คลื่นลูกที่ 4 มันมาเร็วมาก รายละเอียดก็ซับซ้อนยากทำความเข้าใจ สิ่งที่กำลังถาโถมเข้ามาในสังคมเราขณะนี้ล้วนแต่เป็นเรื่องใหญ่ระดับ disruption ที่จะเปลี่ยนแปลงทั้งระดับโครงสร้างและพฤติกรรมของสังคม ที่ผ่านมาสังคมไทยได้เห็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่มาพร้อมกับอินเตอร์เน็ตและการสื่อแพลตฟอร์มใหม่ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียจากค่ายตะวันตกมาแล้ว ยังไม่ทันได้เห็นอิทธิฤทธิ์ของค่ายตะวันออกที่น่าจะมีพลังทำลายล้างไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันนัก โดยเฉพาะในด้านพฤติกรรมจับจ่ายบน fin tech
บทความวันนี้จะมาดูพลังอำนาจของคลื่นลูกที่ 4 จากแผ่นดินใหญ่บ้าง
ผมจั่วหัวโดยยก Alibaba กับ We Chat ขึ้นมาเพียง 2 เจ้าเพื่อให้เป็นภาพตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่มาจากดินแดนพญามังกร เพราะทั้งคู่เป็นผลผลิตของยักษ์ใหญ่เบอร์หนึ่ง-สองที่เบียดตีคู่กันมา
โลกข่าวสารนั้น พุ่งความสนใจไปที่ แจ๊ค หม่า อภิมหาเศรษฐีรุ่นใหม่เจ้าของ Alibaba อาจด้วยว่าเขาสื่อสารภาษาอังกฤษมีประสบการณ์ชีวิตจากโคลนสู่ดวงดาวที่น่าสนใจ เลยมองข้ามบุรุษแซ่หม่าอีกคนหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน นามว่า หม่า ฮั่วเถิง (Ma Huateng) เจ้าของ เท็นเซ็นต์ โฮลดิ้ง Tencent Holding กลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการออนไลน์ครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในจีน เจ้าของแอพพลิเคชั่น We Chat เว็บท่า QQ.com เกมออนไลน์ และอื่นๆ อีกมากมายมหาศาล
เทนเซนต์ นั้นแซงหน้า อาลีบาบา ไปแล้ว !!
การจัดอันดับแบรนด์ทรงอิทธิพลที่มีมูลค่าสูงสุด 100 อันดับแรกของโลกโดย WPP – Kantar Millward Brown ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ( คลิกดู Top 100 Most Valuable Global Brands 2017 ranking) ปรากฏว่ามีแบรนด์จากเอเชียแปซิฟิคที่อยู่ในกลุ่ม 24 แบรนด์ ในจำนวนนั้นเป็นของจีน 13 ก็คือครึ่งต่อครึ่ง ที่เหลือก็แบ่งๆ กันระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น ส่วนเบอร์ 1-5 นั้นแน่นอนว่าต้องเป็นแบรนด์อเมริกันที่ชาวโลกรู้จักดีอย่าง Google, Apple, Microsoft, Amazon แล้วก็ Facebook.
Tencent เป็นแบรนด์เอเชียที่ติดอยู่อันดับสูงสุด คือลำดับที่ 8 ขณะที่ อาลีบาบา อยู่ลำดับ 14
สมาร์ทโฟนชื่อดังจากเกาหลีใต้ ซัมซุง อยู่ลำดับ 37 ขณะที่ หัวเหว่ย อยู่ที่ 49 ยุคนี้เป็นยุคที่สินค้าจีนพัฒนาตัวเองจากกลุ่มเลียนแบบมาเป็นผู้สร้างนวัตกรรมเองอย่างเต็มตัว
2 ยักษ์ใหญ่จีน อาลีบาบา – เทนเซนต์ (We Chat) บุกไทยและอาเซียนมาได้ระยะหนึ่งแล้วนะครับ …เราอาจเคยได้ยินแต่ข่าวของแจ๊ค หม่า ไปจับมือพบกับผู้นำประเทศต่างๆ ในอาเซียนแล้วก็จะมีโครงการลงทุนแบบที่รัฐบาลท้องถิ่นดีอกดีใจป่าวประกาศรวมไปถึงการซื้ออีคอมเมิร์ซใหญ่สุดของอาเซียนอย่าง Lazada ดูเอิกเกริกและยิ่งใหญ่ ขณะที่เทนเซนต์- We Chat ดูจะเงียบๆ รุกไปข้างหน้าเรื่อยๆ แบบไม่หวือหวา
We Chat เริ่มเป็นแอพพลิเคชั่นสนทนากลุ่มที่เป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ ในอาเซียน
หม่า ฮั่วเถิง แห่งเทนเซนต์ได้ซื้อกิจการเว็บไซต์ท่าชื่อดังของไทยอย่าง sanook.com ไปตั้งแต่ปี 2553 ซื้อไปตั้งแต่คลื่นลูกที่ 4 ยังไม่โถมปะทะสังคมไทยเต็มตัวเลยด้วยซ้ำไป แล้วก็ไม่ใช่แค่เว็บ sanook.com เท่านั้น เพราะหลังจากนั้นเทนเซนต์ขยายกิจการเกมออนไลน์ด้วยการซื้อ (เกือบ) ทุกค่ายที่ขวางหน้า นั่นเท่ากับว่า ตลาดเกมออนไลน์ในไทยก็เป็นลูกค้าของเทนเซนต์ไปโดยปริยาย หลายคนคงไม่รู้ว่าเกมส์ชื่อดังเช่น สามก๊ก Thee Kingdoms Rush, Wind Saga, PerfectWorld, Chinese Gamers, X-Legend ล้วนแต่เป็นของค่ายนี้เท่านั้น
ตลาดเกมเป็นอะไรที่ใหญ่โตและเป็นช่องทางของธุรกิจใหม่ เพราะมันได้รวมเอาผู้คนเอาไว้ด้วยกันเป็นชุมชน ตลาดเกมในอินโดนีเซียเป็นเป้าหมายสำคัญของเทนเซนต์เพราะมีเกมเมอร์รวมกันกว่า 43 ล้านคนจากประชากร 200 ล้านกว่าคน คิดเป็นมูลค่าตลาดกว่า 880 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ไม่น้อยเลย ส่วนของไทยก็ไม่เบา บริษัทเกมชื่อดัง การีน่าออนไลน์ประมาณการว่าน่าจะมีมูลค่าตลาดถึง 1 หมื่นล้านบาท (คลิกอ่าน การีนาคาดมูลค่าตลาด ‘เกม’ ไทยปี 2017 แตะ 1 หมื่นล้าน)
อะไรที่เป็นชุมชนออนไลน์ อย่างเว็บไซต์ท่า ชุมชนผู้บริโภคอุปโภคซื้อสินค้า ชุมชนข่าวสาร ชุมชนโซเชี่ยลมีเดีย และชุมชนเกม ฯลฯ ล้วนแต่เป็นเป้าหมายของธุรกิจใหม่ทั้งสิ้น เนื่องจากสามารถต่อยอดแปรเป็น โฆษณา และการจับจ่ายผ่าน fin tech ได้ในอนาคต เกมบนถือมือปัจจุบันเล่นไปพลางมีโฆษณาคั่นกลางหรือแทรกเข้าไป เหมือนยูทูป เฟซบุ๊คไปแล้ว เทนเซนต์จึงซื้อกิจการแอพพลิเคชั่นเรียกรถแท็กซี่ /รถมอเตอร์ไซด์รับจ้างชื่อดังของทั้งในจีนและในอาเซียน ล่าสุดคือ แอพพลิเคชั่น GO-JEK ของอินโดนีเซียด้วยเหตุผลดังกล่าวมาข้างต้น
อาลีบาบา กับ เทนเซนต์ แข่งกันทำแอพพลิเคชั่น แข่งกันแย่งชิงชุมชนออนไลน์ในแทบทุกสมรภูมิ นักท่องเที่ยวจีนมาเมืองไทยใช้แอพพลิเคชั่นท่องเที่ยว/ดื่มกิน เพื่อจะดึงให้ใช้ระบบ e-payment ของตัวเอง ก็คือ Alipay กับ We pay จนล่าสุด ร้านค้าเล็กๆ ในย่านท่องเที่ยวเชียงใหม่ต่างต้องทยอยติดตั้งระบบ e-payment ของทั้งสองค่ายคู่แข่ง เพื่อรับนักท่องเที่ยวจีนที่ไม่นิยมพกเงินสดอีกต่อไปแล้ว
ก็คล้ายๆ กับยุคหนึ่งบัตรเครดิต มาสเตอร์การ์ด กับ วีซ่า แข่งกันในที่สุดทุกห้างร้านต้องติดโลโก้รับบัตรของทั้งสองค่ายเสียทีเดียว แต่ยุคนี้กลายเป็น Alipay กับ We Pay ของจีนแทน
มองย้อนกลับไปจะเห็นได้ชัดเจน คลื่นความเปลี่ยนแปลงรุกโถมเข้ามาเร็วมากจนกล่าวว่าแทบตั้งตัวไม่ทัน ! เพราะเมื่อปลายปีที่แล้ว ย่านท่องเที่ยวเมืองเชียงใหม่ยังมีห้างร้านไม่กี่ร้านเท่านั้นที่ติดตั้งระบบ e-payment ของจีน
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะทำให้ธนาคารของจีนจะได้ปริมาณธุรกรรมผ่านระบบของตนเองเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่การซื้อขายอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งก็น่าหนักใจแทนระบบ พร้อมเพย์ prompt pay ของรัฐบาลที่พยายามสร้างขึ้นมารองรับการเปลี่ยนแปลงใหญ่
ระบบพร้อมเพย์ของไทยเราพยายามใช้ข้อได้เปรียบการรับจ่ายเงินของภาครัฐมาบังคับให้มีปริมาณตั้งต้นของผู้ใช้มากเพียงพอ แต่ก็ยังประสบปัญหาตรงที่ชุมชนออนไลน์ใหญ่ๆ ทั้งในเว็บไซต์ โซเชี่ยลมีเดีย เกมเมอร์ออนไลน์ ฯลฯ ไม่ได้เข้าไปร่วม มิหนำซ้ำยังถูกทุนใหญ่ของจีนซื้อไป(แทบ)หมดอีกต่างหาก
ยุคนี้เป็นยุคเปลี่ยนแปลงใหญ่ทั้งระบบ ซึ่งน่าหวั่นไหวจริงๆ
ตั้งแต่เรื่องระดับโครงสร้างการผลิต ที่เราจำเป็นต้องเปลี่ยนสายพานยกระดับขึ้น รถยนต์แบบเดิมคงหมดไปแล้ว ยุคของ EV กำลังจะมาเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นที่ต้องเติมนวัตกรรมลงไป / การเปลี่ยนแปลงใหญ่เชิงภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ จากการคมนาคมขนส่งเส้นทางใหม่ที่อย่างไรก็มาถึงแน่นอน เราหนีไม่ได้มีแต่ต้องตั้งป้อมสู้ อย่างเช่นการพยายามชูยุทธศาสตร์ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกเชื่อม MVLC ขึ้นมา
ไม่ใช่แค่นั้นเทคโนโลยีใหม่ออนไลน์ จะเปลี่ยนพฤติกรรมของการอุปโภคบริโภคและบริการด้านการเงินทั้งหมดอีกต่างหาก ใครจะนึกว่าตลาดเกมออนไลน์ หรือแค่ แอพพลิเคชั่นสื่อสารกลุ่มอย่าง We Chat จะสามารถผูกโยงไปถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายอื่น ค่าบิล โทรศัพท์ น้ำไฟ ชำระสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตพร้อมกันไปในตัว ต่อไปคงจะได้เห็นการปรับตัวของ LINE ค่ายญี่ปุ่นเพื่อสู้กับ We Chat ในไม่ช้า
กระบวนท่าเบื้องต้นสุดของการรับมือคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ก็คือ ต้องรีบทำความเข้าใจมัน
ก่อนที่มันจะมากลืนเรา .. แบบที่เราเองก็ไม่รู้ตัว.