เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมามีการประชุมรัฐมนตรีของ APEC ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ในปีนี้เวียดนามเป็นเจ้าภาพของการประชุมสุดยอด APEC ซึ่งถือว่าเป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกเวียดนามเป็นเจ้าภาพในปีค.ศ. 2005
ในวันที่ 11 และ 12 พฤศจิกายนนี้ก็จะมีการประชุมสุดยอด APEC ที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ในปีที่ผ่านมาประเทศเปรูเป็นเจ้าภาพที่เมืองลิม่าและในปีหน้าปาปัวนิวกินีก็จะเป็นเจ้าภาพ APEC ในการประชุม APEC ในระดับรัฐมนตรีที่ผ่านมานี้ปรากฏสิ่งที่น่าสนใจคือ 11 ประเทศ APEC ซึ่งร่วมก็ตั้ง TPP ได้มีการประชุมในกรอบนอก APEC เพื่อที่จะผลักดัน TPP ต่อไป โดยจะครั้งนี้จะไม่มีสหรัฐอเมริกาเป็นสมาชิกหลังจากที่นายโดนัล ทรัมป์ได้ประกาศถอนตัวออกไป ประเทศญี่ปุ่นและออสเตรเลียต่างต้องการผลักดัน TPP ต่อไป และคิดว่าในอนาคตสหรัฐอเมริกาจะกลับมาเป็นสมาชิกของ TPP ใหม่ซึ่งอาจเป็นช่วงหลังขอประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์
ความจริงนั้น APEC กับ TPP มีความสัมพันธ์กันไม่น้อย APEC กำเนิดขึ้นในปีค.ศ. 1989 โดยการริเริ่มของรัฐบาลออสเตรเลียโดยมุ่งหวังที่จะส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 2 ฟากของมหาสมุทรแปซิฟิก ในระยะแรกทิศทางของ APEC ค่อนข้างไม่เด่นชัดและไม่มีกิจกรรมที่สำคัญ ในปีค.ศ. 1993 ในการประชุม APC ที่ซีแอทเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีคลินตันได้เสนอทิศทางของ APEC ไปสู่ประชาคมทางเศรษฐกิจแต่ก็ถูกคัดค้านโดย รัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งในยุคนั้นนายกรัฐมนตรีมหาเธร์มีนโยบายต่อต้านตะวันตกและเน้นนโยบาย “look east” โดยเน้นความร่วมมือในกรอบเอเชียตะวันออกมากกว่า
นโยบายของนายมหาเธร์คือความร่วมมือทางเขตเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (EAEC: East Asia Economic Caucus) ในปีค.ศ. 1994 ในการประชุมสุดยอด APEC ที่เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย ผู้นำ APEC ประสบความสำเร็จในการกำหนดทิศทางของ APEC ที่เรียกว่า “ปฏิญญาโบกอร์ 2020” โดยเน้นเป้าหมายว่าประเทศสมาชิก APEC จะส่งเสริมการรวมตัวอย่างแน่นแฟ้นลึกซึ้งมากขึ้น แต่ไม่ได้กำหนกว่าลึกซึ้งถึงขั้นไหน ทั้งนี้เพราะประเทศสมาชิก APEC มีแนวคิดแตกต่างกัน 2 กลุ่ม กลุ่มแรกนำโดยสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ออสเตรเลีย กลุ่มนี้ต้องการพัฒนา APEC ไปสู่การเป็นเขตการค้าเสรีเป็นอย่างต่ำจนถึงการเป็นตลาดร่วม (common market) ในขณะที่ประเทศอีกกลุ่มโดยมีมาเลเซียเป็นหัวหอกไม่ต้องการให้ APEC รวมตัวกันแบบแน่นแฟ้นในลักษณะบูรณาการทางเศรษฐกิจ (Economics integration) แต่เป็นการรวมตัวแบบหลวมๆ (Economic Cooperation) ไม่ถึงขึ้นเขตการค้าเสรี แนวคิดที่แตกต่างกันนี้ทำให้เปาหมายของปฏิญญาโบกอร์ 2020 จึงถูกกำหนดในลักษณะกำกวมให้ขึ้นอยู่กับอนาคตที่จะตัดสินว่าจะไปในทิศทางใด
พัฒนาการของ APEC เป็นไปอย่างเชื่องช้าและขาดเป้าหมายและทิศทางที่ชัดเจนจึงส่งผลให้สิงคโปร์ที่นำโดยนายโก๊ะ จ๊กตงและผู้นำของประเทศชิลีและนิวซีแลนด์ ในการประชุมสุดยอด APEC ปีค.ศ. 2002 ที่เมืองลอสคาบอส ประเทศเม็กซิโก ผู้นำทั้ง 3 ประเทศนี้ได้ปรึกษานอกกรอบ APEC เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งองค์กรใหม่ซึ่งมีเป้าหมายที่ชัดเจนและลึกซึ้งในระดับบูรณาการทางเศรษฐกิจซึ่งหมายถึงการเป็นเขตการค้าเสรี ทั้งนี้เนื่องจากประเทศเหล่านี้เห็นว่า APEC เป็นไปอย่างเชื่องช้ามากและไม่มีท่าทีในการรวมตัวเป็นเขตการค้าเสรี ข้อตกลงของทั้ง 3 ประเทศดังกล่าวนำไปสู่การจัดตั้ง TPP (Trans Pacific Partnership)ในปีค.ศ. 2002 และปีค.ศ. 2005 บรูไนได้เข้าเป็นสมาชิก TPP ในปี 2008 สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมและกระตุ้นให้ประเทศอื่นเข้าร่วมอีก 8 ประเทศ ในที่สุด TPP จึงประกอบด้วย 12 ประเทศซึ่งอยู่ใน APEC APEC มี 21 ประเทศคือ แปซิฟิกตะวันออก 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก เปรูและชิลี แปซิฟิกตะวันตกมี 16 ประเทศอันประกอบด้วย 7 ประเทศอาเซียนโดยไม่มีลาว เขมรและพม่า จีน ไต้หวัน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินีและรัสเซีย ในขณะที่ TPP ประกอบด้วย 12 ประเทศใน APEC คือ สิงคโปร์ ชิลี นิวซีแลนด์ บรูไน แคนาดา สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก เปรู ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เวียดนามและมาเลเซีย
เมื่อสหรัฐอเมริกาเข้ามาเป็นสมาชิก TPP สหรัฐอเมริกาก็ใช้อิทธิพลในฐานะผู้นำกำหนดทิศทางและเนื้อหาของ TPP โดยนอกจากจะเน้นเป้าหมายการรวมกลุ่มในลักษณะลึกซึ้ง เปิดเสรีสินค้า เงินทุนและบริการแล้วยังได้มีการกำหนดมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน มาตรฐานสินค้าตลอดถึงการจัดซื้อโดยรัฐ เงื่อนไขเหล่านี้เป็นอุปสรรคให้จีนเข้ามาลำบากเนื่องจากจีนมีปัญหาเรื่องมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนและสินค้า TPP จึงเป็นเครื่องมือของสหรัฐอเมริกาในการถ่วงดุลจีนและเป็นเหตุให้ญี่ปุ่นเข้าเป็นสมาชิกของ TPP เพราะมีความได้เปรียบจีนในการเข้าสู่ตลาด TPP ทางออกของจีนจึงใช้วิธีแก้เกมด้วยการส่งเสริม APEC ไปสูการเป็นเขตการค้าเสรีแปซิฟิก (FTAAP) โดยในการประชุมสุดยอด APEC ที่กรุงปักกิ่งเมื่อ 3 ปีที่แล้วซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพ จีนได้เสนอให้มีการผลักดัน APEC ไปสู่เป้าหมายดังกล่าวซึ่งได้รับการตอบรับจากประเทศสมาชิกอื่นๆ แนวคิดดังกล่าวถูกตอกย้ำในการประชุมสุดยอด APEC ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์เมื่อ 2 ปีที่แล้วและกรุงลิมา ประเทศเปรูเมื่อปีที่แล้ว แนวคิดผลักดัน APEC เป็นเขตการค้าเสรีมีความสำคัญกับจีนเนื่องจากสหรัฐอเมริกาถอนตัวจาก TPP ซึ่งทำให้จีนเป็นผู้นำในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจีนจึงส่งเสริม APEC และ RCEP เพื่อเป็นโอกาสในการถ่วงดุลสหรัฐอเมริกาและแสดงตัวเป็นผู้นำในโลกาภิวัตน์ และการเปิดเสรี
แม้โลกปัจจุบันจะมีแนวโน้มของการต่อต้านโลกาภิวัตน์และการรวมกลุ่มจะเห็นว่าทิศทางของโลกาภิวัตน์และการรวมกลุ่มยังมีความก้าวหน้าและพัฒนาต่อไป เพียงแต่ในบางพื้นที่อาจมีการชะงักโดยเฉพาะในสหภาพยุโรป แต่หลายๆ ที่ทิศทางในการรวมกลุ่มยังก้าวหน้าต่อไป ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าโลกาภิวัตน์เป็นปรากฏการณ์ความจริงของชีวิต (Fact of life) ไม่ว่าคุณจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม