บูรพา-อาคเนย์ : อุปสรรคของมหาอำนาจจีน คืออินเดีย โดย บัณรส บัวคลี่

บัณรส บัวคลี่

ปัญหาเรื่องพรมแดนอินเดีย-จีนมีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยอังกฤษปกครองย้อนไปยุคราชวงศ์ชิงโน่น เพราะพรมแดนของสองชาติต่อกันมีความยาวถึง 3.5 พันกิโลเมตร เขตที่มีข้อพิพาทคืออักไสชิน พื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือสุดของอินเดียที่ต่อแดนกับซิงเกียง และแทบทั้งหมดอยู่บนแนวเทือกเขาสูงชันทุรกันดารของหิมาลัย แล้วก็เคยรบกันมาแล้วด้วย

จีนกับอินเดียเป็นมหาอำนาจเอเชีย และต่างก็อยู่ในกลุ่ม BRICs ที่กำลังเขย่าดุลของขั้วอำนาจโลก ถ้าอินเดีย ยืนข้างรัสเซีย-จีนอย่างถาวร ค่ายตะวันตกมีหนาว

แต่ปัญหาก็คือ เสือสองตัวแห่งเอเชียอยู่ถ้ำเดียวกันได้ไม่นานเป็นต้องมีฟาดกันตามประสามหาอำนาจยักษ์ใหญ่ด้วยกัน แบบว่า ปรองดองกันยาวๆ ไม่ได้

ความสัมพันธ์ของสองประเทศจึงเป็นไปโดยลิ้นกับฟันมีกระทบกระทั่งกันเรื่อยมา

ล่าสุด การประชุมครั้งสำคัญ OBOR – Belt and Road Initiative ที่ปักกิ่งเมื่อเดือนพฤษภาคม นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมฑี แห่งอินเดียยกเลิกกำหนดการไปร่วมเวทีเฉยเลย อ้างว่าติดงานที่ศรีลังกาทั้งๆ ที่ได้ยืนยันไปก่อนแล้วว่าจะไป การแถลงข่าวก่อนหน้าของปักกิ่งมีชื่อผู้นำอินเดียชัดเจน งานนี้แสดงอย่างชัดเจนว่าอินเดียนั้นถือตนเป็นยักษ์ใหญ่พอๆ กันที่ไม่ได้เกรงบารมีของพญามังกรที่กำลังจะแซงอเมริกาก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลกแต่อย่างใด นึกไม่อยากไปก็ไม่ต้องไป

วงการเมืองต่างประเทศวิเคราะห์ว่า เป็นเพราะเวที BRI มีฟอรั่มสำคัญว่าด้วยระเบียงเศรษฐกิจปากีสถาน ที่มีจุดเริ่มจากเมืองท่า Gwadar เชื่อมท่อก๊าซ/น้ำมันและถนนผ่านปากีสถานไปยังจีน ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับปากีสถานแนบแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ มีการลงทุนใหญ่อีกมากมายตลอดแนวถนน-ท่อ นักศึกษาปากีสถานเป็นพันคนที่อยู่ในจีนเวลานี้   ก็ในเมื่อปากีสถานนั้นเป็นปรปักษ์ตลอดกาลของอินเดีย จึงพอจะเข้าใจได้ว่าเหตุใดนายกรัฐมนตรีนเรนทราจึงตัดสินใจหักดิบโดดงานเอาดื้อๆ

วงการวิเคราะห์มองในตอนนั้นว่ากรณีดังกล่าวไม่น่าจะรุนแรงอะไร เพราะอินเดียนั้นถือตัว และประเมินน้ำหนักเวทีทางการทูตที่เป็นประโยชน์กับตนเอง BRI ไม่ได้เกี่ยวกับอินเดียมากนัก เลยไม่ไป แต่ในเดือนกันยายนนี้คงจะไปร่วมประชุม BRICs ที่จีนอย่างแน่นอน

จากพฤษภาคม ผ่านมิถุนา… ปรากฏว่าล่าสุด ถึงต้นเดือนกรกฎาคมความสัมพันธ์ระหว่างอินเดีย-จีนก็ยังไม่มีสัญญาณกระเตื้องขึ้น  มิหนำซ้ำยังมีรอยร้าวใหม่ซ้ำเข้าไปอีก

ข่าวความขัดแย้งพรมแดนอินเดีย-จีน ว่อนจากทุกสำนักข่าวชั้นนำในเช้าวันที่ 4 ก.ค. ขอเลือกข่าวจาก SCMP -South China Morning Post ที่ปัจจุบันเป็นของมหาเศรษฐี แจ๊ค หม่า มานำเสนอ SCMP- พาดหัวว่า China says India violates 1890 agreement in border stand-off  จีนกล่าวหาอินเดียละเมิดข้อตกลงปักปันเขตแดนปี 1890 (2433) ที่ขณะนั้นเป็นข้อตกลงระหว่างอังกฤษเจ้าอาณานิคมกับจีนสมัยราชวงศ์ชิง โดยส่งกองกำลังทหารเข้าไปในเขตสิกขิมที่จีนถือว่าเป็นของตนและให้อินเดียถอนทหารทันที

            พาดหัวรองยังดุเดือดขึ้นไปอีก Deal should be respected, Beijing says, to end ‘very serious incursion

            มาดูข่าวจากฟากอินเดียบ้าง indianexpress.com เลือกคำพาดหัวข่าวเร้าใจ ปลุกอารมณ์คนอ่านไม่แพ้กัน China terms India’s actions at Sikkim border as ‘betrayal’, counters Arun Jaitley’s remarks

                จีนใช้คำกล่าวหาอินเดียว่า ‘betrayal’ ผู้ทรยศหักหลัง แล้วสื่ออินเดียก็หยิบคำนี้มาแจ้งต่อประชาชน !

ปัญหาเรื่องพรมแดนอินเดีย-จีนมีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยอังกฤษปกครองย้อนไปยุคราชวงศ์ชิงโน่น เพราะพรมแดนของสองชาติต่อกันมีความยาวถึง 3.5 พันกิโลเมตร เขตที่มีข้อพิพาทคืออักไสชิน พื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือสุดของอินเดียที่ต่อแดนกับซิงเกียง และแทบทั้งหมดอยู่บนแนวเทือกเขาสูงชันทุรกันดารของหิมาลัย แล้วก็เคยรบกันมาแล้วด้วย

ถ้านับเฉพาะหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จีนคอมมิวนิสต์ส่งกำลังยึดครองทิเบตปี 2493 จากนั้นก็ส่งกำลังไปในเขตอักไสชินที่อินเดียถือว่าเป็นของตัว แล้วก็รบกันในอีก 5 ต่อมา จนกระทั่งบัดนี้จีน-อินเดียก็ยังขัดแย้งในเรื่องพรมแดน หากแต่ใช้การเจรจาเป็นสำคัญ ปมที่เป็นเรื่องร้อนก็คือ กรณีรัฐสิกขิม อันมีพื้นที่ต่อแดนกับทิเบต เมื่อปี 1975 – 2518 รัฐสภาสิกขิมได้ออกเสียงให้สิกขิมรวมอยู่กับอินเดีย สถาบันกษัตริย์จึงถูกยกเลิก อินเดียถือว่าสิกขิมจึงมีสถานะเป็นรัฐๆหนึ่งของอินเดียแต่จีนไม่ยอมรับ

อินเดีย กับ จีน ต่างก็ถือว่าตัวเองใหญ่ มีกำลังและมีอำนาจต่อรอง แต่ยุคนี้เหมือนจะเป็นยุคของจีนที่มีน้ำหนักมากกว่า ประเทศรายรอบอินเดียถูกจีนเข้าไปผูกเป็นพันธมิตรไม่ว่าปากีสถาน ศรีลังกา หรือกระทั่งพม่า(ที่พยายามดุลตัวเองท่ามกลางมหาอำนาจขนาบ) ความร่วมมือสร้างอำนาจต่อรองใหม่ผ่านกลุ่ม BRICs ก็เรื่องหนึ่ง แต่อีกทางหนึ่งต่างก็แข่งขันกันในที

ยุคนี้เป็นยุคที่มหาอำนาจใช้ทุนผสมการทูตไปผูกสัมพันธ์ ผลจากการลงทุน การกู้ยืมและมีกิจกรรมการค้าต่อกันมีผลผูกพันยิ่งกว่าการทูตยุคเก่าเสียอีก เพราะโลกยุคใหม่มีการเคลื่อนย้ายผู้คนวัฒนธรรมเข้าไปพร้อมกับการลงทุน ไปๆ มาๆ สังคมนิยมใช้ทุนเป็นอาวุธ ได้น่ากลัวกว่าเจ้าตำหรับทุนนิยมเสียอีก

เรื่องนี้อาจจะบานปลายได้ใหญ่โต สื่อจีนเขียนทำนองว่าถึงขั้นสงครามสื่ออินเดียอ้างมาพาดหัวซ้ำให้ตื่นตระหนกขึ้นไปอีก

ถามว่าระหว่างอินเดียกับจีนประเทศไหนใหญ่และมีพลังกว่า มาถึงพ.ศ.นี้ย่อมต้องตอบว่าจีนโดยไม่พักสงสัย แต่อย่างไรก็ตาม ก็หาใช่ว่าอินเดียจะเป็นยักษ์ที่ว่างเปล่ากลวงใน อินเดียนั้นมีกำลังรบและมีนิวเคลียร์อยู่ในความครอบครองนะครับ มีความสามารถในการป้องกันตนเองในระดับสำคัญ ถ้าอินเดียงัดข้อขึ้นมาผลประโยชน์ของจีนในมหาสมุทรอินเดียไม่ว่าในศรีลังกา อาระกัน (พม่า) หรือปากีสถานจะอยู่เป็นสุขเลย

โลกกำลังจับตามองท่าทีของ สีจิ้นผิง และ นเรนทรา โมฑี ซึ่งมีกำหนดไปร่วมประชุม G-20 ที่ฮัมบูร์ก เดือนนี้.

 

**คลิกอ่านเพิ่มเติม

China says India violates 1890 agreement in border stand-off  

China terms India’s actions at Sikkim border as ‘betrayal’, counters Arun Jaitley’s remarks

ภาพจาก : wikipedia

 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ