ค่าทิป ธรรมเนียมการให้ที่ไม่เหมือนกัน : เสน่ห์ ศรีสุวรรณ

columnist

Tip เป็นคำภาษาอังกฤษที่มีหลายความหมาย เช่นปลายแหลม ยอด ส่วนที่สวมปลาย การลาดเอียง การตีเบาๆ สถานที่ทิ้งขยะ คำแนะนำ แต่ความหมายที่คุ้นเคยและเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “ทิป” ก็คือเงินรางวัลหรือค่าตอบแทนการให้บริการ เป็นที่รับรู้กันว่าการให้ทิปกับพนักงานหรือผู้ที่ให้บริการขึ้นอยู่กับความพึงพอใจในการรับบริการหรือให้เพื่อเป็นสินน้ำใจแก่ผู้ให้บริการ ไม่ใช่ภาคบังคับแต่เป็นเรื่องของธรรมเนียมปฏิบัติ

Tip เป็นคำภาษาอังกฤษที่มีหลายความหมาย เช่นปลายแหลม ยอด ส่วนที่สวมปลาย การลาดเอียง การตีเบาๆ สถานที่ทิ้งขยะ คำแนะนำ แต่ความหมายที่คุ้นเคยและเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “ทิป” ก็คือเงินรางวัลหรือค่าตอบแทนการให้บริการ เป็นที่รับรู้กันว่าการให้ทิปกับพนักงานหรือผู้ที่ให้บริการขึ้นอยู่กับความพึงพอใจในการรับบริการหรือให้เพื่อเป็นสินน้ำใจแก่ผู้ให้บริการ ไม่ใช่ภาคบังคับแต่เป็นเรื่องของธรรมเนียมปฏิบัติ

ประเทศไทยเรามีธรรมเนียมการให้ทิปกันโดยทั่วไปไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ว่ามากน้อยเพียงใดแล้วแต่ความพอใจ เงินทอนที่เหลือจากค่าอาหารก็มักจะให้เป็นค่าทิปให้กับพนักงานบริการซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นทิปรวมที่ทางร้านเอาไปแบ่งเฉลี่ยให้กับพนักงานบริการทุกคน ถ้าพนักงานคนใดบริการดีหรือให้บริการเป็นการเฉพาะโต๊ะเฉพาะห้องลูกค้าก็มักจะให้ทิปโดยตรงกับพนักงานคนนั้นเพิ่มเป็นพิเศษ ถ้าทางร้านมีการคิดค่าบริการหรือเซอร์วิสชาร์จปกติประมาณสิบเปอร์เซ็นต์ ลูกค้าก็มักจะให้ค่าทิปน้อยหน่อยหรือบางทีก็ไม่ให้เลยเพราะถือว่าทางร้านเก็บค่าบริการไปแล้ว บางร้านไม่มีเซอร์วิสชาร์จก็อาจมีการเขียนหรือให้ลูกค้าทราบว่าทางร้านไม่ได้คิดค่าบริการเพื่อให้ลูกค้าทราบและจะได้ให้ทิปกับพนักงานตามความเหมาะสม บางร้านก็มีกล่องไว้ให้ลูกค้าใส่เงินทิปก็มี

ค่าทิปที่ต้องจ่ายกันเป็นประจำก็คือทิปพนักงานที่ดูแลการจอดรถ ตอนนำรถเข้าจอดบางทีก็มีบางที่ก็ไม่มีพนักงานมาอำนวยความสะดวกในการจอดแต่เวลาจะขับรถออกก็จะมีพนักงานปรากฏตัวออกมาทำเป็นช่วยปิดประตูหรืออำนวยความสะดวกในการขับรถออกแต่จุดมุ่งหมายสำคัญก็คือมารับเงินทิปนั่นเอง ค่านิยมอย่างหนึ่งก็คือถ้าเป็นรถหรูรถราคาแพงเงินค่าทิปก็ควรจะมากรถทั่วไป ถ้ามีผ้ามาบริการคลุมรถที่จอดกลางแจ้งก็ต้องให้ทิปมากกว่าปกติหน่อย ถ้ามีบริการขับรถไปจอดให้หรือที่เรียกว่า Valet Parking ก็ต้องให้ทิปมากหน่อย

การให้ทิปพนักงานโรงแรมเป็นเรื่องปกติ เช่นพนักงานขับรถรับส่งสนามบิน พนักงานยกกระเป๋า พนักงานพาไปส่งยังห้องพัก พนักงานส่งอาหารไปยังห้องพัก แขกที่เข้าพักควรต้องเตรียมแบงก์ย่อยติดกระเป๋าไว้เช่นแบงก์ยี่สิบหรือแบงก์ห้าสิบเอาไว้ทิปพนักงานด้วย ในบางประเทศโดยเฉพาะประเทศในทวีปยุโรปจะคิดเงินค่าบริการของพนักงานยกกระเป๋าหรือที่เรียกว่า Porter ไว้เป็นเรื่องเป็นราวแบบนี้ไม่ต้องทิปเพิ่มเติมแล้วก็ได้

ผมมักจะมีแขกต่างประเทศถามอยู่บ่อยครั้งว่าธรรมเนียมการให้ทิปของประเทศไทยเป็นอย่างไร ผมก็จะตอบไปว่าให้ตามความพึงพอใจหรือตามความเหมาะสมไม่ต้องให้มากมายและบางแห่งก็มีการคิดค่าบริการหรือเซอร์วิสชาร์จอยู่แล้ว แต่ถึงกระนั้นก็เป็นที่น่าสังเกตว่าคนต่างชาติโดยเฉพาะฝรั่งยุโรปหรืออเมริกาจะให้ทิปมากกว่าคนไทยทำให้พนักงานบริการบางคนเอาใจใส่ให้บริการฝรั่งต่างชาติมากกว่าคนไทยเพราะหวังได้ทิปนั่นเอง ทำให้คนไทยรู้สึกไม่ค่อยพอใจ

ธรรมเนียมการทิปในแต่ละประเทศแตกต่างกัน เช่นญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมไม่ต้องให้ทิปอาจเป็นเพราะราคาสินค้าและบริการสูงอยู่แล้ว พนักงานบริการได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนจากนายจ้างสูงจึงไม่ต้องการได้เงินทิปพิเศษเพิ่มเติมจากลูกค้า ผมเคยให้ทิปกับพนักงานบริการร้านอาหารกลับได้รับคำขอบคุณและปฏิเสธที่จะรับทิป ผมพยายามคะยั้นคะยอที่จะให้ก็ยังได้รับการปฏิเสธที่จะไม่รับเช่นเดิมจนผมต้องเอาทิปคืน เป็นไปได้ว่าถ้าพนักงานบริการผู้นั้นรับทิปไปจะเป็นเรื่องแปลกเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง  ดังนั้นลูกค้าควรเก็บเงินทอนโดยไม่ต้องเหลือไว้เป็นทิปซึ่งถือเป็นเรื่องที่ควรปฏิบัติในประเทศญี่ปุ่น

สิงคโปร์ก็ไม่มีข้อปฏิบัติในการให้ทิปไม่ว่าจะเป็นแท็กซี่ โรงแรม ร้านอาหาร แต่อาจให้ทิปเล็กๆน้อยๆสักเหรียญสองเหรียญกับพนักงานโรงแรมที่ช่วยยกกระเป๋าก็เรื่องที่ทำได้ สิงคโปร์จะมีค่าชาร์จที่กำหนดไว้เป็นมาตรฐานชัดเจนเช่นค่าแท็กซี่อาจบวกเซอร์ชาร์จ(Surcharge)เพิ่มเติมกรณีเรียกจากสนามบินหรือชั่วโมงเร่งด่วนหรือเกินเวลาปกติ  ร้านอาหารบางร้านก็อาจมีเซอร์วิสชาร์จปกติ 10% จึงไม่จำเป็นต้องให้ทิปเพิ่มเติม

ผมเดินทางไปประเทศจีนโดยเฉพาะเมืองเซี่ยงไฮ้มาหลายครั้งสมัยก่อนไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการทิปมากนัก แต่สมัยนี้เริ่มมีธรรมเนียมการให้ทิปเล็กๆน้อยๆกับพนักงานโรงแรม พนักงานยกกระเป๋า พนักงานบริการร้านอาหาร เป็นต้น

ประเทศยุโรปเช่นอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศสมักจะคิดค่าบริการหรือเซอร์วิสชาร์จประมาณ 10% อยู่ในราคาสินค้าและบริการแล้วจึงไม่มีความจำเป็นต้องให้ทิปเพิ่มเติม ถ้าจะให้ก็มักจะเป็นเงินทอนเล็กๆน้อยๆที่ลูกค้าไม่รับให้พนักงานเก็บไป

ประเทศที่มีธรรมเนียมปฏิบัติที่เคร่งครัดเข้มข้นมากในเรื่องการให้ทิปก็คือเมริกา ผมเคยเดินทางไปอเมริกาครั้งแรกเมื่อสามสิบปีก่อนไปพักอยู่แค่สองคืนที่ไมอามี รัฐฟลอริดา ก่อนจะบินต่อไปเข้าอบรมที่เปอร์โตริโก ยังไม่ค่อยรับรู้ถึงข้อกำหนดในการให้ทิปในอเมริกามากนักรู้แค่ว่าต้องให้ทิปก็ให้ไปตามที่เห็นสมควร ต่อมาผมไปประชุมและเข้าอบรมที่เมืองฮิวสตัน รัฐเทกซัส เกือบสองสัปดาห์จึงทราบว่าการจ่ายทิปในอเมริกาเป็นเรื่องสำคัญมากและถือเป็นธรรมเนียมที่ต้องปฏิบัติ คืนแรกผมเข้ารับประทานอาหารในแห่งหนึ่งใกล้โรงแรมที่พัก พอรับประทานเสร็จก็ขอบิลเพื่อจ่ายเงิน ผมจ่ายเป็นเงินสดแล้วก็เก็บเงินทอนเหลือเศษเหรียญไว้เตรียมจะลุกออก พนักงานพูดกับผมขึ้นว่า

“ขอโทษนะครับ คุณลืมอะไรไปหรือเปล่าครับ”

ผมทำท่างงมองไปที่โต๊ะที่ผมนั่งอยู่ เอามือจับโทรศัพท์มือถือและกระเป๋าสตางค์อยู่ครบก็เลยตอบพนักงานคนนั้นไปว่าไม่ได้ลืมอะไร พนักงานผู้นั้นจึงพูดกับผมแบบตรงไปตรงมาว่า

“คุณยังไม่ได้ให้ทิปผมเลยครับ”

เล่นเอาผมสะดุ้งเพราะถูกทวงค่าทิปเข้าให้แล้วแต่ไม่เคยมีข้อมูลและไม่เคยถามใครมาก่อนเลยว่าในอเมริกาเขาให้ทิปกันยังไง

“ให้สักสิบห้าเปอร์เซ็นต์ก็ได้ครับ”

พนักงานคนนั้นคงดูออกว่าผมเป็นคนต่างชาติและไม่รู้ในเรื่องธรรมเนียมการจ่ายทิปในอเมริกาแน่เลยจึงบอกเกณฑ์การจ่ายทิปกับผมตรงๆ ทำให้ผมต้องหยิบใบเสร็จค่าอาหารออกมาดูเพื่อคำนวณและจ่ายทิปให้พนักงานคนนั้นไปสิบห้าเปอร์เซ็นต์ของค่าอาหาร เป็นประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิตที่ผมโดนทวงค่าทิป จากนั้นผมก็เลยต้องสอบถามผู้เข้าประชุมและฝึกอบรมที่เป็นชาวอเมริกันว่าเกณฑ์การจ่ายทิปในอเมริกาเป็นเท่าไหร่

“ปกติค่าทิปจะประมาณ 15-20%ครับ”

ตามปกติราคาสินค้าและบริการในอเมริกาจะไม่มีค่าบริการหรือเซอร์วิสชาร์จ แต่จะมีค่าภาษีที่เป็นภาษีเข้ารัฐหรือ Government Tax อัตราแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ ดังนั้นจึงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ลูกค้าจะต้องจ่ายค่าบริการให้กับพนักงานในรูปแบบของทิปโดยเฉพาะการใช้บริการที่มีพนักงานบริการเช่นร้านอาหาร แท็กซี่เป็นต้นซึ่งจะตกประมาณสองเท่าของอัตราภาษีจึงอยู่ในช่วง 15-20%  และเป็นเรื่องปกติอีกเช่นกันที่พนักงานมักจะทวงเงินค่าทิปถ้าลูกค้าไม่จ่ายหรือจ่ายทิปน้อยไปจากเกณฑ์มาตรฐาน

เมื่อห้าปีก่อนผมและครอบครัวไปเที่ยวลอสแองเจลิส และซานฟรานซิสโก กลางปีนี้ไปเที่ยวนิวยอร์ค วอชิงตัน ดีซี และเข้าไปแคนาดาเที่ยวโตรอนโตและน้ำตกไนแองกาล่าด้วย จึงต้องระมัดระวังการจ่ายทิปให้เป็นไปตามเกณฑ์ 15-20% พบช่องทางที่ไม่ต้องจ่ายทิปก็คือการรับประทานอาหารในฟูดคอร์ท หรือแคนทีนที่ไม่มีพนักงานเสิร์ฟ ถ้าจะนั่งแท็กซี่ก็ใช้บริการอูเบอร์แท็กซี่ที่ไม่ต้องจ่ายค่าทิป ตอนเข้าไปเที่ยวและพักในโตรอนโต แคนาดา เข้าไปรับประทานอาหารร้านเกาหลี เสร็จแล้วก็ขอบิลค่าอาหารจัดการจ่ายเงินสดพอดีกับราคาในบิล

“คุณยังไม่ได้ให้ทิปนะครับ”

ผมโดนทวงค่าทิปในแคนาดาอีกจนได้ ต้องจ่ายทิปให้ไปประมาณ 15% อัตราเดียวกับอเมริกาเลย

ใครจะไปทำงาน ไปติดต่อธุรกิจการค้า ไปดูงาน ไปท่องเที่ยวประเทศอะไรก็ต้องหาข้อมูลเรื่องการให้ทิปกันไปด้วยจะได้ปฏิบัติกันได้อย่างเหมาะสม ค่าทิปมีธรรมเนียมการให้ที่ไม่เหมือนกัน

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ