ในหนังสือ The 4th Industrial Revolution ซึ่งได้แบ่งยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมออกเป็น 4 ยุค คือ ยุคที่ 1 คือยุคที่มีการพัฒนาเครื่องจักรไอน้ำเมื่อประมาณ 200 ปีที่แล้ว ยุคที่ 2 คือยุคของการพัฒนาไฟฟ้า เมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว ยุคที่ 3 คือยุคการสร้างคอมพิวเตอร์ เมื่อทศวรรษ 1960 และยุคที่ 4 ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ไกลนัก ซึ่งเป็นการพบกันระหว่างระบบดิจิตอล นาโนเทคโนโลยี และไบโอเทค ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างมากมายมหาศาล
เมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา โลกอยู่ในระหว่างการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 ซึ่งเราอาจจะเรียกยุคนี้ว่า ยุค 3.5 หรอยุคดิจิตอล อันเป็นการผสมผสานระหว่างคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม ยุคดังกล่าวนี้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมหาศาลทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค ในบทความฉบับนี้จะวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงในเชิงมหภาคเท่านั้นและแนวทางในการวิเคราะห์จะใช้ระบบทฤษฎีเกมแบบ Organic Tree อันเป็นแนวทางในการวิเคราะห์เชื่อมโยงแบบต้นไม้มีชีวิต โดยวิเคราะห์เริ่มตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ซึ่งจากจุกนี้จะทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในอนาคตของทั้งลำต้น ใบ และผล กล่าวคือ การวิเคราะห์ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์เป็นการวิเคราะห์ถึงการจุดพลุความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ (Strategic Change Driver) เราก็จะสามารถวิเคราะห์ทำนายองค์ประกอบของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามลำดับได้ (Logical sequence)
โลกยุค 3.5 หรือที่เราเรียกว่า โลกยุคดิจิตอล อันเป็นยุคของการผสมผสานระหว่างคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ได้สร้างมิติใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในโลก มิติที่ 1 ความลึกของข้อมูล กล่าวคือ คอมพิวเตอร์สามารถเก็บข้อมูลได้เป็นเป็นล้าน ๆ ข้อมูล โดยเก็บไว้ในเครื่องเล็ก ๆ ผลที่ตามมาคือ ความได้เปรียบ ซึ่งเกิดจากการบริหารความจุ (Economy of scope) เช่น ร้านหนังสือดวงกมลในอดีตมี 3 ห้อง จุหนังสือได้หลายหมื่นเล่ม แต่วันนี้ลูกค้าหันมาซื้อ Amazon.com ซึ่งมีร้านหนังสือเป็นพันธมิตรทำให้ไม่ต้องบริหารเนื้อที่ แต่ตัว Amazom.com ทำหน้าที่เพียงบริหารความจุ ทำให้มีหนังสือขายได้เป็นล้านเล่ม ผลก็คือทำให้เกิด Disruptive innovation นั่นคือ Amazom.com ทำให้ร้านหนังสือค่อย ๆ หายไป คอมพิวเตอร์ยังสร้างมิติที่ 2 คือมิติความเร็ว (Economy of speed) และมิติที่ 3 คือ Multimedia ส่วนโทรคมนาคมสร้างมิติความเชื่อมโยง (Connectivity) ทั้งในองค์กร (Intranet) ระหว่างองค์กร (Extranet) และระหว่างอื่น ๆ (Internet) องค์ประกอบของยุคดิจิตอลซึ่งคือยุคที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคมจึงนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ นั่นคือ โลกาภิวัตน์ (Globalization)
โลกาภิวัตน์ หมายถึง การแผ่ไปสู่ทุกจุดของโลก ในระยะแรกเป็นการแผ่ของข้อมูลข่าวสาร จากผลดังกล่าวนี่เองที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอันเป็นองค์ประกอบที่ 3 นั่นคือ การสิ้นสุดของโลกยุคสงครามเย็น (Cold war system) ปี 1989-1991 ซึ่งหมายถึงการล่มสลายของประเทศคอมมิวนิสต์ ยุโรปตะวันออก และสหภาพโซเวียต
การล่มสลายของยุคสงครามเย็นมีส่วนทำให้ประเทศคอมมิวนิสต์แตกเป็นหลายประเทศเช่น สหภาพโซเวียตแตกเป็น 15 ประเทศ ยูโกสลาเวีย แตกเป็น 7 ประเทศ เชคโกสโลวาเกีย แตกเป็น 2 ประเทศ นำไปสู่ปรากฏการณ์การขยายตัวของประเทศเกิดใหม่ (Emerging economy) กลุ่มประเทศเหล่านี้ยังรวมถึงประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ ที่เริ่มเข้าสู่วงจรการแข่งขันในยุคโลกไร้พรมแดน การเกิดและขยายตัวของประเทศเกิดใหม่ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาและค่าแรงต่ำจึงเป็นส่วนหนึ่งของการเกิดวิกฤตในประเทศไทยจนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997
การล่มสลายของระบบคอมมิวนิสต์นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญลำดับต่อมาคือ การขยายตัวของโลกาภิวัตน์ในทางการเมือง เศรษฐกิจ และค่านิยม ในทางการเมือง หมายถึง การสิ้นสุดของระบบเผด็จการ การแผ่ขยายของระบบประชาธิปไตยเสรีนิยมไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในยุคสงครามเย็นมีเพียง 30 ประเทศเท่านั้นทีมีระบบประชาธิปไตยเสรีนิยม แต่ในปัจจุบันมีกว่า 80 ประเทศในโลกที่เป็นประชาธิปไตยเสรีนิยม โลกาภิวัตน์ในทางการเมืองยังครอบคลุมถึงการแผ่ขยายของค่านิยมการเคารพสิทธิมนุษยชน ดังจะเห็นว่าประเทศไทยก็เจอปัญหาการค้ามนุษย์ โดยถูกเล่นงานจากอเมริกาและสหภาพยุโรป เช่น เรื่องประมง เป็นต้น
โลกาภิวัตน์ในทางเศรษฐกิจ หมายถึง การแผ่ขยายของการค้า การลงทุน การบริการไปสู่ทั่วโลก ดังจะเห็นได้ว่า ตลาดการเงินไทยมีนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาอย่างมากมายซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วทุกทวีป ทุกวันนี้จึงไม่น่าแปลกใจว่า คนที่อยู่ในวงการการเงินไทยต้องให้ความสำคัญกับข่าวสารการเงิน เศรษฐกิจ และการเมืองระหว่างประเทศ
โลกาภิวัตน์ในทางวัฒนธรรม แสดงออกในรูปการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ดังจะเห็นว่า คนไทยทุกวันนี้มีโอกาสกินเชอร์รี่ ปลาทูน่า ปลาแซลมอน เกิดการขยายตัวของอาหารญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรป ในขณะที่อาหารไทย มวยไทย สปาไทยก็มีการขยายตัวไปสู่ประเทศต่าง ๆ
จากโลกาภิวัตน์ก็นำไปสู่การขยายตัวการเปิดเสรี (Liberalization) ใน 4 มิติ คือ การค้า บริการ เงินทุน และแรงงาน จะเห็นได้ว่า เป็นครั้งแรกในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีการเปิดเสรีในด้านการบริการและสิทธิทางปัญญา อันเป็นเนื้อหาข้อตกลงรอบอุรุกวัย ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการเปิดเสรี เพราะ 7 รอบแรกของการประชุม GATT (ก่อนรอบอุรุกวัย) จะมีการเปิดเสรีการค้าด้านอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ มีการเปิดเสรีการเกษตรบ้าง ดังนั้นการเปิดเสรีการบริการ เช่น ทางการเงินและสิทธิทางปัญญาซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในยุคดิจิตอลก็กลายเป็นเนื้อหาข้อตกลงรอบอุรุกวัย
จากการเปิดเสรีทั้ง 4 มิติที่กล่าวมาก็นำไปสู่การแข่งขันด้านเศรษฐกิจ ในยุคสงครามเย็น บรรยากาศที่ครอบงำโลกคือภัยคุกคามทางการเมืองและความมั่นคงโดยเฉพาะจากระบบคอมมิวนิสต์ แต่ยุคหลังสงครามเย็น โลกเปลี่ยนจาก “สนามรบเป็นสนามการค้า” จึงไม่น่าแปลกใจว่า โลกาภิวัตน์และการเปิดเสรีได้สร้างแรงกดดันในประเทศต่าง ๆ ให้รวมกลุ่มกันอย่างลึกซึ้งขึ้นตั้งแต่เขตการค้าเสรีจนถึงตลาดร่วม หลังปี 1989 (หลังสงครามเย็น) การรวมกลุ่มแบบเขตการค้าเสรี สหภาพศุลกากร ตลาดร่วม มีการแผ่ขายไปทั่วทุกทวีป จึงไม่น่าแปลกใจว่า AFTA จึงเกิดขึ้นในปี 1993 และมีการจัดตั้งประชาคม Asean ซึ่งมี AEC เป็นองค์ประกอบในปี 2003 จากการประชุมสุดยอดบาหลี หรือที่เรียกว่า ปฏิญญาบาหลี
ทฤษฏีเกมสามารถทำนายปรากฏการณ์ของการรวมกลุ่มของโลกยุคหลังสงครามเย็นได้อย่างดี เพราะตามทฤษฎีเกมแล้ว คนฉลาด (Rational) จะหลีกเลี่ยงเกมศูนย์ (Zero sum game) ซึ่งเป็นเกมที่มีผู้แพ้และผู้ชนะ หลังสงครามเย็น อเมริกาถูกมองว่ามีอำนาจเพียงผู้เดียวเพราะไม่มีสหภาพโซเวียตมาคานอำนาจ และยุโรปก็พัฒนาไปสู่สหภาพยุโรป ในบริบทดังกล่าวปลาใหญ่จะกินปลาเล็ก ถ้าไม่ทำอะไรเลย ประเทศต่าง ๆ จะกลายเป็นผู้แพ้ในทฤษฎีเกมศูนย์ จากตรรกะดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศต่าง ๆ จะรวมตัวกันเพื่อไม่ให้เป็นผู้แพ้ในทฤษฎีเกมนั่นเอง
การขยายตัวของโลกาภิวัตน์ได้นำมาซึ่งปรากฏการณ์การต่อต้านโลกาภิวัตน์ (Anti-Globalization) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ซึ่งเรียกว่า Global paradox การต่อต้านโลกาภิวัตน์ออกมาในรูปปรากฏการณ์ประการแรกในรูปการก่อการร้าย โลกาภิวัตน์ที่นำมาซึ่งการขยายตัวของวัฒนธรรมตะวันตก และระบบเสรีนิยม จึงไม่น่าแปลกใจที่กลุ่มอิสลามบางกลุ่มซึ่งต้องการรักษาวิถีชีวิตเก่าแก่จึงเกิดการต่อต้านและพร้อมที่จะตายในการรักษาวิถีชีวิตแบบเก่าแก่ไว้ กล่าวคือ เป็นการปะทะทางวัฒนธรรม เปรียบเสมือนสงครามครูเสดครั้งที่ 2
โลกาภิวัตน์นำมาซึ่งด้านลบอีกมากมาย และนำมาซึ่งการขยายตัวของทุนนิยม โดยมีคำเรียกที่ไม่สุภาพว่า “ทุนนิยมสามานย์” กล่าวคือ เป็นการขยายตัวแบบผิดกฎหมายและผิดจริยธรรม การต่อต้านโลกาภิวัตน์จะปรากฏในรูปของธรรมาภิบาลและการต่อต้านการคอรัปชั่น นอกจากนี้ยังนำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงถูกต่อต้านด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการรักษาสิ่งแวดล้อม
การต่อต้านโลกาภิวัตน์และทุนนิยมอีกประการคือ การเรียกร้องสิทธิสตรีและสิทธิมนุษยชน เนื่องจากด้านลบของทุนนิยมได้มีการใช้แรงงานสตรีจึงนำมาซึ่งการต่อต้านผ่านการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน
การต่อต้านโลกาภิวัตน์และทุนนิยมอีกประการคือ การต่อต้านการขยายตัวของค่านิยมตะวันตก นำมาซึ่งการขยายตัวของค่านิยมตะวันออก ดังจะเห็นว่า ในตะวันตกก็มีวิถีชีวิตการกินแบบตะวันออก เช่น จีน เกาหลี ส่วนไทยเองก็มีวิถีชีวิตแบบตะวันตกดังทีได้กล่าวไว้ข้างต้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดปรากฏการณ์ hybrid เช่น ลาบปลาทูน่า หรือสปาเก็ตตี้ใบโหรพาและปลาเค็ม หรือปรากฏการณ์ทางดนตรี เช่น วงฟองน้ำ ซึ่งผสมผสานระหว่างตะวันตกกับไทย เป็นต้น
การขยายตัวของประเทศเกิดใหม่จากการเปลี่ยนแปลงจากระบบคอมมิวนิสต์เป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของชุมชนเมืองทำให้เกิดการขยายตัวของการบริโภคคาร์บอนไดออกไซด์ ปัญหาเรือนกระจก ปัญหาโลกร้อน น้ำแข็งทั้งขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ละลาย ทำให้เกิดน้ำท่วม และเกิดการเปลี่ยนแปลงของแผ่นเปลือกโลกทำให้เกิดสึนามิ
ในขณะที่เกิดปรากฏการณ์น้ำท่วมเพิ่มขึ้น แต่พื้นที่ทำกินมีน้อยลงโดยมีประชากรอาศัย 7,300 ล้านคน และทุก ๆ 20 ปี จะเพิ่มขึ้น 1,000 ล้านคน ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้มนุษย์อยู่ใกล้กับสัตว์มากขึ้น จึงทำให้เกิดโรคใหม่ ๆ จากสัตว์ เช่น AIDs Ebola หรือไข้หวัดนก จึงทำให้เกรงกันว่าจะเกิด Pandemic ซึ่งอาจทำให้มีคนตายเป็นพันล้านคนในระยะเวลาในไม่กี่เดือน
อาจจะกล่าวได้ว่าในช่วง 20 -30 ปีนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยทั้งหมดนี้มีจุดกำเนิดจากเมล็ดพันธุ์คือ ยุคดิจิตอล อันเป็นการผสมผสานระหว่างคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม