ณ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งนานมาแล้ว มีเรื่องอื้อฉาวพูดกันสนุกสนานทั้ง ๆ ที่น่าจะเป็นเรื่องเศร้าเรียกว่าเป็นทอล์คอ๊อฟเดอะทาวน์ เอ๊ย…..ยูนิเวอร์ซิตี้เลยทีเดียว เป็นเรื่องของนักการภารโรงผู้หนึ่งแต่งงาน
มีงานเลี้ยงใหญ่โต แต่จบแบบโศกนาฏกรรมคือ ไม่มีการส่งตัวเจ้าบ่าวเข้าหอ ถูกเฉดออกจากงานต้องกลับมานอนเฝ้าตึกเรียนเหมือนเดิม
เรื่องของเรื่องคือฝ่ายเจ้าสาวและผู้ปกครองรวมทั้งวงศาคณาญาติเพิ่งทราบวันแต่งงานว่า ทำงานมหาวิทยาลัยในตำแหน่ง “นักการภารโรง” เข้าใจผิดตลอดมาว่าเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัย เพราะเป็นคนบุคลิกภาพดี แม้เป็นภารโรงแต่มาทำงานทุกวันด้วยชุดไม่พระราชทานก็ซาฟารี ดูภูมิฐานสง่าราศีดีกว่าอาจารย์บางท่านเสียอีก
เพราะระยะหลังอาจารย์จำนวนไม่น้อยชอบแต่งกายสบาย ๆ มาทำงานหรือมาสอน บางคนใส่เสื้อลอยชายนุ่งกางเกงยีนส์บางทีใส่รองเท้าแตะด้วยซ้ำไป คณบดีหรืออธิการบดีไม่กล้าทักหรอกครับ เกรงโดนสวนกลับว่า รู้จัก “เสรีภาพ” หรือเปล่า
ดังนั้นเมื่อบอกใครต่อใครว่าทำงานมหาวิทยาลัย ใคร ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัยก็เลยเรียกตามความเข้าใจว่า”อาจารย์” ท่าน เอ๊ย….แกก็ไม่ปฏิเสธ อาจจะนึกครึ้มอกครึ้มใจด้วยซ้ำไป แม้จะไม่แทนตัวเองว่า “อาจารย์” แต่ก็ไม่ปฏิเสธให้คนเรียกเสียหน้า…….ฮ่า
อย่าว่าแต่ภารโรงเลย ผมเองก็กระอักกระอ่วนใจเวลาใครต่อใครเรียกว่า “ด๊อกเต้อร์” เพราะผมไม่ได้เรียนจบปริญญาเอก แต่คนเห็นผมเป็นถึงผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยน่าจะจบระดับ ดร. เป็นแน่ ใครเรียกแล้วผมจะปฏิเสธขออธิบายก็คงวุ่นวายใช้เวลา บางทีจึงปล่อยเลยตามเลย อยากเรียกก็เรียกไป เพียงแต่ไม่เคยแทนตัวเองว่า “ด๊อกเต้อร์” เท่านั้นเอง
สำหรับเจ้าบ่าวที่คนภายนอกเข้าใจว่าเป็นอาจารย์ ความจริงมาเปิดเผยเอาวันแต่งงานด้วยความปรารถนาดีของท่านอธิการบดีที่มีน้ำใจให้เกียรติไปเป็นประธานงานวันนั้น เพราะภารโรงคนนั้นทำงานประจำสำนักอธิการบดี ตอนขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ให้โอวาทและอวยชัยให้พรคู่บ่าวสาว
ท่านกล่าวชมเจ้าบ่าวว่าเป็นคนดีอย่างนั้นอย่างนี้แม้จะเป็นภารโรงก็ตาม ก็เป็นไปตามวัฒนธรรมหรือประเพณีของงานละครับ มีใครจะไปกล่าวตำหนิหรือความไม่ดีของคนที่สมมุติว่าเป็นพระเอกของงานละครับ ขืนทำแบบนั้นก็ต้องถือว่าผิดกติกา จริงไหมครับ
แต่ถึงจะสดุดีอย่างไรฝ่ายผู้หลักผู้ใหญ่ของเจ้าสาวไม่ยอมรับรู้ด้วยแล้ว ตอนนั้นคงหูอื้อและอาจจะถึงขั้นตาลายผสมด้วย คงคิดแต่เพียงว่าโดนหลอกลวงให้เข้าใจผิดตลอด และวันนั้นฝ่ายเจ้าสาวไม่ยอมจบแบบตกกระไดพลอยโจนเสียด้วยซี แต่ยกกระได้หนีไม่ให้ขึ้นบ้านเลย เจ้าบ่าวก็เลยตกวิมานต้องกลับคืนนอนกระต๊อบ เอ๊ย….เฝ้าห้องเรียนดังเดิม
เจ้าบ่าวคงมาคิดได้ภายหลังนะครับว่า “รู้งี้ ไม่เชิญอธิการไปงานดีกว่า”
เรื่องอย่างนี้ถ้าโทษว่าเป็นความผิดของเจ้าบ่าวก็มั่นใจได้เลยว่า เขาไม่ยอมรับแน่ ๆ อาจแก้ตัวในลักษณะ “ช่วยไม่ได้ อยากเข้าใจผิดเองทำไม” ผมแค่บอกว่า “ทำงานมหาวิทยาลัย……… ก็ไปคิดเอาเองว่า เป็นอาจารย์” ผมไม่เคยแอบอ้างเป็นอาจารย์นะ จะบอกให้
เรื่องจริงที่ไม่น่าเชื่อนี้คงไม่เกิดขึ้น ถ้าฝ่ายบุคคลของสำนักงานอธิการบดีจะมี “ผังบุคคล”ของสำนักงานอธิการบดี ติดโชว์ไว้ที่บอร์ดหรือป้ายประกาศของที่ทำการ ใครผ่านไปผ่านมาได้มองเห็น หน้าตาอธิการบดีและรองอธิการบดีรวมทั้งของอาจารย์หรือคนทำงานที่ตึกนั้น
ใครอยู่ตรงไหนมีตำแหน่งหน้าที่เรียกอะไร อาจมีทั้งสายบังคับบัญชาแสดงให้ดูว่าใครเหนือใครต่ำกว่าใคร ดูปั๊บเห็นชัดเจน ไม่จำเป็นต้องเดาจากโหงวเฮ้งหรือบุคลิกภาพ ซึ่งอาจผิดพลาดได้ดังเรื่องที่เอามาเขียนให้อ่านข้างต้น
ผมจึงอยากเสนอแนะ HR ของบริษัทหรือองค์การต่าง ๆ จัดทำ “ผังบุคคล”ของแผนกหรือฝ่ายต่าง ๆ ติดทั้งภาพทั้งชื่อให้แลเห็นชัดเจนว่าใครเป็นใครอยู่ในลำดับหรือสายงานตรงไหน ใครไปใครมาสามารถมาดูผังแล้วรู้แจ้งเห็นจริง ไม่โดนหลอกลวงหรือเข้าใจผิดหรือคิดคาดเดาเอาเอง
“ผังบุคคล”นี้จะช่วยมากในเรื่องการประสานงาน ไม่ว่าจะเป็นคนนอกหรือลูกค้าที่มาติดต่องาน คนเข้าใหม่ คนต่างฝ่ายต่างแผนก มายืนตรงหน้า”ผังบุคคล” นี้เมื่อไหร่ สามารถรู้ได้ว่า เรื่องนั้นเรื่องนี้ใครรับผิดชอบ ควรจะติดต่อกับผู้ใด ถามหาบุคคลนั้นได้เลย ไม่ใช่เริ่มแบบงมเข็มในมหาสมุทร ด้วยคำถามว่า “เรื่องนี้ผมต้องติดต่อกับใครครับ”
ข้อสำคัญคือรูปที่นำมาติดผังขอให้เป็นรูปปัจจุบันทันสมัยใกล้กับตัวจริงด้วยนะครับ ไม่ใช่รูปถ่ายครั้งสมัยเรียนจบใหม่ ๆ หรือเพิ่งเข้าทำงาน ไม่ใช่ดูรูปแล้วเดินหาเท่าไหร่ก็ไม่เห็นผู้ที่เหมือนในรูป รูปภาพควรปรับเปลี่ยนทุกปีเพราะคนเราสังขารรูปลักษณ์เปลี่ยนไปตามกาลเวลาหาเสถียรภาพไม่ ทางที่ดีใช้กล้องของหน่วยงานจัดการให้ อย่าให้หามาเอง ไม่งั้นอาจได้ภาพพระเอกนางเอก ทั้ง ๆ ที่ตัวจริงกลายเป็นพี่ป้าน้าอาไปหมดแล้ว……ฮ่า
ใครที่เป็น HR อ่านเจอเรื่องนี้เข้า หากฝ่ายต่าง ๆ ของบริษัทไม่มีการจัดทำ “ผังบุคคล” ลองทำเรื่องเสนอจัดทำให้ดูซีครับ ไม่แน่นะเจ้านายอาจจะชมว่า ความคิดริเริ่มดี ทั้ง ๆ ที่เรื่องอย่างนี้ก็มีการทำกันอย่างกว้างขวางในหลายองค์การ