การประชุมสุดยอด G20 โดย รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

ในยุคของประธานาธิบดีทรัมป์นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีผู้นำแสดงท่าทีที่มีลักษณะไม่เป็นมิตรกับกลุ่มประเทศยุโรป ท่าทีดังกล่าวทรัมป์ได้แสดงออกมาในลักษณะโจมตีว่า NATO ล้าสมัย

ในวันที่ 7 และ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมามีการประชุมสุดยอด G20 ที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ในการประชุมนี้ถือว่าสำคัญอย่างมากเนื่องจากเป็นการประชุมที่จะแสดงถึงลักษณะการประลองกำลังระหว่างมหาอำนาจซึ่งเป็นพันธมิตรมาอย่างแนบแน่นนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นคือสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก สหรัฐอเมริกากับกลุ่มประเทศยุโรปมีความสัมพันธ์กันหลายระดับตั้งแต่เรื่องขององค์การ OECD G7 และ NATO ใน NATO เองก็จะมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 28 ประเทศ ใน 28 ประเทศนี้จะมีสมาชิกของสหภาพยุโรป 22 ประเทศส่วนอีก 6 ประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปแต่ไม่ได้เป็นสมาชิก NATO คือไอร์แลนด์ สวีเดน ออสเตรีย ฟินแลนด์ มอลตาและไซปรัส โครงสร้างของ NATO แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศในยุโรปส่วนใหญ่และสหรัฐอเมริกาและกรอบของกลุ่มประเทศในยุโรปนั้นนับตั้งแต่ข้อตกลงมาสทริชต์ในปีค.ศ. 1993 เป็นต้นมา หนึ่งในเสาหลักของสหภาพยุโรปคือการประสานความร่วมมือในกรอบของนโยบายความมั่นคงและนโยบายการต่างประเทศซึ่งแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงในการที่กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปต้องการความเป็นเอกภาพในด้านนโยบายความมั่นคงและนโยบายการต่างประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นการถ่วงดุลกับสหรัฐอเมริกา (แม้จะเป็นพันธมิตรในกรอบของ NATO) อีกส่วนหนึ่งต้องการขยายอำนาจทางการเมืองในเวทีโลก NATO นั้นเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1949 ในฐานะองค์การแห่งความร่วมมือที่เรียกว่า collective defence กล่าวคือเป็นการร่วมมือเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากภายนอกโดยเฉพาะมาตรา 5 ของสนธิสัญญา NATO ที่กำหนดว่าถ้าประเทศใดถูกคุกคามประเทศสมาชิกอื่นจะต้องให้ความช่วยเหลือ มาตราดังกล่าวสร้างความมั่นใจให้กลุ่มประเทศในยุโรปตะวันตกในยุคของสงครามเย็นว่า ถ้ามีภัยคุกคามจากประเทศคอมมิวนิสต์ สหรัฐอเมริกาก็จะให้ความช่วยเหลือ NATO จึงมีส่วนสำคัญในการป้องปรามสงครามเพราะเป็นองค์กรแห่งการถ่วงดุลและช่วยเหลือรักษาสันติภาพและความมั่นคงให้กับยุโรป แม้ทุกวันนี้สงครามเย็นจะสิ้นสุดไปแล้ว แต่ภัยคุกคามต่อยุโรปและ NATO คือรัสเซีย

ในยุคของประธานาธิบดีทรัมป์นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีผู้นำแสดงท่าทีที่มีลักษณะไม่เป็นมิตรกับกลุ่มประเทศยุโรป ท่าทีดังกล่าวทรัมป์ได้แสดงออกมาในลักษณะโจมตีว่า NATO ล้าสมัย ข่มขู่กลุ่มประเทศยุโรปว่าถ้าไม่มีการเพิ่มงบประมาณด้านการทหารให้ได้ 2% ของ GDP ตามที่ได้มีการตกลงกันไว้ในปี ค.ศ. 2014 ก็จะถอนทหารออกจากยุโรป นอกจากนั้นยังสนับสนุน BREXIT ซึ่งเท่ากับสนับสนุนการแตกตัวของสหภาพยุโรป แม้ว่าในระยะหลังทรัมป์ได้แสดงท่าทีสนับสนุน NATO ไม่ว่ารัฐมนตรีกลาโหมหรือรัฐมนตรีการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาต่างก็ยืนยันว่าสหรัฐอเมริกายังเป็นพันธมิตรกับสหภาพยุโรปและความผูกพันของสหรัฐอเมริกาต่อมาตรา 5 ของ NATO อย่างไรก็ตามในการประชุม mini-summit ของ NATO เมื่อเดือนที่ผ่านมาในกรุงบรัสเซิลปรากฏว่ากลุ่มประเทศยุโรปที่เป็นสมาชิก NATO ต่างรอคอยให้ทรัมป์แสดงท่าทียืนยันความผูกพันกับมาตรา 5 ซึ่งทรัมป์ก็ไม่ได้พูด สร้างความแคลงใจและความไม่แน่ใจในเรื่องความผูกพันของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อ NATO

ท่าทีของสหรัฐอเมริกาต่อ NATO และสหภาพยุโรปได้สร้างแรงกระเพื่อมอย่างไม่เคยมีมาก่อน กล่าวคือภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแมคร์เคิลของเยอรมนีและประธานาธิบดีมาครงของฝรั่งเศสเป็นหัวหอกในการแสดงท่าทีในการเผชิญหน้ากับสหรัฐอเมริกานั่นคือยุโรปได้กำหนดท่าทีในการพัฒนาแสนยานุภาพทางการทหารในกรอบของสหภาพยุโรปและกำหนดนโยบายความมั่นคงและนโยบายการต่างประเทศให้แนบแน่นมากขึ้น ท่าทีของทรัมป์ทำให้ยุโรปเริ่มตื่นตัวและเห็นได้ชัดว่ายุโรปควรจะต้องพึ่งตนเองมากขึ้นและยุโรปก็มีแสนยานุภาพในการเผชิญหน้ากับภัยคุกคามในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงได้เอง

ในการประชุมสุดยอด G20 คงได้เห็นท่าทีที่จะแสดงออกถึงการเผชิญหน้า (ท่าทีที่ต่างกัน) ระหว่างกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา อนึ่งกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปใน G20 มีเพียงเยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ และอิตาลี โดยสเปนซึ่งแม้ไม่ได้เป็นสมาชิก G20 โดยตรงแต่ก็ถือเป็นสมาชิกถาวรของ G20 และนอกจากนี้ยังมีเนเธอร์แลนด์เป็นแขกรับเชิญของเยอรมนีในฐานะเจ้าภาพ ในการประชุมสุดยอด G20 กลุ่มผู้นำที่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปคงรอคอยว่าทรัมป์จะแสดงออกถึงความผูกพันของสหรัฐอเมริกากับมาตรา 5 หรือไม่ ประเด็นการเผชิญหน้าของสหรัฐอเมริกาและยุโรปในการประชุมสุดยอด G20 คือปัญหาการกีดกันทางการค้า ทรัมป์โจมตีเยอรมนีเรื่องการเกินดุลการค้า โดยโจมตีว่าเยอรมนีเป็นประเทศที่เลวทำให้นายกรัฐมนตรีแมร์เคิลไม่พอใจ ดังจะเห็นได้ว่าในการพบกันระหว่าง 2 ผู้นำที่ผ่านมามีท่าทีเย็นชา ในการประชุมสุดยอด G20 นี้สหรัฐอเมริกาและยุโรปคงจะมีท่าทีที่ต่างกันในส่วนการค้า สหรัฐอเมริกาสนับสนุนการกีดกันทางการค้า ต่อต้านโลกาภิวัตน์และต่อต้านการรวมกลุ่ม ในขณะที่ยุโรปสนับสนุนการรวมกลุ่มและสนับสนุนตลาดเสรีซึ่งจะได้รับการสนับสนุนจากจีน ญี่ปุ่นและแคนาดาเพราะทางสหภาพยุโรปได้ทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับแคนาดา (CETA) เรียบร้อยแล้วและจะทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับญี่ปุ่นในไม่ช้า อีกท่าทีของยุโรปกับสหรัฐอเมริกาใน G20 คือท่าทีจากข้อตกลงปารีส ในขณะที่ทรัมป์ถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสสหภาพยุโรปและจีนก็แสดงตัวตรงข้ามและเป็นหัวหอกในการสนับสนุนข้อตกลงดังกล่าวในเรื่องการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทรัมป์ได้รับความพอใจและเป็นโอกาสในการแสดงท่าทีตอบโต้ยุโรปคือก่อนการประชุมสุดยอด G20 ทรัมป์ได้มีการประชุมสุดยอดกับ 12 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปซึ่งอยู่ฝั่งทะเลอะเดรียติก ทะเลบอลติกและทะเลแบล็คซี การประชุมสุดยอดนี้ชื่อว่าการประชุมสุดยอดสามทะเล (Three Seas Initiative) การประชุมดังกล่าวเป็นการริเริ่มของประเทศโปแลนด์และโครเอเชียโดยมีเป้าหมายส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่าง 12 ประเทศดังกล่าวกับสหรัฐอเมริกา (ในการประชุมนี้ออสเตรียซึ่งเป็นสมาชิกในกรอบนี้ไม่ได้เข้าประชุม) Three Seas Initiative เป็นกรอบความร่วมมือของ 12 ประเทศที่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปโดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างความเชื่อมโยง (connectivity) ในการสร้างสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานระหว่างยุโรปเหนือกับยุโรปใต้ ทั้งนี้การเชื่อมโยงในยุโรปปัจจุบันเป็นการเชื่อมโยงหระว่างยุโรปตะวันออกซึ่งเป็นประเทศที่เล็กกว่ากับยุโรปตะวันตก เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี การประชุมของทรัมป์ในกรอบ 3 ทะเลสร้างความมั่นใจให้ทรัมป์ว่าเขามีพันธมิตรในยุโรปเช่นกัน

อาจสรุปได้ว่าในการประชุมสุดยอด G20 สิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือท่าทีของสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรปว่าจะแสดงออกมาอย่างไร โดยดูได้จากประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น ปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลง ระเบียบโลกหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังถูกแรงกดดันให้มีการปรับตัวและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เคยมีมาก่อน

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ