บูรพา-อาคเนย์ เมื่ออาหารญี่ปุ่นแปลงร่างเป็นนวัตกรรมส่งออก : บัณรส บัวคลี่

บัณรส บัวคลี่

รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2020 จะสามารถส่งออกสินค้าอาหาร ได้ถึง 1 ล้านล้านเยน (¥1 trillion) แล้วก็ไม่แน่ว่า เป้าหมายดังกล่าวจะมาถึงก่อนกำหนดด้วยซ้ำไป เพราะเอาแค่ยอดส่งออกของปี 2015 ก็ปาเข้าไป 7.45 แสนล้านเยน ชนิดโตขึ้นจากเดิมแบบพุ่งพรวด ถึง 21.8%

นี่เป็นผลพวงของยุทธศาสตร์เศรษฐกิจใหม่ที่หันมาเน้นภาคบริการจากวัฒนธรรมและภูมิปัญญา หรือ Cool Japan โดยที่อาหารเป็นหนึ่งใน   5 สาขาสำคัญที่เป็นเป้าหมายผลักดัน ทั้งนี้ไม่ใช่แค่ตลาดส่งออกเท่านั้น อาหารในประเทศตามตลาดสด ร้านอาหารเล็กๆ ในเมืองต่างๆ หรือกระทั่งในเรียวกังที่พัก ซึ่งเสิร์ฟเป็นเซ็ตอาหารแบบดั้งเดิมหรือ ‘washoku’ ก็โตเอาๆ พร้อมกับสถิตินักท่องเที่ยวเข้าประเทศเพิ่มพรวดภายใน 5 ปี

วิธีคิดของรัฐบาลญี่ปุ่นในเรื่องสินค้าอาหารก็เหมือนกับหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ใครๆ ก็อยากจะขายอาหารของตนเองให้คนทั้งโลกอยากจะลองลิ้มรส แต่บางประเทศคิดได้-ทำได้บ้างในบางระดับ บางประเทศได้แค่คิด-แต่ทำไม่ได้
การผลักดันสินค้ากลุ่มอาหารของญี่ปุ่นเป็นอะไรที่น่าสนใจ แม้ว่าเขายังห่างจากประเทศไทยที่เป็นยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมอาหารโลกอยู่ก้าวใหญ่ แต่ก็มาแรงและเร็วมาก หลายๆ อย่างของญี่ปุ่นเป็นนวัตกรรมทางการตลาด อย่างเช่น เขาใช้ห้างอิเซตัน (Isetan) ในต่างประเทศ เปิดช่องทางการขายสินค้าวัฒนธรรมเต็มรูปหลังจากรัฐบาลประกาศยุทธศาสตร์ cool japan ขึ้นมา เมื่อปลายปี 2558 ห้างอิเซตันที่กรุงเทพฯ ปรับเปลี่ยนพื้นที่ชั้น 5 จากที่เคยเป็น food floor ธรรมดาให้เป็นบรรยากาศแบบญี่ปุ่น เน้นสินค้าหมวดอาหารนำเข้าเป็น วะโชกุ แกลเลอรี่ (washogu gallery) ภายใต้คอนเซ็ปต์ “This is japan”

Washogu แปลว่า อาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมก่อนยุคเปิดประเทศ (ที่มีการผสมผสานดัดแปลงอาหารฝรั่งปนเข้ามา) คำๆ นี้เป็นกลายเป็นศัพท์สำคัญของการตลาดท่องเที่ยวญี่ปุ่น เมื่อเข้าพักเรียวกัง สวมชุดยูกาตะ แช่ออนเซนแล้วก็ต้องกินอาหารแบบดั้งเดิมคือเซตอาหารวะโชกุ มันถึงจะครบเซ็ต อิเซตันใช้ชื่อวะโชกุมาเป็นแผนกสินค้า บ่งบอกเจตนาว่าขายสินค้าวัฒนธรรมและอาหารดั้งเดิมแบบญี่ปุ่น ห้างสรรพสินค้าในต่างแดนจึงไม่ใช่แค่มีชั้นสินค้านำเข้าแบบเดิม หากต้องประกอบสร้างกลิ่นอาย บรรยากาศ เพื่อหนุนเสริมอาหารนำเข้าแต่ละชนิดของตน
ญี่ปุ่นคิดปุ๊บก็ผลักดันอย่างเป็นระบบ เขาเสนอให้เซ็ตอาหารญี่ปุ่น washoku ขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมอาหารต่อองค์การ UNESCO เมื่อปี 2556 หลังจากที่เริ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคบริการและวัฒนธรรมได้ไม่นาน

อีกไม่กี่เดือนถัดมา ห้างอิเซตัน สาขากัวลาลัมเปอร์ล้ำหน้าเพิ่มขึ้นอีก ด้วยการนิยามห้างทั้งห้างว่าเป็น Japan Store http://www.isetankl.com.my/tjs_main.html  ทั้งบรรยากาศการตกแต่งและสินค้าทั้งหมดเป็นสินค้าเมดอินเจแปน มีสินค้าวัฒนธรรมที่รัฐบาลผลักดันให้เพื่อเป็นเศรษฐกิจใหม่ ก็คือพวกมังงะ เอนิเมชั่นการ์ตูน สินค้าแฟชั่นและเสื้อผ้า ศิลปะและเทคโนโลยี และปี 2560-2017 นี้ ได้เริ่มเปิดบริการแผนกอาหารที่ป่าวประกาศว่าเป็นครัวญี่ปุ่นแท้ๆ ขึ้นมา

อาหารญี่ปุ่นพัฒนาไปมาก ขนมและของฝากของญี่ปุ่นที่สนามบินเมื่อ 10 ปีก่อน ส่วนใหญ่มีแต่ขนมที่ทำจากแป้งและถั่วแดง อาจแตกต่างแค่แพกเกจจิ้ง แต่มาถึงปัจจุบันอาหารแต่ละชนิดได้รับการพัฒนาขึ้นทั้งความหลากหลาย รสชาติ หน้าตาและบรรจุภัณฑ์ พื้นฐานของเขามีเหล้าโชจูและสาเกที่หลากหลายเป็นทุนเดิม ดังนั้นอาหารหมวดเครื่องดื่มก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายผลักดันการส่งออกผ่านอิเซตันด้วย
จากสินค้าอาหารแบบดั้งเดิม เช่นลูกชิ้นสำเร็จรูป ปู (ปลา )อัด ผงวาซาบิ ซอส เหล้าหวาน เครื่องปรุงชนิดต่างๆ กลายเป็นอาหารสำเร็จพร้อมรับประทาน ภายใต้ห้างสรรพสินค้าทั้งห้าง ที่มีแผนกสินค้าวัฒนธรรมอื่นๆ ผูกพ่วงเข้ามา บนนวัตกรรมการผลิตทันสมัย
มันเลยไม่ใช่แค่การส่งออกสินค้าแบบเดิมแล้ว หากแต่เป็นการส่งออกวัฒนธรรมอย่างเป็นแบบแผน

ไม่ใช่แค่น่าสนใจเท่านั้น ยังน่ากลัวด้วย หากมองว่านี่เป็นคู่แข่งในตลาดสินค้าอาหารในอนาคต

ประเทศไทยเราเป็นยักษ์ใหญ่ในตลาดสินค้าอาหารโลก มียุทธศาสตร์ “ครัวของโลก” ที่ชัดเจน สถิติต่างๆ เราเป็นเบอร์หนึ่งหรืออย่างน้อยก็แถวหน้าไม่ว่าอาหารสด แช่แข็ง หรือแปรรูป ขณะที่อาหารไทยก็เป็นที่รู้จักอย่างน้อยต้องอยู่ใน 5 ลำดับแรกของอาหารนานาชาติที่คนชื่นชม อาหารเป็นหนึ่งในแม่เหล็กดึงดูดให้การท่องเที่ยวโต เพราะเรามีสตรีทฟู้ดที่เร้าใจจริงๆ นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยรู้ว่ามันไม่ปลอดภัย ไม่ผ่านมาตรฐานใดๆ เมื่อเทียบกับที่บ้านเขา แต่ก็ยังมีผู้ชื่นชมหลงใหลในรถเข็นข้างทางจนได้อันดับโลก

ตอนนี้ญี่ปุ่นยังห่างจากไทยในสมรภูมิอาหาร แต่ในระยะยาวชักไม่ไม่แน่เสียแล้ว ในขณะที่ญี่ปุ่นผลักดันการส่งออกสินค้าอาหารสดปลอดภัย มีคุณภาพสูงชนิดที่แต่ละอย่างตั้งราคาขายแพงๆ จนไม่น่าเชื่อว่าจะขายได้ แตงโมเหลี่ยมลูกละ 150 เหรียญสหรัฐยังขายได้ ส่วนเรายังจมอยู่กับเกษตรเชิงเดี่ยว สารเคมีติดอันดับโลก และไร้มาตรฐานในการคุ้มครองผู้บริโภคคนไทยด้วยกันเอง เรามีพืชส่งขายแต่คนปลูกไม่กล้ากินเอง ..คิดดูก็แล้วกัน

กระแสคลื่นเศรษฐกิจใหม่จะเกื้อหนุนตลาดอาหารของญี่ปุ่นได้เพิ่มอีก อาจจะบรรลุยอดตัวเลขเป้าหมาย 1 ล้านล้านเยนก่อนภายใน 2020 ด้วยซ้ำไป การตลาดใหม่ออนไลน์ที่ส่งตรงถึงบ้านและระบบขนส่งสินค้าพิถีพิถันแบบฉบับญี่ปุ่นจะดันยอดสินค้าพืชผักและเนื้อสด โดยเฉพาะอาหารทะเลและเนื้อวัววากิวที่เป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนไปถึงมือผู้บริโภคต่างประเทศมากขึ้นในปี 2017 นี้ รวมถึงในประเทศไทยก็เป็นเป้าหมายหนึ่งที่เป็นตลาดสำคัญรองรับอาหารญี่ปุ่น ทั้งๆ ที่ไทยเองก็เป็นเจ้าแห่งตลาดอาหารก็ตาม

โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนคิดว่า โอกาสของผู้ประกอบการไทยเราในตลาดอาหารยังเปิดกว้างอีกมาก แนวคิดผลักดัน Northern Foods Valley ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือซึ่งเป็นฐานของเกษตรอุตสากรรมหลายชนิดมีความก้าวหน้าไม่น้อย ที่จริงแล้วทรัพยากรและต้นทุนด้านอาหารของไทยในภูมิภาคต่างๆ อุดมสมบูรณ์ที่สุด อย่างหาดใหญ่เมืองเดียวก็สามารถจะประกาศเป็น food paradise ได้เพราะมีอาหารอร่อยเป็นร้อยๆ ร้านและเป็นของจริงที่มีความเป็นมาทั้งสิ้น หากจัดการดีๆ จะสามารถต่อยอดทั้งด้านการศึกษาวิจัย เปิดสถาบันสอนวิชาครัวไทยเป็นเรื่องเป็นราวให้ยิ่งใหญ่พอๆ กับสถาบันการอาหารที่ฝรั่งเศสหรือสวิสเซอร์แลนด์ก็ยังไหว
มองญี่ปุ่นเขาขยับเคลื่อน ทำให้ย้อนมองเราได้ชัดเจนขึ้น

คลิกอ่านเพิ่มเติม

Japanese food exports hit record high for third year on cheap yen, popularity of ‘washoku’ 
Isetan to open Japan Store Kuala Lumpur
Japanese cuisine wins cultural heritage status Honor by UNESCO