บูรพา-อาคเนย์ : รับมือรถไฟจีน Migration is the mega-trend : บัณรส บัวคลี่

บัณรส บัวคลี่

ระบบการขนส่งมวลชนของจีนต้องรองรับผู้คนมหาศาล ยิ่งในช่วงเทศกาลเดินทางสำคัญของปียิ่งเห็นได้ชัดว่าโครงสร้างของสถานที่ต้องใหญ่เพียงพอจะรองรับผู้คนได้ เพราะมีบ่อยๆ ที่เกิดหิมะตกรถไฟดีเลย์ ผู้คนตกค้างยิ่งต้องรอผิดเวลาไป จึงเกิดภาพที่คนเป็นหมื่นๆ แออัดกันอยู่

มหกรรมเดินทางตรุษจีน

วาระนี้กำลังเข้าสู่เทศกาลตรุษจีน แต่ละปีจะมีการรายงานภาพและข่าวมหกรรมการเดินทางของชาวจีนไปตรุษปีใหม่รับฤดูใบไม้ผลิ (ชุนเจี๋ย) ของผู้คนมากมายมหาศาลที่หลั่งไหลเดินทางจากเมืองใหญ่สู่บ้านเกิดเฉลิมฉลองปีใหม่กับครอบครัว

การเดินทางที่ว่าจัดเป็นมหกรรมการเคลื่อนย้ายผู้คนที่ยิ่งใหญ่ของโลกก็ว่าได้ เพราะแต่ละปีจะมีคนมากกว่า 250-260 ล้านคน ใช้พาหนะทุกชนิดเดินทางในระยะเวลา 40 วันของเทศกาลดังกล่าว สำนักข่าวใหญ่ระดับโลกล้วนแต่ต้องเคยรายงานมหกรรมเดินทางแห่งฤดูใบไม้ผลิ “ชุนอวิ้น” (春运)หรือ Chinese Spring Festival travel season มีภาพถ่ายสวยๆ สะท้อนอารมณ์และความคับคั่งจอแจมโหฬารพร้อมกันไป

ผมเองก็เคยผ่านเข้าไปในมหกรรมเดินทางที่ว่าด้วยในช่วงปลายของการเดินทาง ไปขึ้นรถไฟที่สถานีคุนหมิงไปลงที่ลี่เจียง ก่อนไปทำการบ้านดูรถประจำทางจากสนามบิน ดูภาพสถานีรถไฟ ฯลฯ ไว้ก่อนล่วงหน้า ถึงขนาดนั้นเมื่อลงจากรถไปเจอของจริงยังต้องตะลึงตึงๆ ในขนาดความใหญ่โตของมัน โครงสร้างตัวอาคารใหญ่เทียบกับตึกราว 10 ชั้นอยู่เบื้องหน้าราวครึ่งกิโลเมตรได้  ต้องเบียดเสียดผู้คนตั้งแต่ท้องถนนเพื่อไปต่อแถวตรวจสัมภาระอาวุธผ่านเครื่องเอ็กซเรย์ที่มีสัก 10 ช่องได้ เพื่อจะเข้าไปลานกว้างของตัวอาคาร จากลานดังกล่าวมีอาคารต่างๆ ตั้งแต่โรงซื้อตั๋วออนไลน์ ร้านค้าย่อย ที่ทำการเจ้าหน้าที่ โรงขายตั๋วขนาดใหญ่ที่มีคนเป็นพันๆ แออัดเข้าคิวเป็นแถวๆ สัก 50 แถวและมีคนยืนอยู่เต็มมืดไปหมด

เอาเฉพาะพื้นที่ส่วนล่างตั้งแต่ผ่านช่องเอ็กซเรย์ไปยังลานด้านหน้าและโถงขายตั๋วชั้นล่างอาคาร มีขนาดกว้างใหญ่สัก 10 สนามฟุตบอลรวมกัน  และพื้นที่ดังกล่าวนั้นก็แออัดยัดเยียดไปด้วยผู้คน ข้าวของสัมภาระพะรุงพะรัง ไม่มีใครสนใจใคร

คนที่มีตั๋วเดินทางแล้วเท่านั้นที่จะสามารถขึ้นไปชั้นบนตึกสถานีได้ แล้วแถวที่จะขึ้นไปก็ต้องต่อกันยาว

ทุกจุดในสถานีรถไฟหรือสถานีเดินทางต่างๆของประเทศจีน มีแถวยาวแบบนี้ทั้งสิ้น และก็แออัดยัดเยียดพร้อมจะมีคนแซงคิวได้ตลอดเวลา (แบบที่ทุกคนยอมรับว่านั่นคือกติกาถ้าคุณไม่รักษาสิทธิ์ในการเบียดตัวแทรกไปข้างหน้าของคุณเอง)

เมื่อขึ้นไปถึง ก็ต้องผ่านเครื่องเอ็กซเรย์สัมภาระอีกรอบแบบเดียวกับสนามบินที่เราท่านเคยเจอ ผ่านเข้าไปในโถงใหญ่ กว้างขวางและแออัดมีแต่คน คน คน และคน…. เดินเข้าไปอีกชั้นเป็นโถงกลางสำหรับนั่งรอ ด้านข้างเป็นประตูทางออกลงสู่ชานชาลาต่างๆ มีเลขกำกับ และมีประตูเหล็กโปร่งปิดไว้

เขาไม่ให้ผู้คนออกไปรอที่ชานชาลา จะอนุญาตให้ผู้ที่มีตั๋วของขบวนนั้นๆ ลงไปยังชานชาลาก่อนรถออกเล็กน้อย และเมื่อลงไปแล้วต้องขึ้นรถเลย เขาไม่ให้เตร็ดเตร่นั่งเล่นบนชานชาลา ดังนั้นผู้คนมากมายจึงแออัดนั่งรอกันที่โถงกลางดังกล่าวมืดไปหมด ที่เขาบอกเปรียบเทียบว่าแออัดเป็นปลากระป๋องๆ คงอารมณ์นั้น

ด้านข้างของโถงกลางมีร้านรวงเต็มไปหมด ของฝาก ของกิน ของใช้ ด้านหลังมีห้องอาหารแบบหรูและแบบสำเร็จรูปชี้ๆ เอาเขาบอกราคาจ่ายเงินแล้วก็ตักมาให้ แล้วก็มีห้องพิเศษแยกออกมาสำหรับผู้โดยสารชั้น 1-2 รถนอนรถอะไรที่จ่ายแพงๆ แยกออกมาในห้องนั้นยังอนุญาตให้ผู้โดยสารที่มีเด็กเล็กและคนท้องมานั่นรอได้ด้วย ในนั้นมีน้ำร้อนบริการตลอดเวลา คนจีนอยู่คู่กับน้ำร้อนไว้เติมกระบอกน้ำชาหรือหมี่สำเร็จรูป อากาศหนาวๆ มันช่วยได้จริงๆ

นอกจากห้องพักรอสำหรับชั้นพิเศษซึ่งมีขนาดใหญ่โตมากแล้วยังมีห้องโถงพักที่ใหญ่โตไม่แพ้กัน ในนั้นมีเบาะนั่ง มีโต๊ะกินข้าว ตกแต่งหรูหรา แต่คนจะเข้าไปนั่งในนั้นต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อความสบาย จีนยุคนี้ไม่ใช่สังคมนิยมที่ทุกคนเท่าเทียมกันเหมือนยุคเหมา

ตอนแรกนึกว่าคุนหมิงเป็นเมืองสำคัญดังนั้นโครงสร้างของสถานีรถไฟต้องใหญ่โต มีโถงที่จุคนเป็นหมื่นได้ แต่ที่ไหนได้ เมื่อได้ไปเจอสถานีรถไฟตามเมืองระดับรองลงมา ทั้งลี่เจียง และ ต้าหลี่ มันก็ใหญ่โตมหึมาไม่แพ้กัน สามารถรองรับคนได้ทีละหลายพันก็แล้วกัน และก็มีระบบการจัดการแบบเดียวกันนั่นคือ จะอนุญาตให้คนเข้าไปยังเขตชั้นในชานชาลาก็ต่อเมื่อรถไฟมาแล้ว

ที่ลี่เจียง – ผมเคยหลงไปต่อแถวเพื่อจะเข้าไปด้านในเพราะอ่านภาษาจีนไม่ออก อีหนูหน้ามลอายุนิดเดียวที่เฝ้าประตูดุเอาแบบตวาดแว้ด ไม่สนด้วยว่าเราเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อ่านไม่ออก  การที่เขาต้องเสียงดัง ใช้อำนาจหน้าที่แบบเคร่งครัด เข้มงวด และดุแบบไม่ไว้หน้าใครเป็นเรื่องปกติของสังคมจีน เพราะมิฉะนั้นจะคุมคนปริมาณมหาศาลที่มีธรรมเนียมมีช่องให้รีบแทรกแก่งแย่งกันเป็นปกติไปแล้วไม่ได้

ระบบการขนส่งมวลชนของจีนต้องรองรับผู้คนมหาศาล ยิ่งในช่วงเทศกาลเดินทางสำคัญของปียิ่งเห็นได้ชัดว่าโครงสร้างของสถานที่ต้องใหญ่เพียงพอจะรองรับผู้คนได้ เพราะมีบ่อยๆ ที่เกิดหิมะตกรถไฟดีเลย์ ผู้คนตกค้างยิ่งต้องรอผิดเวลาไป จึงเกิดภาพที่คนเป็นหมื่นๆ แออัดกันอยู่

เทศกาลตรุษจีน นึกถึงรถไฟจีน…และพอนึกถึงรถไฟจีน ก็พลันนึกถึงหลวงพระบาง !!!!

สถานีรถไฟหลวงพระบาง

ได้เห็นภาพจำลองของสถานีรถไฟหลวงพระบางที่จะรองรับรถไฟสายประวัติศาสตร์จากจีน-ลาว-หนองคาย จากคลิปวิดีโอเผยแพร่ที่บริษัทที่ปรึกษาก่อสร้างของจีนทำขึ้นแล้ว มันสะดุดตามาก

เพราะโครงสร้างของสถานีรถไฟหลวงพระบาง ออกแบบตามธรรมเนียมและระบบของจีน มีลานกว้างใหญ่ขนาดสามสี่สนามฟุตบอลต่อกันด้านหน้า ตัวอาคารเป็นโครงสร้างใหญ่มากๆ ใครไม่รู้คงนึกว่าเป็นสนามบิน ขนาดของสถานีแบบที่เห็นเป็นขนาดไม่น้อยกว่าสถานีรถไฟเมืองใหญ่ระดับรองเช่น ลี่เจียง หรือ ต้าหลี่ที่ผมเคยเห็นมา

ตัวเลขประมาณการที่เปิดเผยออกมาบอกว่ารถไฟจีน-ลาวจะมีผู้โดยสารราวปีละ 10 ล้านคน ซึ่งมันน่าจะมีมากเป็นช่วงๆ เช่นฤดูท่องเที่ยวของยุโรปก็ช่วง  ฤดูการเดินทางของคนจีนเองก็อีกช่วง ของคนท้องถิ่นอาเซียนเช่นเทศกาลสงกรานต์ก็อีกช่วง แต่หากคำนวณแบบค่าเฉลี่ย เอา 12 หาร 10 ล้าน ก็ตกเดือนละ  8.3 แสนคน วันละ 2.7 หมื่นคน โอ้โห…!

มิน่ามันถึงใหญ่โตโอฬาร

ธรรมเนียมและวิธีคิดสร้างระบบขนส่งมวลชนแบบจีนได้ถูกนำมาใช้ในลาวแทบทั้งระบบ ราว ๆ กับว่าประเทศลาวเป็นส่วนหนึ่งของจีนไปด้วยซ้ำ

ผมไม่คิดว่าบริษัทที่ปรึกษาของจนคำนวณผิดพลาด ออกแบบรองรับใหญ่เกินไป เว่อวังอลังการเกินเหตุอะไรเลยครับ

เพราะเคยเห็นกับตามาก่อนว่าเวลาคนจีนเขาเดินทางช่วงเทศกาลน่ะ มันแออัดมหาศาลขนาดไหน ระบบจัดการดียังไม่พอ … ต้องมีโครงสร้างของสาธารณูปโภคที่ใหญ่พอรองรับไว้ด้วย

น่าสนใจมากว่าวิธีคิดของจีนที่ต้องสร้างสาธารณูปโภคใหญ่ๆ ไว้รองรับปริมาณการเดินทางของผู้คนของตนเอง ยังสอดคล้องกับแนวโน้มใหญ่ของโลก หนึ่งในแนวโน้มสำคัญหรือ Mega Trends ก็คือการเคลื่อนย้าย/เดินทาง/ท่องเที่ยว/อพยพของผู้คน

Migration is the mega-trend of the 21st century

และจีนก็กำลังมีกิจกรรมขยายอิทธิพลของตนเองออกนอกพรมแดนประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเสียด้วย การก่อสร้างสถานีขนส่งขนาดใหญ่ยักษ์จึงสอดคล้องกับทั้งพฤติกรรมเดิมและแนวโน้มของกิจกรรมใหม่ของจีนแบบไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรมาก


ประตูเข้าไทย และการเตรียมรับหนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทาง

ข่าวจากลาวบอกว่า เมื่อปลายปี 2559 ตัวแทนกระทรวงคมนาคมลาว ได้ประสานขอเจรจาหารือกับตัวแทนคมนาคมและการรถไฟไทย แจ้งเรื่องความคืบหน้าทางรถไฟจีน-ลาวที่กำลังเริ่มก่อสร้าง การหารือเกี่ยวไปถึงระบบเชื่อมโยงรถไฟของสองชาติ ซึ่งคงจะมีการเจรจา ตั้งกรรมการต่างๆ ต่ออีกหลายคณะเพราะกว่ารถไฟลาวจะแล้วเสร็จก็โน่น ในอีกราว 5 ปีข้างหน้า

ไทยเราควรจะฉกฉวยและได้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟสายนี้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่อย่างไรก็ตามการเตรียมรองรับรถไฟจีน เป็นเรื่องของวิสัยทัศน์และการคาดการณ์ไปข้างหน้าอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่องค์ความรู้ การคำนวณเท่านั้น ยังต้องอาศัยจินตนาการผนวกกับความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใหญ่ของโลก ของภูมิภาคพร้อมกันไป

ความเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่จะมาแน่ๆ ก็คือ โลกในทศวรรษหน้า จะเป็นโลกที่มีปริมาณการเดินทางเคลื่อนย้ายผู้คนขนาดมหาศาล …

แต่จะมหาศาลขนาดไหนแค่ไหนนี่สิ ที่ต้องขบคิด ประเมินกันต่อ !!

ในช่วงสองสามปีมานี้กระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนเกิดขึ้นมากมาย.. เพิ่งจะซาลงไปไม่นานหลังจากที่สังคมไทยเริ่มเรียนรู้และเข้าใจวิถี/แบบแผน/พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้น ไอ้ที่เคยรำคาญตา หงุดหงิด รำคาญก็ลดลงไปจากเดิม  มีนักวิชาการที่ทำงานศึกษาเรื่องนักท่องเที่ยวจีนที่ให้ความเห็นน่าสนใจ เช่น ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาดที่ชี้ว่ารัฐบาลและสังคมไทยต้องปรับตัวเองรับมือกับกระแสที่เปลี่ยนแปลง

ขนาดของการเดินทางและขนาดของกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน มันเป็นอะไรที่ใหม่มากสำหรับระบบการบริการแบบที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเคยชิน มันจึงเกิดปัญหาเต็มไปหมด

เรื่องขนาดของทัวร์ ปริมาณของผู้คนที่มากันเป็นกรุ๊ปใหญ่ๆ รอกันเยอะๆ เสียงดังบ้าง อะไรบ้าง…ที่สังคมไทยได้เจอจากทัวร์จีน อันที่จริงเป็นเรื่องที่ดี ที่ได้เห็นหนังตัวอย่างล่วงหน้าไว้ก่อน เพื่อจะเตรียมปรับตัวรับมือได้ เพราะว่าทศวรรษจากนี้ไปปริมาณการเคลื่อนย้ายของผู้คนไปทำงานท่องเที่ยวจะยิ่งมากมายมหาศาลกว่านี้

วิธีคิดและคำนวณ เพื่อจัดสร้างระบบสาธารณูปโภคของไทยจากนี้ไปต้องคิดใหม่ คำนวณใหม่บนฐานของโลกที่เปลี่ยนไป ความแออัดยัดเยียดของสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ดังนั้นการเตรียมระบบตลอดถึงแนวคิดที่จะฉกฉวยเพื่อได้ประโยชน์จากการเคลื่อนย้ายผู้คนและการคมนาคมใหม่จึงเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย  ระบบที่ไทยเราจะเชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟจีน-ลาว น่าจะอยู่บนโครงสร้างที่ใหญ่โตแบบจีนเป็นอย่างน้อย

หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไม่ได้มีแค่ปริมาณการเดินทางมหาศาลของผู้คนจากแผ่นดินใหญ่เท่านั้น หากยังรวมถึงผู้คนจากอาเซียนและนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่จะผ่านจุดเชื่อมต่อดังกล่าวนั้น.