ได้อ่านข่าวการประท้วงต่อต้านการประชุม G20 ที่ฮัมบวร์ก เยอรมนีเมื่อต้นเดือนด้วยความสนใจยิ่ง เพราะนานๆ จะได้เห็นคนในประเทศที่พัฒนาแล้วทุกด้านเป็นลำดับต้นของโลกก่อการจลาจลแบบไร้เหตุผล ทุบทำลายกระจกร้านค้า เผารถยนต์ ทุบตีกับตำรวจเป็นการแสดงอิทธิฤทธิ์ของฝ่ายต่อต้านทิ้งท้ายการประชุมของมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกได้สำเร็จ
สำเร็จ แปลว่าใครๆ ได้เห็นว่ามีกลุ่มฉันที่ต่อต้านอยู่นะ (แม้ว่าจะมีคนเห็นด้วยกับวิธีการรุนแรงหรือไม่ก็ตาม)
การต่อต้านการประชุมใหญ่ๆ อย่าง G20 หรืออื่นๆ ที่เป็นกระบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกระแสหลักเช่น World Bank มีมานานแล้ว รวมถึงการประชุม ADB ที่เคยจัดในไทยที่เชียงใหม่ยุครัฐบาลทักษิณก็มีการประท้วงโดยเอ็นจีโอแบบนี้มาแล้ว
เขาเรียกขบวนการนี้รวมๆ ว่า Anti-Globalization Movement มีการจัดตั้งเครือข่ายกันมานาน อย่างที่เยอรมันล่าสุดมีผู้ประท้วงถึงราว 5 หมื่นคน ในจำนวนนั้นเป็นเอ็นจีโอมาจากประเทศอื่นรวมทั้งมีการวางแผนเช่น การแสดงซอมบี้ แต่งกายคนให้เป็นผีดิบเพื่อให้เป็นข่าวสารแพร่ออกไปทั่วโลก เยอรมันนั้นเป็นชาติประชาธิปไตย เคารพในสิทธิการแสดงออกของผู้ต่อต้านขนาดที่มีตำรวจเดินนำขบวนประท้วงให้อีกต่างหาก แต่ไม่รู้เกิดสะดุดตอนไหน ระหว่างอุบัติเหตุกับการวางแผนมา ผมเชื่ออย่างหลัง .. การจลาจลก็น่าจะมาจากการออกแบบเพื่อทิ้งทวนประกาศศักดาของขบวนการนั่นแหละ มีน้ำหนักสุด
โลกาภิวัตน์รอบที่กำลังเกิดอยู่นี้เริ่มตั้งแต่ทศวรรษ 90 มาพร้อมกับเจตนาแพร่ขยายลัทธิเสรีนิยมใหม่ผูกไว้ด้วยกัน มันถึงเกิดข้อตกลงการค้าเสรี WTO แนวคิดต่างๆ เช่น privatization เพื่อให้ทุนเสรีหมุนโลกไป แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกิน 20 ปี ผลพวงของมันก็สะท้อนให้เห็นว่าแนวความคิดดังกล่าวยังมีจุดอ่อนอยู่ ยิ่งพัฒนาคนกลุ่มหนึ่งยังจนต่อไป ฯลฯ มันถึงเกิดการขยายตัวของ Anti-Globalization Movement แล้วก็ไปแสดงอิทธิฤทธิ์ต่อต้านตามที่ประชุมต่างๆ ล่าสุดก็ที่เยอรมนี
แล้วยังไง… เขาให้เขียนเรื่องบูรพา-อาคเนย์แถวบ้านเราดันไปยกเรื่องเยอรมันมาทำไม? คำตอบก็คือ ให้ดูตัวอย่างไว้ครับ มันมาแน่ !
มันมาแน่ เพราะ
หนึ่ง-เรายังอยู่กับโลกาภิวัตน์ โลกไร้พรมแดน ทุนเสรีและโลกที่มีแบบแผนเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน แถมเป็นโลกาภิวัตน์ที่พัฒนายกระดับตนเองขึ้นเป็นระดับ 4.0 มาพร้อมกับเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก พวก disruption ต่างๆ ที่ตอกย้ำว่าทุนมันไร้พรมแดนจริงๆ ใช้มือถือมาจ่ายสินค้าอีกประเทศโดยไม่มีเงินสดมาเลยก็ยังได้
สอง-ต่อให้แนวความคิดแบบลัทธิเสรีนิยมใหม่แบบฝรั่งจะเกิดปัญหาและความแคลงใจในประสิทธิผลของมันอยู่บ้าง เพราะยิ่งทำไปยิ่งแพ้จีนที่ใช้อำนาจรัฐมาร่วมกำกับทุน
แนวคิดทุนนิยมแบบจีน ไม่เหมือนเสรีนิยมใหม่ตะวันตก ที่มีแนวคิดให้รัฐคุมน้อยที่สุดและให้มือที่มองไม่เห็นหมุนทุนไป จีนใช้การวางแผนจากส่วนกลางพัฒนาเศรษฐกิจของตนเองอย่างร้อนแรงเมื่อทศวรรษกว่าๆ จนกลายเป็นเจ้าหนี้ใหญ่ของอเมริกา จากนั้นก็จะใช้โมเดลการวางแผนจากส่วนกลางนี่แหละที่จะหมุนทุนนิยมจีนออกไปยังประเทศอื่นๆ ตามแนวหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
ไม่ได้ปล่อยให้ทุนออกไปเสรี แต่ไปพร้อมกับการเจรจาทางการทูต !
เพราะจีนมองประเทศเป็นบริษัทจีนจำกัด!
แปลว่าภายใต้คลื่นโลกาภิวัตน์ 4.0 ประเทศใหญ่น้อยจะเผชิญกับทุนเสรีนิยมตะวันตกแบบแผนเดิมแล้วก็จะยังเจอกับมหายักษ์ตัวใหม่ที่ผูกทุนกับอำนาจรัฐของประเทศมหาอำนาจแล้วก็ไปพร้อมกันกับมัน
OBOR เป็นทุนนิยมส่งออกที่ไปพร้อมกับการเจรจาทางการทูต เขาจึงวิจารณ์กันว่านี่เป็นการจัดระเบียบโลกใหม่ สร้างภูมิรัฐศาสตร์ใหม่จากเส้นทางคมนาคมและความสัมพันธ์ ก่อให้เกิด eco-politics (ไม่รู้แปลว่าอะไรดี) ใหม่ขึ้นมา
เหมือนเจิ้งเหอเอาเรือรบไปสร้างบารมีไปด้วย ไปค้าขายด้วย ก่อให้เกิดชาวจีนคนออกไปตั้งรกรากเป็นจีนโพ้นทะเลตามมาด้วย
กระแสจีนไหลออกดังกล่าวเป็นโลกาภิวัตน์ที่อย่างไรก็ตาม มันต้องมาแน่นอน
สาม– จะต้องมีกลุ่มผู้ถ่ายแพ้แห่งยุค 4.0 เกิดขึ้นแน่นอน เพราะว่าจะทุนแบบไหน จะแบบจีนหรือตะวันตก หากมาพร้อมกับกระแสคลื่นลูกใหญ่ที่ถั่งโถมมาแรงยุค 4.0 หากท้องถิ่นตั้งรับไม่ดี อาจจะพังพินาศได้ง่าย เพราะขึ้นชื่อว่าทุนจะผูกกับรัฐหรือมากับมือที่มองไม่เห็นก็คือทุนนั่นแหละ
ยิ่งยุคนี้เป็นยุคแห่งเทคโนโลยี AI / fin tech ต่างๆ มีแต่ยักษ์ใหญ่เท่านั้นที่จะได้เปรียบ
กระแสต่อต้านจีนเริ่มเกิดแล้วนะครับ
มันก็เริ่มเกิดมีขบวนการต่อต้านทุนจีนยาตรา… แบบที่เกิดขบวนการ anti-globalization ที่ฮัมบวร์กนั่นล่ะ
ที่ศรีลังกา ประชาชนของเขาไม่ชอบจีนมาก เพราะรัฐบาลเป็นหนี้เลยต้องยอมยกพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ตามแนวทาง OBOR ข่าวการประท้วงต่อต้านเกิดมาแต่ปีที่แล้วโน่น และยังมีกระแสเป็นระยะๆ
สี่ – กระแสชาตินิยมทางเศรษฐกิจ economic nationalism จะเป็นสิ่งจำเป็น
สิ่งที่เป็นผลพวงด้านตรงข้ามของโลกาภิวัตน์ ทุนข้ามพรมแดน ก็คือชาตินิยมครับ โดยเฉพาะชาตินิยมทางเศรษฐกิจ … โลกาภิวัตน์และเสรีนิยมใหม่ด้านที่ล้มเหลว ก่อให้เกิดกระแสชาตินิยม กระแสฝ่ายขวาขึ้นมาในโลก อย่างประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกานี่ชัดเจนว่า ในแต่ละสังคมเกิดมีความคิดต่อต้านการเปิดเสรีที่ไม่ปกป้องคนท้องถิ่น
ตอนที่มีข่าวครม.อนุมัติสร้างรถไฟความเร็วสูงให้จีน กระแสชาตินิยมของไทยเราขึ้นสูงอย่างชัดเจน มีบางท่านขนาดจะไม่ให้เชื่อมอะไรกับรถไฟจีนด้วยซ้ำไป
ยุคต่อไป ชาตินิยมทางเศรษฐกิจจะเป็นพลังกระแสสูง เพื่อถ่วงดุลกับ ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ 4.0 ไม่ว่าจะมาจากฝั่งตะวันตกหรือโมเดลฝั่งจีนก็ตาม
พลังชาตินิยมทางเศรษฐกิจดังกล่าว จะเป็นส่วนหนึ่งหรือแนวร่วมของ anti-globalization movement ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง
ถ้าถามผมว่ามันดีมั้ย?
ตอบว่า อะไรที่มันไม่สุดโต่ง เกิดมาเพื่อถ่วงดุลกันและกัน ดีกว่าไม่มีครับ
ปัญหาก็คือ ในแต่ละขบวนการมักจะมีกลุ่มสุดขั้ว สุดโต่งเสมอ
เหมือนที่ฮัมบวร์ก มีซอมบี้ เดินช้าๆ แสดงสัญลักษณ์สื่อสารไปอย่างสันติ กับมีพวกปิดหน้า รุกเร็ว เผาเร็ว จลาจลเร็ว ก็คือ มีทั้งสายพิราบและสายเหยี่ยว!
ที่กล่าวมาทั้งหมดคือแนวโน้มใหญ่ที่สังคมไทยจะได้เจอ.
ภาพประกอบ / การประท้วงของชาวศรีลังกาต่อโครงการท่าเรือน้ำลึกจีนเมื่อเดือน มีนาคม 2015
ที่มาภาพจาก www.cnbc.com