บูรพา-อาคเนย์ มาเลย์ไฟเขียว Airbnb เข้าระบบภาษี : บัณรส บัวคลี่

บัณรส บัวคลี่

ในระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านรับการเข้ามาของเศรษฐกิจใหม่ ผู้เกี่ยวข้องทั้งเก่าใหม่และคนกลางคือรัฐบาลต่างก็ต้องปรับตัวกันไปคนละแบบ หลายๆ ประเทศรวมถึงมาเลเซียเริ่มมีมาตรการกฎหมาย เพื่อให้ sharing economy เข้าสู่ระบบควบคุม ทั้งการลงทะเบียนให้รัฐทราบถึงผู้ให้บริการและรายได้เพื่อเข้าสู่ระบบภาษี

ห้องแบ่งเช่าผ่านแอปพลิเคชั่น airbnb เป็นของใหม่ที่โตเร็วมากไม่ว่าในยุโรปหรือเอเชีย เศรษฐกิจใหม่ sharing economy ชนิดนี้ยังสร้างปัญหาให้กับผู้ประกอบการเดิม อันได้แก่โรงแรม รีสอร์ตอยู่ไม่น้อย ผู้เขียนเพิ่งจะไปใช้บริการ airbnb หาห้องพักที่เมืองตากอากาศคาเมรอน ไฮแลนด์ กับที่ปีนัง มีห้องพักหลากชนิดให้เลือกมากมายแถมราคาไม่แพง

อย่างห้องชุดตากอากาศ 3 ห้องนอนมีห้องนั่งเล่นพร้อมครัว ใจกลางคาเมรอนไฮแลนด์ที่เลือกเช่า ราคาซื้อขายปัจจุบันเกิน 10 ล้านบาท เจ้าของอยู่ที่กัวลาลัมเปอร์ซื้อห้องทิ้งเอาไว้ เขาให้เช่าแค่คืนละ 2 พันกว่าบาท  ส่วนที่ปีนังเลือกบ้านห้องแถวสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสที่เขาปรับปรุงใหม่ในเขตเมืองเก่า ราคาก็ตก 2 พันกว่าบาทเช่นกัน ปีนังเป็นเมืองที่อสังหาริมทรัพย์แพงมากลำดับต้นของมาเลเซีย ห้องแถวเก่าย่านจอร์จทาวน์มรดกโลกมีราคาเกินห้องละ 20 ล้านบาทไทย

วิธีการจองและประสานงานสะดวกมากทีเดียวเลยครับ หลังจากกดจองห้องเข้าไป ไม่เกิน 10 นาทีเจ้าของห้องก็ติดต่อกลับมา บอกว่าโอเครับดีล จากนั้นเขาจะแจ้งพิกัดห้องพักและการเดินทางไปถึง ไม่ต้องมีกุญแจไข เพราะห้องเขาเป็นระบบใช้พาสเวิร์ดกดรหัสให้ผ่านเข้าไป เสียบปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ รวมถึงไวไฟ เท่านี้ก็อยู่สบายใจอยู่ที่นั่น ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องไม่ส่งเสียงดังรบกวน ไม่จัดปาร์ตี้ ใช้เครื่องครัวได้แต่ต้องล้างให้เรียบร้อยก่อนเช็คเอาท์ นี่เป็นเงื่อนไขของห้องที่เลือก

มีเงื่อนไขของบางเจ้าที่ห้ามอาหารจากหมูเข้าไปในห้องพัก ด้วยประเทศของเขาเป็นอิสลาม โรงแรมหรือห้องเช่าบางแห่งกำหนดด้วยซ้ำว่ารับแต่ชาวมุสลิมเท่านั้น  แต่ในภาพรวมธุรกิจห้องแบ่งเช่าผ่านออนไลน์ของมาเลเซียบูมสะพรั่งมีห้องห้องหลายราคาหลายแบบ ทั้งลังกาวี ปีนัง มะละกา ยะโฮร์ คาเมรอนไฮแลนด์

เมื่อราวปลายปีที่แล้วสมาคมโรงแรมของมาเลเซียเคยร้องเรียนรัฐบาลถึงผลกระทบจาก airbnb นั่นเพราะโรงแรมมีต้นทุนสูงกว่าไหนจะภาษีและเงื่อนไขข้อปฏิบัติตามกฎหมายและต้องจ้างพนักงานอีกจำนวนหนึ่ง ส่วนห้อง airbnb ที่ราคาถูกกว่าหรือเกือบจะเท่ากันกับไม่ต้องเสียอะไรเลยแม้กระทั่งภาษีให้กับรัฐ แต่ดูเหมือนรัฐบาลเสือเหลืองจะมีธงที่ชัดเจนที่จะเปิดรับเศรษฐกิจดิจิตอลยุคใหม่ จึงไม่ได้แสดงท่าทีตอบรับใดๆ ทั้งๆ ที่เวลานั้นยังไม่มีกฎหมายอะไรมารองรับห้องเช่าแบบ sharing economy เลยก็ตาม

ซึ่งก็ไม่ได้แปลกอะไร เพราะขนาดประเทศโลกที่หนึ่งในยุโรปอย่างฝรั่งเศสเองก็เพิ่งจะปรับตัวรับเศรษฐกิจใหม่ยุคดิจิตอลชนิดนี้เหมือนกัน มหานครปารีสและเมืองท่องเที่ยวต่างๆ ของฝรั่งเศสมีห้องพักแบบ airbnb ทั่วไปเช่นเดียวกันซึ่งทำให้มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการโรงแรมอยู่ไม่น้อย จนที่สุดรัฐบาลฝรั่งเศสเข้มงวดกับห้องเช่ามากขึ้นโดยใช้มาตรการทางภาษีตรวจสอบห้องพักที่ให้คนเช่า ให้ airbnb ส่งข้อมูลภาษีให้กับรัฐบาลโดยตรง และห้ามประชาชนให้เช่าห้องพักของตนมากกว่า 120 วัน/ปี  หากเกินกว่านั้นถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งมาตรการที่ธุรกิจโรงแรมกดดันดังกล่าวแม้จะไม่สามารถขจัด airbnb ให้ราบคาบแต่ก็มีเพดานและขีดกรอบไม่ให้ขยายมากไปกว่านี้

เจ้าผลกระทบจากธุรกิจยุคใหม่ลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นทั่วโลกแหละครับ เพราะการเปิดห้องพักให้ใครไม่รู้เข้ามาโดยไม่มีการควบคุมเลยย่อมมีผลกระทบแน่ อย่างน้อยก็ต่อเพื่อนบ้าน แขกแต่ละกลุ่มมีดีเลวปะปนกันไป ถ้าเพื่อนบ้านเจอกรุ๊ปที่เอ็ดตะโร ทำเลอะเทอะก็แย่หน่อย ที่สิงคโปร์เคยมีการลงโทษเจ้าของห้องพัก airbnb เพราะมีการร้องเรียนจากเพื่อนบ้านทั้งๆ ที่รัฐบาลเองก็หลิ่วตาให้กับเศรษฐกิจดิจิตอลอยู่ ประเทศญี่ปุ่นนี่มีมาตรการที่ชัดเจนว่าอนุญาตให้เจ้าของห้องเปิดให้เช่าแบบนี้ได้กรณีที่เช่านานเกิน 1 สัปดาห์เท่านั้น

บางประเทศก็แก้เร็ว บางประเทศรอดูท่าทีผลกระทบและหาวิธีการเหมาะ ๆ บางประเทศยังไม่ทำอะไร

เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา มาเลเซียเพิ่งจะออกกฎหมายใหม่ พระราชบัญญัติภาษีการท่องเที่ยว Tourism Tax Bill 2017  กำหนดอัตราภาษีที่รัฐบาลกลางจัดเก็บจากห้องพักรับนักท่องเที่ยวทุกชนิดประเภทรวมถึงโฮมสเตย์และห้องพักแบ่งเช่า sharing economy ผ่าน airbnb ด้วยทั้งหมด

แปลว่า รัฐบาลมาเลเซียยอมรับโดยดุษณีถึงการดำรงอยู่ของธุรกิจใหม่ชนิดนี้

อัตราภาษีจะคำนวณจากจำนวนห้อง/จำนวนคืน ไล่ระดับขึ้นไป โรงแรมเล็กดาวน้อยก็จ่ายน้อย โรงแรมหรูห้าหกดาวก็เรียกเก็บแพงหน่อย โรงแรมไร้ดาวอยู่ที่ 2.5 ริงกิต/ห้อง/คืน แล้วก็ปรับขึ้น 5-10-15-20 สำหรับโรงแรมสอง สาม สี่ ห้าดาว

ขณะที่โอเปอเรเตอร์ airbnb ก็จะต้องเข้าสู่ระบบตรวจสอบ ให้รัฐบาลรู้ถึงการเคลื่อนไหว/จำนวนลูกค้าและวันเข้าพัก

ในระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านรับการเข้ามาของเศรษฐกิจใหม่ ผู้เกี่ยวข้องทั้งเก่าใหม่และคนกลางคือรัฐบาลต่างก็ต้องปรับตัวกันไปคนละแบบ หลายๆ ประเทศรวมถึงมาเลเซียเริ่มมีมาตรการกฎหมาย เพื่อให้ sharing economy เข้าสู่ระบบควบคุม ทั้งการลงทะเบียนให้รัฐทราบถึงผู้ให้บริการและรายได้เพื่อเข้าสู่ระบบภาษี อีกทางหนึ่งก็เพื่อป้องกันสิ่งที่เป็นผลด้านลบ มีคนเคยยกประเด็นเรื่องการก่อการร้ายขึ้นมาด้วยซ้ำ เพราะห้องเช่าแบบนี้ผู้ก่อการร้ายแฝงตัวมาเช่าได้ง่าย รัฐไม่รู้พิกัดตำแหน่ง และไม่รู้ทั้งชื่อผู้มาพักและผู้ให้บริการ สมมติก่อนจะเช็คเอาท์ออกวางระเบิดทิ้งไว้ใจกลางอาคารที่เป็นคอนโดมิเนียมที่อยู่อาศัย โอโห..คงจะวินาศสันตะโรน่าดู ดังนั้นที่สุดแล้วเศรษฐกิจดิจิตอลทุกรูปแบบก็จำเป็นต้องเข้าระบบควบคุมของรัฐอย่างแน่นอน แต่ละประเทศต่างก็พยายามหาสูตรที่ลงตัวของตนเอง เพราะนี่เป็นเรื่องใหม่ที่ต่างก็เผชิญกับมันพร้อมๆ กัน

สำหรับประเทศไทยก็เช่นกัน พวกที่ประกอบการออนไลน์ทั้งหลายรวมถึงเศรษฐกิจดิจิตอลก็คงทยอยเข้าระบบภาษีและการควบคุมนับจากนี้ โดยเริ่มจากพวกขายของก่อน พวกโฮมสเตย์ airbnb ก็คงเข้าคิวต่อจากนี้

Tourism Tax Bill 2017  Tourism tax to rake in millions for Malaysia