รำลึกวิกฤตต้มยำกุ้ง โดย รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

สิ่งที่น่าสนใจคือวิกฤตดังกล่าวได้ให้บทเรียนแก่ไทยและประเทศอื่นในการป้องปรามหรือแก้ไขวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ในวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมาถือเป็นวันครบรอบ 20 ปีวิกฤตที่เริ่มเกิดในประเทศไทยและขยายไปทั่วภูมิภาคอันเป็นที่รู้จักในชื่อวิกฤตต้มยำกุ้ง สิ่งที่น่าสนใจคือวิกฤตดังกล่าวได้ให้บทเรียนแก่ไทยและประเทศอื่นในการป้องปรามหรือแก้ไขวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในประวัติศาสตร์นั้นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกก็เพื่อเข้าใจหรือป้องปรามไม่ให้เกิดขึ้นอีก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจะไม่เหมือนกันสักทีเดียว ยิ่งเรากำลังเข้าสู่ยุคดิจิตอลและการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4  ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดำเนินไปในอัตราเร่งและมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นเสมอจนเรียกว่ายุคของ disruptive innovation นั่นหมายความว่าอะไรที่เกิดขึ้นในอดีตอาจใช้เป็นเครื่องมือในการมองอนาคตไม่ได้หรือได้เพียงบางส่วนเท่านั้น การเรียนรู้วิกฤตต้มยำกุ้งจึงต้องปรับให้เข้ากับความเข้าใจใหม่ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็วและไม่ซ้ำรอยเก่าหรืออาจจะเกิดการซ้ำรอยเก่าแค่บางส่วน

วิกฤตต้มยำกุ้งเกิดขึ้นในวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1997 เมื่อรัฐบาลในยุคนั้นคือยุคของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธได้มีการปล่อยค่าเงินบาทลอยตัวจากที่เคยกำหนดไว้ที่ 26 บาทต่อดอลลาร์มาเป็นเวลานานหลายปี ผลก็คือปลายปี ค.ศ. 1997 ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงถึง 50 บาทต่อดอลลาร์และนำไปสู่การล่มสลายของเศรษฐกิจไทยและส่งผลกระทบไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยค่าเงินบาทลอยตัวเพราะในช่วงนั้นคือตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยมีระดับต่ำกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น จะเห็นได้ว่าในปี ค.ศ. 1997 ไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศจำนวน 38,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  มีหนี้ระหว่าประเทศกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นหนี้ระยะสั้นสูงถึง 48,000 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมีหนี้ระยะสั้นประมาณ 48 มีหนี้ระยะสั้นสูงกว่าเงินสำรองระหว่างประเทศอันเป็นการแสดงออกถึงสัญญาณอันตราย สัญญาณต่อไปคือช่วงเวลาดังกล่าวไทยมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึงร้อยละ 7.9 ของจีดีพี และในปี ค.ศ. 1996 มีมูลค่าการส่งออกติดลบ ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจโลกในเวลานั้นกำลังเฟื้องฟู (ในยุคของประธานาธิบดีบิล คลินตันของสหรัฐอเมริกา) การที่การส่งออกเริ่มแสดงอาการติดลบ บัญชีเดินสะพัดมีการขาดดุลในระดับสูง ส่วนหนึ่งมาจากความสามารถในการแช่งขันของไทยเริ่มลดลง ในช่วงปี ค.ศ. 1985-1995 การส่งออกมีการขยายตัวร้อยละ 20 โดยเฉลี่ยต่อปี การที่ในปี ค.ศ. 1996 การส่งออกลดลงเนื่องมาจากช่วงปลายปีทศวรรษ 1990 สถานการณ์โลกมีการเปลี่ยนแปลงคือในปี ค.ศ. 1989 กลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ล่มสลายและในปี ค.ศ. 1991 สหภาพโซเวียตก็ล่มสลาย ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของประเทศเกิดใหม่ ซึ่งรวมถึงประเทศในเอเชีย ละตินและแอฟริกา

โลกเปลี่ยนจากสงครามมาสู่การแข่งขันทางการค้าเป็นยุคเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้าและมาแข่งขันในโลก ประเทศเหล่านี้จะเหมือนไทยคือการส่งออกสินค้าที่ใช้แรงงานและวัตถุดิบ หลายประเทศมีค่าแรงต่ำกว่าไทย เช่น กลุ่มประเทศอินโดจีน จีน อินเดีย เป็นต้น ในปี ค.ศ. 1993 เริ่มจัดตั้งเขตการค้าเสรีของอาเซียนหรือ AFTA โดยมีเวียดนามเข้าเป็นสมาชิกในปี ค.ศ. 1995 แม้ผลกระทบจากเวียดนามจะยังไม่ชัดเจนนักเพราะเข้ามาทีหลังแต่ที่เห็นได้ชัดคือฟิลิปปินส์และอินโดนีเชียที่มีค่าแรงถูกกว่าไทย โลกเข้าสู่ยุคของการแข่งขันในกรอบของโลกาภิวัตน์ซึ่งมีประเทศเกิดใหม่จำนวนมากจึงทำให้การส่งออกของไทยลดลงเพราะยังคงส่งออกสินค้าแรงงานซึ่งมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นจำนวนมาก นอกจากนี้ในยุคดังกล่าวเป็นยุคของการเปิดเสรีที่ครอบคลุมไม่ใช่แค่สินค้า แต่ยังรวมไปถึงสินค้าและบริการ เช่น การค้าปลีกและการเงินอันเป็นผลมาจากการเจรจาอุรุวัย ในปี ค.ศ. 1993 ไทยมีการดำเนินการจัดตั้ง BIBF จึงส่งผลให้ธุรกิจไทยถือโอกาสกู้จากต่างประเทศซึ่งมีดอกเบี้ยต่ำมาก โดยเฉพาะบริษัทตลาดหลักทรัพย์ได้ออกหุ้นกู้ ECD ผลคือเกิดการขยายตัวของหนี้ต่างประเทศมหาศาล โดยร้อยละ 80 เป็นหนี้เอกชน เมื่อมีการเกิดวิกฤตรัฐบาลไทยได้ขอความช่วยเหลือจาก IMF โดยยอดเงินที่ขอรับความช่วยเหลือคือ 17,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ไทยใช้ไม่ถึงเพราะเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวเร็ว แต่แรงกดดันจาก IMF ทำให้ไทยต้องปิดสถาบันการเงินไปถึง 56 แห่งและทำให้สภาพคล่องในประเทศหดตัวอย่างรุนแรง วิกฤตค่าเงินบาทจึงลุกลามไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจทั้งระบบ

โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่าต้นเหตุหรือปัจจัยของวิกฤตคือ

  1. โลกมีการเปลี่ยนแปลงแต่นโยบายของรัฐปรับตัวไม่ทันทำให้ไทยเสียความสามารถในการแข่งขัน ดังจะเห็นได้จากการส่งออกและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าในระยะเวลาดังกล่าวการลงทุนของต่างประเทศชะลอตัวลงจากยอด 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 1991 ลดลงเหลือ 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงปี ค.ศ. 1994-1995 เนื่องจากต่างขาติย้ายฐานการผลิตที่ใช้แรงงานไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

2.โลกมีการเปิดเสรี ไทยปรับตัวไม่ทันดังจะเห็นได้ว่ายังยึดอยู่กับระบบตะกร้าเงินตรา ยึดค่าเงินบาทกับดอลลาร์

  1. ไทยไม่กล้าต่อรองกับIMF ซึ่งใช้ยาแรงจนทำให้วิกฤตมีความรุนแรงมากขึ้นดังจะเห็นได้ว่าวิกฤตเงินสกุลยูโร IMF ไม่ได้ใช้ยาขนานเดียวกับกับที่ใช้กับไทย แต่มีลักษณะตรงกันข้ามเพราะเรียนรู้ถึงความผิดพลาดดังกล่าว
  2. วิกฤตดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจะปรากฏออกมาในรูปของลูกโป่งในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายแต่ทางการยังอยู่ในสภาพ complacency
  3. ธนาคารพาณิชย์มีการปล่อยสินเชื่อโดยไม่ได้มีการควบคุมเพียงพอดูได้จากระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงและเมื่อ NPL สูงขึ้นก็เกิดวิกฤตกับสถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ก็มีปัญหาหนี้สินต่อส่วนทุนสูงมาก ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ได้รับการป้องปรามจนเกิดการระเบิดขึ้น

ผลจากวิกฤตต้มยำกุ้งนั้นไทยได้เรียนรู้ในหลายเรื่องจนทำให้ไทยสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ได้เร็วและรักษาเสถียรภาพได้ดีจนถึงขณะนี้ บทเรียนที่เราเรียนรู้คือธนาคารแห่งประเทศไทยได้เพิ่มการตรวจสอบและกำหนดมาตรการป้องกันความเสี่ยงของสถาบันการเงินได้ดีขึ้น สถาบันการเงินก็ได้เรียนรู้จากอดีตโดยมีการจัดระบบในการปล่อยสินเชื่อ เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงมีความมั่นคง บริษัทตลาดหลักทรัพย์มีการบริหารต่อสินทรัพย์เสี่ยงดีขึ้นมาก อย่างไรก็ตามในสองทศวรรษที่ผ่านมาแม้ไทยจะรอดพ้นจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ได้ก็ตามแต่สิ่งที่เป็นสัญญาณที่ไทยควรคำนึงคืออัตราการเติบโตของไทยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997 จนถึงปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 3.6 ซึ่งต่ำที่สุดในอาเซียนยกเว้นบรูไนเพราะไทยยังผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานและวัตถุดิบที่ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้

โลกที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้สินค้าและบริการใหม่ๆ เกิดขึ้นเป็นสินค้าและบริการซึ่งไทยผลิตไม่ได้ สินค้าไทยจึงไม่ตรงกับความต้องการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ถ้าถามว่ามีโอกาสที่จะเกิดวิกฤตในอนาคตหรือไม่ คำตอบคือทุกประเทศในยุคดิจิตัลและการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 มีโอกาสเกิดได้ทั้งนั้น ดูได้จากสหรัฐอเมริกาและยุโรป เปรียบเทียบได้กับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่ล้มลุกอยู่ทุกวันนี้ อันเป็นผลมาจาก disruptive innovation ในไทยนั้นการขยายตัวที่อยู่ในระดับต่ำในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา หากไม่มีการปรับตัวที่รวดเร็วเพียงพอจะอ่อนไหวต่อ external shock เมื่อถึงจุดนั้นอาจเกิดวิกฤตได้แต่จะเป็นคนละสาเหตุและคนละประเภทกับวิกฤตต้มยำกุ้ง ดังที่ได้กล่าวมาในตอนต้นว่าประวัติศาสตร์ไม่ได้ซ้ำรอยเดิม 100% แต่อาจจะเป็นวิกฤตใหม่ซึ่งไม่ได้เกิดในอดีตก็ได้ วิกฤตต้มยำกุ้งเป็นอุทาหรณ์ให้รัฐบาล เอกชนต้องศึกษาป้องปรามไม่ให้เกิดวิกฤตแบบนั้นขึ้นมาอีก

 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ