บูรพา-อาคเนย์ : เมื่อลมบูรพาพัดจัด โดย บัณรส บัวคลี่

บัณรส บัวคลี่

เรามักจะคิดกันในแง่ร้ายว่าจีนเป็นเจ้าแห่งการผลิต สินค้าของเขาดีขึ้นแถมถูกลง มือถือขึ้นชั้นสู้กับไอโฟน ซัมซุงได้แล้ว รถยนต์ก็แทรกในตลาดไทยแล้ว ประสาอะไรกับของอย่างอื่น แต่หากมองอีกด้านหนึ่งดินแดนไทยเรานี่เป็นโอกาสมหาศาลที่จะส่งสินค้าไปขายจีนเช่นกัน

…..การเปลี่ยนแปลงใหญ่ต้นศตวรรษกำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นับจากภาพใหญ่ก่อนนั่นก็คือภูมิรัฐศาสตร์ของเอเชียตะวันออกภายใต้กระแสลมบูรพาพัดจัด  อิทธิพลของมหาอำนาจใหม่แดนมังกรที่ขยายลงมาแรงและเร็วมาก เสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานรัฐบาลไทยที่จัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เรือดำน้ำแถมรถไฟความเร็วสูงจากจีน ทำนองว่า ไทยยอมประเคนถวายจีนไปหมดทุกเรื่อง เป็นพวกจีนไปแล้ว …

ไทยอาจจะเอนไปทางจีนมากกว่าเดิม แต่ไม่ถึงกับกลายเป็นพวกเดินตามต้อยๆ หรอกครับ

เสียงวิจารณ์เหล่านี้อาจจะยังไม่ได้ไปเห็นเพื่อนบ้าน ลาว กัมพูชา มาเลเซีย พม่า ว่าเขามีโครงการอภิโปรเจกต์กับจีนยิ่งกว่าขนาดไหน ในลาว กัมพูชา การลงทุนใหญ่เป็นของจีนเกือบทั้งหมดไม่เว้นกระทั่งเศรษฐกิจร้านค้าห้องแถว ผมไปเห็นกับตาที่หลวงพระบาง ย่านการค้าใหม่ในเมืองที่เขามีร้านให้เช่าเป็นแถวๆ ถูกเหมาโดยทุนจีนกลุ่มเดียวเพื่อเปิดขายโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เกี่ยวข้อง ใครไม่รู้นึกว่าที่นั่นเป็นคลัสเตอร์หรือย่านขายอุปกรณ์สื่อสาร เดินเลือกชม ไม่ชอบร้านนี้ ก็ย้ายไปดูร้านโน้น เผื่อชอบใจสักร้าน หารู้ไม่ว่าทั้งหมดเป็นของเจ้าของคนเดียว สภาพดังกล่าวเริ่มเกิดในกัมพูชาก็เช่นกัน การลงทุนตึกสูงอสังหาริมทรัพย์เมืองใหม่เป็นของทุนจีนทั้งหมด

ยิ่งมาเลเซียยิ่งไปไกลกว่านั้น เพราะนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซะก์ เกิดปัญหาการเมืองภายในและถูกข้อหาพัวพันกับการยักยอกเงินกองทุน 1MDB เรื่องนี้พัฒนาไปไกลชาติตะวันตกหนุนหลังฝ่ายค้าน กระทรวงยุติธรรมสหรัฐยื่นฟ้องเพื่ออายัดทรัพย์ของกองทุนดังกล่าวและชี้เป้าชัดๆ ว่าเขาพัวพัน เป็นกระแสหนุนเสริมให้การชุมนุมฝ่ายค้านเกิดพลังขึ้นระหว่างปี 2558-2559 อันที่จริงนาจิบน่าจะล้มคว่ำไปแล้ว แต่ปรากฏว่าเขายังอยู่ได้อย่างมั่นคง เพราะจีน มหาอำนาจใหม่อาศัยจังหวะดังกล่าวขยายอิทธิพลเข้าไป แล้วก็ทำโครงการใหญ่ระดับภูมิภาคร่วมกันไม่ว่าจะเป็นเส้นทางรถไฟข้ามคาบสมุทร-แลนด์บริดจ์ มะละกาเกทเวย์ ไปจนถึงท่าเรือน้ำลึกใหม่ที่สามารถสะเทือนสิงคโปร์ได้..

มองเพื่อนบ้านแล้ว จะพบว่าไทยเรายังไม่ถึงกับซุกอยู่ข้างซอกรักแร้พญามังกรหรอกครับ เพื่อนบ้านต่างหากที่คลุกวงใน ส่วนเราแค่ยืนชมอยู่อีกวงหนึ่ง การประชุม BRI ฟอรั่มใหญ่ที่ปักกิ่งเมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้นำชาติเพื่อนบ้านได้รับเชิญถ้วนหน้ายกเว้นผู้นำไทย บ่งบอกได้ชัดเจนว่ามันยังมีอะไรที่คั่นเอาไว้ ทั้งๆ ที่ภาพภายนอกมีแต่ไทยที่ซื้อสินค้าจีนรถเกราะ เรือดำน้ำ

ปมมาจากรถไฟ !

มันถึงเกิดมีกรณีผ่าทางตัน ม.44 ตามมาเพื่อให้รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราชเกิดให้ได้

จะไม่ขอรื้อฟื้นลงรายละเอียด เอาสั้นๆ แค่ว่าการที่พล.อ.ประยุทธ์ ลงนามใน MOU ร่วมกับนายหลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนเมื่อธันวาคม 2557 แล้วจู่ๆ มาเปลี่ยนนโยบายภายหลังไม่เอาแล้ว ให้จีนทำรถไฟทั้งสายกรุงเทพฯ-หนองคาย ถือเป็นการ “หัก” และออกจะเสียมารยาทกับมหาอำนาจอยู่ไม่น้อย ยิ่งผู้ที่มาตกลงเป็นระดับหลี่เค่อเฉียงด้วย เพราะฉะนั้นมันจึงต้องมีการชดเชยในทางการทูต การเมือง การเศรษฐกิจต่างๆ อยู่พอสมควร รวมไปถึงการให้จีนได้เข้ามาทำไฮสปีดเทรนสายโคราชตาม ม.44

เรื่องนี้น่าจะจบลงด้วยดีก่อนที่พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางไปประชุม BRICs ที่เซียะเหมิน ในเดือนกันยายนนี้

ผมยังมองว่าภายใต้กระแสลมบูรพาพัดแรงจัด ไทยเราเองก็ยังสามารถประคับประคอง เอนลู่ตามบ้างแต่ก็ยังคงรักษาจุดยืนตัวเองเอาไว้ได้ดีพอสมควร

หากมองในแง่บวก รถไฟไทยรางคู่ที่กำลังก่อสร้างจากจิระ(โคราช)ไปยังขอนแก่น จะเชื่อมไปถึงหนองคาย และจะเป็นเส้นทางเชื่อมหลักที่เราลงทุนเอง ดำเนินการเอง พอจะมีอิสระในการควบคุมต่างๆ ในระยะยาว (รวมถึงมิติความมั่นคง) ขณะที่ไฮสปีดเส้นโคราช ไม่ใช่ไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง เพราะโคราชเป็นประตูที่ราบสูง ประชากร 1 ใน 3 ของประเทศอยู่ที่นั่น ต่อไปเขตเชื่อมต่อกรุงเทพฯ-ปริมณฑล-สระบุรี-โคราช จะกลายเป็นชุมชนเมือง ที่มีพรมแดนติดกับเขต EEC ถ้าหากวางแผนการพัฒนาเมืองยุคใหม่ดีๆ มีโซนนิ่งของภาคการผลิต-การเกษตรที่ชัดเจน ควบคู่กับเมืองยุคใหม่อันมีไฮสปีดเชื่อมถึง ก็จะเป็นรากฐานที่ดีสำหรับอนาคต

รถไฟไฮสปีดน่ะเป็นแค่ส่วนหนึ่งของภาพการเปลี่ยนใหญ่ ยุคอันใกล้นี้จะมีชาวจีนหลั่งไหลออกมาทำธุรกิจ ค้าขาย อยู่อาศัยตามเขตเศรษฐกิจใหม่รอบๆ บ้านเรามากมายมหาศาล – ในแง่ของผู้บริโภคมีลูกค้ามากขึ้นก็เป็นโอกาส อย่างน้อยเขาก็จะข้ามมาท่องเที่ยว จับจ่าย

แต่ในแง่ของคู่แข่งทางธุรกิจเศรษฐกิจ มันไม่ได้กระทบแค่อุตสาหกรรมใหญ่ที่ผลิตสินค้าแข่งกันเท่านั้น กระทั่งผู้ค้าขนาดกลาง-ย่อมและย่อยก็ยังกระทบด้วย

รัฐบาลจีนสร้างหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง OBOR เพื่อสร้างโอกาสให้คนของเขาได้ออกนอกประเทศ สร้างความมั่งคั่ง เอาล่ะ ภายใต้นโยบาย win-win ทางหนึ่งร่วมกับเจ้าของประเทศ แบ่งให้เจ้าของประเทศ แต่อีกทางหนึ่งก็ส่งกลับความมั่งคั่งดังกล่าวนั้นกลับคืน

จะมากหรือน้อย จะเป็นธรรมหรือคดโกง ขึ้นกับอุปนิสัยของแต่ละคน (อีกต่างหาก)

สิ่งที่จะมากับรถไฟ (และการขนส่งอื่น) ก็คือสินค้า ผู้คน โอกาส และความต้องการ

ไม่ใช่แค่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีโครงการที่พักอาศัยใหม่เป็นหมื่นๆ ยูนิตแล้วถูกชาวจีนซื้อหมดหรอกครับ ในประเทศไทยเองก็เยอะ คอนโดมิเนียมที่เดินสายไปขายเมืองจีน ขายได้ยกฟลอร์กันมากมาย ไม่นับที่ดินบ้านเดี่ยวที่ซื้อผ่านตัวแทน เด็กชาวจีนมาเรียนที่ภาคเหนือเยอะมาก ที่เชียงรายเป็นพันๆ ที่เห็นที่เชียงใหม่มาเรียนตั้งแต่ยังเด็ก พ่อกับแม่ตามมาดูแลเช่าบ้านอยู่ในหมู่บ้านชานเมือง เด็กเยาวชนพวกนี้มีเป้าหมายทำธุรกิจในเมืองไทยหรืออย่างน้อยก็เกี่ยวข้องกับไทย จากนี้อีกไม่นานการเดินทางไปมาจะสะดวกมาก เอาแค่ปัจจุบันมีเที่ยวบินจากจีนเป็นสิบๆ เที่ยวต่อสัปดาห์มาถึงเชียงใหม่ (ไม่ใช่แค่ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ) ถนน R3A สะดวกมาก ขับรถจากเชียงของวันเดียวก็ถึงพรมแดนจีน ไปนอนในจีนได้เลย รถไฟที่จะมาถึงอีก 5 ปีก็จะเป็นอีกเส้นทางสำหรับขนส่งสินค้า ไป-มา

น่าสนใจว่าธุรกิจขนาดกลางและย่อมของไทยเราเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงใหญ่นี้อย่างไร ?

เรามักจะคิดกันในแง่ร้ายว่าจีนเป็นเจ้าแห่งการผลิต สินค้าของเขาดีขึ้นแถมถูกลง มือถือขึ้นชั้นสู้กับไอโฟน ซัมซุงได้แล้ว รถยนต์ก็แทรกในตลาดไทยแล้ว ประสาอะไรกับของอย่างอื่น แต่หากมองอีกด้านหนึ่งดินแดนไทยเรานี่เป็นโอกาสมหาศาลที่จะส่งสินค้าไปขายจีนเช่นกัน เพราะต่อให้จีนก้าวหน้าขนาดไหนก็ยังไม่สามารถผลิตหรือปลูกสินค้าพืชผักเฉพาะถิ่นได้ อย่างเช่น เมื่อสี่ห้าปีก่อนยางพาราเคยราคาแพงระยับเพราะจีนต้องการ จีนปลูกยางพาราได้แค่สิบสองปันนากับไหหลำ เลยขึ้นไปหนาว ปลูกไม่ขึ้น เลยต้องเช่าที่ดินในลาวเวียดนามปลูกเป็นแสนไร่ ยางพาราเป็นสินค้าวัตถุดิบอุตสาหกรรมมีขึ้นมีลง แต่พืชอย่างอื่น โดยเฉพาะผลไม้เมืองร้อน มะม่วง ขนุน ทุเรียน มะพร้าว มังคุด กล้วย ปลูกไปเถอะครับ ตลาดจีนรับไม่อั้น ยิ่งเขารวยยิ่งบริโภคของแปลกที่เขาไม่มี ผลไม้ทวีปใต้จากนิวซีแลนด์ ออสเตรเลียเช่นอะโวคาโด้ยังขายดิบขายดีสั่งเข้าไปไม่หวาดไหว

หรืออย่างเช่น ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลก็เช่นกัน เมืองจีนกว้างใหญ่ไพศาล มีคนอีกหลายร้อยล้านที่ไม่เคยเห็นทะเล อาหารทะเลของเขาแพงมาก เส้นทางขนส่งใหม่ที่เร็วขึ้นก็เป็นโอกาสของประเทศติดทะเลอย่างไร

ปัญหาก็คือคนจีนเองก็มองเห็นโอกาสนั้น ระยะเริ่มแรกจึงเข้ามารับซื้อ จากนั้นก็ทำล้งรับซื้อเพื่อส่งออกเอง ทั้งๆ ที่บทบาทดังกล่าวน่าจะเป็นโอกาสที่งดงามของผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมรวมถึงคนในท้องถิ่นไทยเราเอง

เราให้ความสำคัญกับธุรกิจที่เป็น “โอกาส” กลุ่มนี้น้อยเกินไปหรือเปล่า เพราะยังปล่อยให้การประมงทำลายล้าง ลูกปลาทู ปลาเล็กปลาน้อยไม่มีโอกาสได้โต ญี่ปุ่นมีตลาดปลาที่โด่งดังมาก มีตลาดปลาก็มีธุรกิจอาหารสดๆ ต่อพ่วง แปลกที่หมู่บ้านชาวประมง ท่าเทียบเรือของเรา ยังถูกปล่อยปละละเลย เพราะราชการตีความ ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติ ให้เป็นแค่โรงงานอุตสาหกรรมและแปรรูปขนาดใหญ่เป็นสำคัญ

ภายใต้กระแสลมบูรพาพัดแรง ไทยเรายังสามารถเป็น “ครัวโลก” และยังเป็นครัวให้กับพญามังกรได้อย่างสบาย และที่สำคัญยุทธศาสตร์ดังกล่าว ควรจะเอื้อให้คนเล็กคนน้อย ธุรกิจขนาดกลางและย่อมสามารถเติบโตขึ้น สิ่งที่เคยติดขัดเพราะนโยบายผูกขาดแต่เดิมเช่น การผลิตเหล้าและเบียร์โดยครัวเรือนน่าจะเปิดให้ทำได้แล้วเหมือนที่ญี่ปุ่นให้ทำ เพราะครัวโลก และอาหารของโลกนั้นมันรวมถึงเครื่องดื่มด้วย

สิ่งที่จีนผลิตเองไม่ได้และเขาแสวงหายังมีอีกหลายอย่าง หากจัดการดีๆ ของเหล่านั้นสามารถติดลมบนได้เลย…อาศัยกระแสลมบูรพาพัดจัดนั่นแหละ ช่วยหนุนส่ง.

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ