บูรพา-อาคเนย์ อุตสาหกรรมรถไฟฟ้า EV สมรภูมิช่วงชิงอนาคต โดย บัณรส บัวคลี่

บัณรส บัวคลี่

อุตสาหกรรมรถยนต์ ก็เป็นหนึ่งในบรรดาการเปลี่ยนแปลงใหญ่ทั้งหลาย รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์จากเบนซิน/ดีเซลในปัจจุบันอาจจะเป็นรถรุ่นท้ายๆ ของยุคสมัยแล้ว เพราะมันเริ่มมีรถยนต์ยุคใหม่จากพลังงานไฟฟ้า/แบตเตอรี่ หรือ EV- electric vehicle ที่เริ่มเข้ามาแทรกอยู่ในตลาดมาระยะหนึ่งแล้ว

คนรุ่นเรา เป็นรุ่นที่อยู่ในกระแสคลื่นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของโลกต้นศตวรรษที่ 21 อะไรที่ไม่คิดว่าจะพบเจอก็จะได้เจอ ย้อนหลังกลับไปผมเคยอยู่ในยุคที่โทรศัพท์บ้านเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ของคนต่างจังหวัด ถ้าไม่ใช่หน่วยราชการยากที่จะมีไว้ครอบครอง หลังปี 2535 ที่มีการลงทุนโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมายเปิดให้ใครก็ตามไปขอโทรศัพท์ได้ โอโห..มันเป็นอะไรที่ยอดมาก พร้อมๆ กันนั้นโทรศัพท์มือถือเครื่องใหญ่ๆ ก็เริ่มเข้ามา แพงแค่ไหนก็พยายามหาซื้อไว้ใช้ พัฒนาการของเทคโนโลยีไปเร็วมาก จำได้ว่าเมื่อ 10 ปีก่อนไปอเมริกา ต้องซื้อบัตรโทรศัพท์ กดรหัสโทรกลับประเทศไทยจากเครื่องสาธารณะที่ไหนก็ได้ในอเมริกาว่าเท่แล้ว อีกไม่กี่ปีจากนั้นคลื่นโทรศัพท์ก็กลายเป็นของล้าสมัยไปซะ เมื่อมีแอพพลิเคชั่นบนไวไฟ/อินเตอร์เน็ต พูดคุยโดยเห็นหน้าค่าตา

ยังนึกจินตนาการไม่ออกเลยว่า รูปแบบการสื่อสารในอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้าจะพัฒนาขนาดได้กลิ่น เห็นรูปร่างของคู่สนทนาหรือเปล่า ต่อไปคงไม่ต้องเดินทางประชุมในห้องประชุมอีกแล้ว เพราะเทคโนโลยีสื่อสารคงจะสามารถจำลองวงประชุมพร้อมผู้ร่วมสนทนาแบบเรียลไทม์ได้อย่างแน่นอน

ยกตัวอย่างการสื่อสารเพราะมันชัดเจนที่สุด เทคโนโลยีใหม่ทำลายแบบเก่า Disruptive Technology ดูจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันในแทบทุกปริมณฑล ไม่ใช่แค่การสื่อสาร หากยังคลุมไปถึง วงการค้า การขนส่ง การธนาคาร อย่างการพลังงานที่มีการค้นพบแท่งมีเทนใต้ท้องทะเล หรือ Combustible Ice จะสามารถแทนที่น้ำมัน/ก๊าซแบบเดิมๆ และยังไม่รวมพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะโซลาร์เซลล์ที่ถูกลงมาก ไม่นานเกินรอ จะได้เห็น Disruptive Technology เปลี่ยนสภาพโรงผลิตไฟฟ้าแบบเดิมๆ ในชั่วชีวิตเรานี่แหละ

                อุตสาหกรรมรถยนต์ ก็เป็นหนึ่งในบรรดาการเปลี่ยนแปลงใหญ่ทั้งหลาย รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์จากเบนซิน/ดีเซลในปัจจุบันอาจจะเป็นรถรุ่นท้ายๆ ของยุคสมัยแล้ว เพราะมันเริ่มมีรถยนต์ยุคใหม่จากพลังงานไฟฟ้า/แบตเตอรี่ หรือ EV- electric vehicle ที่เริ่มเข้ามาแทรกอยู่ในตลาดมาระยะหนึ่งแล้ว

EV มาแน่นอน มันเป็นแนวโน้มที่ชัดเจนมาก ประเทศสแกนดิเนเวียก้าวหน้ามากอาจจะไม่มีรถแบบเดิมในนอร์เวภายใน 10 ปีนี้ด้วยซ้ำไป ส่วนเยอรมันมีหมุดหมายไว้แล้วว่าจะยกเลิกรถแบบเดิมมาเป็น EV ทั้งหมดภายในปี 2030 เจ้าตลาดรถยนต์ไม่ว่าค่ายยุโรป อเมริกัน ญี่ปุ่น ต่างหมกมุ่นคร่ำเคร่งกับการพัฒนา EV โดยเฉพาะแบตเตอรี่ซึ่งเป็นหัวใจของระบบยานพาหนะแห่งอนาคต และดูเหมือนว่าเจ้าแบตฯ ที่ว่าก็ราคาถูกลงๆ เรื่อยๆ ล่าสุดต่ำกว่า 200 เหรียญ/ kWh แล้ว ทั้งๆ ที่ไม่กี่ปีก่อนยังแพงระยับเกินพันเหรียญอยู่เลย

มหาอำนาจใหม่อย่างจีน ก็เล่น EV เหมือนกัน ทั้งๆ ที่รถยนต์แบรนด์จีนเพิ่งจะออกนอกประเทศได้ไม่นาน จีนใช้ข้อดีของขนาดตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ซึ่งรถทุกยี่ห้อไม่ว่าอเมริกา/ยุโรปต่างก็กำลังแย่งชิงตลาดนี้) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นกระดานหกให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ รัฐบาลจีนเพิ่งจะออกระเบียบใหม่ กำหนดให้ผู้ผลิตรถยนต์ทุกค่ายในประเทศต้องผลิตรถไฟฟ้า EV ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 8% ของปริมาณการผลิตตน

มีเสียงโอดครวญว่ากฎหมายใหม่ตัวนี้ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมตลาด ที่บรรดาอาเสี่ยตี๋หมวยกำลังเห่อรถแบรนด์ต่างประเทศโดยเฉพาะรถ SUV ที่มันเท่ มันใหญ่ บ่งบอกรสนิยม รัฐกลับบังคับให้บริษัทรถพัฒนา EV ที่ยังไม่เป็นที่นิยม และไม่รู้จะขายได้หรือเปล่าถึง 8%

มาตรการดังกล่าวจะเอื้อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทผู้ผลิตต่างๆ ให้กับจีนนั่นเอง ถ้าอยากขายรถได้ อยากอยู่ในตลาดใหญ่สุดของโลกแห่งนี้ก็ต้องเพิ่มสัดส่วน EV – นี่เป็นวิธีชัดเจนตรงไปตรงมาของพญามังกรเขา

จีนเชื่อว่าภายในปี2020 (คืออีก 3 ปีข้างหน้า) จะมีรถ EV วิ่งบนท้องถนนไม่น้อยกว่า 5 ล้านคัน เมื่อถึงตอนนั้นคงไม่ต้องมีใครมาเถียงกันว่าไข่กับไก่ อันไหนเกิดก่อนหรือหลัง เพราะจะมีการลงทุนโครงข่ายสถานีชาร์ตแบตเตอรี่มากเพียงพอ ตามกลไกตลาด มีดีมานด์ก็จะมีซัพพลาย

ญี่ปุ่น ในฐานะผู้นำตลาดรถยนต์โลกก็กำลังเร่งพัฒนา EV เช่นกัน ปัจจุบันรถไฮบริด หรือ ปลั๊ก-อิน กึ่งๆ ไฟฟ้าค่ายญี่ปุ่นก็ออกสู่ตลาดมาบ้างแล้ว โตโยต้าเพิ่งจะแตกคอกับ Tesla โบกมือลาจากบริษัทร่วมมุ่งหน้าไปพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ของตนเอง ชื่อชั้นระดับโตโยต้าไม่น่าจะถูกกวาดตกเวทีเพราะ Disruptive หรอก เพียงแต่ยังไม่ขยับแบบเอิกเกริก

รัฐบาลไทยพยายามจะดึงฮอนด้า โตโยต้า บริษัทผู้ผลิตรถค่ายญี่ปุ่นให้ลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ทั้งรถและแบตเตอรี่ เพราะไทยเป็นฐานประกอบและผลิตรถยนต์ใหญ่ของเอเชีย ถ้าไม่สามารถปรับตัวเองและยกระดับรับเทคโนโลยีการผลิตใหม่ถือว่าพลาดครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจก็ว่าได้ รัฐบาลก็มองเห็น เขตเศรษฐกิจ EEC ภาคตะวันออกจึงมีเป้าหมายจะเป็นฐานผลิต EV เป็นสำคัญ การเดินทางไปญี่ปุ่นของรองนายกฯสมคิด มีวาระเจรจาเพื่อดึงการลงทุนยุคใหม่ของญี่ปุ่นให้เป็นผลให้ได้ นี่เป็นเรื่องไม่ง่ายเพราะเพื่อนบ้านคู่แข่งอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือกระทั่งฟิลิปปินส์ก็มีข้อเสนอดึงดูดใจยักษ์ใหญ่ผลิตรถเช่นกัน

จนบัดนี้ (มิถุนายน 2560) ยังปรากฏแค่ข่าวของการเจรจา ยังไม่มีการประกาศลงทุนจริง หน่วยงานอย่าง บีโอไอบอกว่าต้องรอไปอีกหน่อยเพราะยังอยู่ในช่วงของการเปิดรับอุดหนุนลงทุน เราเสนอไปสุดเกจ์ เพื่อนบ้านก็มีเงื่อนไขดึงดูดสุดๆ เช่นกัน มาเลเซียเป็นประเทศที่มองเห็นโอกาสของเทคโนโลยีศตวรรษใหม่ เขาประกาศเป็นเจตจำนงว่า จะต้องมีรถ EV วิ่งบนท้องถนนของมาเลเซียจำนวน 1 แสนคันภายในปี 2020 ระหว่างนี้เขาก็พยายามจะดึงผู้ผลิตอย่าง Tesla แข่งกับไทย พยายามสร้างตลาดนำเข้าและโครงข่ายสนับสนุนให้ตลาดนี้เกิดขึ้นได้จริง

EV เป็นตลาดใหม่ในอนาคต โลกในยุคหน้าคงจะไม่มีรถจากระบบเครื่องยนต์ไอเสียแบบเดิม ธุรกิจปั๊มน้ำมันที่ต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่อาจจะเล็กลงมาเป็นสถานีชาร์จไฟ แต่ที่สุดแล้วระบบบำรุงรักษาอื่นก็ยังคงมีอย่างเช่นยางรถยนต์เครื่องเสียง ประดับยนต์ ฯลฯ  ไทยเราเป็นประเทศที่เตรียมขยับการเปลี่ยนแปลงนี้ชัดพอสมควรเพราะเดิมพันสูงมาก สถาบันการศึกษาใหญ่ๆ มีการเรียนการสอนเรื่องอุตสาหกรรม EV กันบ้างแล้ว รถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ไทยอย่าง VERA V1 ก็ผลิตออกสู่ตลาดตั้งแต่ต้นปี แต่ดูเหมือนจะยังไม่วิ่งนัก ราคาก็ยังแพงอยู่เมื่อเทียบกับรถน้ำมัน

Lithium-ion แบตเตอรี่ของรถ EV ก็เหมือนกับโซลาร์เซลล์นั่นแหละ มันมีการพัฒนาให้ดีขึ้น และถูกลงอย่างต่อเนื่อง จนมั่นใจได้ว่ามันจะเป็นยานพาหนะแห่งอนาคตได้แน่นอน

                เอาใจช่วยให้คณะทำงานเจรจาการลงทุนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ EV ให้บรรลุเจตนา เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนรวมเพราะฐานการผลิตรถยนต์เดิมของเรามันใหญ่โตมาก จนกลายเป็นหนึ่งในโครงสร้างหลักของเศรษฐกิจประเทศอย่างหนึ่งไปแล้ว เกิดไม่สามารถยกระดับหรือต่อยอดตนเอง รองรับการเปลี่ยนแปลงของอนาคตได้ ผลกระทบที่ตามมามหาศาล

 

 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ