้านคนที่ยอมจ่าย 100 เหรียญต่อปี นั่นหมายถึงต้องมีผู้ใช้ 10-20 ล้านคนที่ใช้แอปฯ ของเรา รายได้ของธุรกิจประเภทนี้มักมาจากการสมัครสมาชิกรายเดือนหรือรายปีของผู้ใช้เอง เช่น Evernote และ MailChimp

 

3. ธุรกิจจับกระต่าย คือมีลูกค้าที่เป็นธุรกิจขนาดเล็กจำนวน 1 แสนรายที่ยอมจ่าย 1,000 เหรียญต่อปี ส่วนใหญ่มักจะเป็นธุรกิจที่ให้บริการแก่ SME โดยคิดเป็นค่าบริการราว $50-$100 ต่อเดือน และการได้มาซึ่ง 100,000 รายที่ยอมจ่ายนี้ เราต้องมีคนสมัครทดลองใช้อยู่ราว 0.5-2 ล้านราย ขึ้นอยู่กับเราสามารถจูงใจเปลี่ยนจากการทดลองใช้เป็นยอมจ่ายจริงได้เท่าไร

 

4. ธุรกิจจับกวาง คือมีลูกค้าที่เป็นบริษัทขนาดกลางจำนวน 1 หมื่นราย ที่ยอมจ่าย 10,000 เหรียญต่อปี ส่วนมากเทคนิคจากการจับกระต่ายก็ยังพอใช้ได้ผลในการจับกวาง แต่ต้องยอมรับว่าบริษัทที่ยอมจ่าย $10,000 ต่อปีคงต้องการการดูแลมากกว่าแน่นอน

 

5. ธุรกิจจับช้าง คือมีลูกค้าที่เป็นบริษัทใหญ่ 1 พันรายที่ยอมจ่าย 100,000 เหรียญต่อปี เหมือนจะง่ายแต่ก็ไม่ง่ายเสียทีเดียว คือไม่ต้องหาลูกค้าจำนวนเยอะ แต่นั่นคือการที่เราจะต้องมี Solution ที่ดีมากๆ ที่ทำให้บริษัทใหญ่ยอมจ่าย เช่น Veeva Systems ผู้ให้บริการ Cloud-Based Business Solutions สำหรับอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ทั่วโลก หรือ Workday ผู้ให้บริการ ERP (Enterprise Resource Planning) อย่างระบบบริหารบุคคล ระบบการเงิน และระบบวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ

 

ลองดูนะครับคุณอยากเป็น “สัตว์เทพ” ตัวไหน และอยากทำธุรกิจจับอะไร การเป็น Startup มีวิถีในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้อยู่ครับ หากเรามีไอเดียที่ดี มีทีมที่พร้อม เราก็สามารถทำให้มันเป็นจริงได้ ธุรกิจพันล้านเหรียญอาจอยู่ไม่ไกลเกินไปครับ

 

ผมอยากเห็นธงชาติไทยปักอยู่ในกลุ่มของเหล่ายูนิคอร์นจัง

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ