เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้หนังสือพิมพ์ได้พาดหัวข่าวในเรื่องของการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับฮ่องกงและเน้นความสำคัญของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (Eastern Economic corridor) ของไทยอันประกอบไปด้วยชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทราซึ่งจะเป็นเขตพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนอันเป็นองค์ประกอบของ Thailand 4.0
ในกรอบความสัมพันธ์กับฮ่องกงนั้นไทยต้องการเป็นฮับในการเชื่อมโยงอาเซียนและฮ่องกงเป็นจุดเชื่อมต่อกับจีนแผ่นดินใหญ่ ความสัมพันธ์ดังกล่าวเกี่ยวพันกับยุทธศาสตร์ของจีนกับอาเซียนในกรอบของเส้นทางสายไหม one belt, one road ส่วนในอาเซียนเป็นกรอบความสัมพันธ์ของ AEC 2015 และการร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion หรือ GMS) ในบริบทของความร่วมมือดังกล่าวนี้ไทยหวังว่าโดยตำแหน่งทางภูมิศาสตร์บวกกับการดำเนินนโยบาย ไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคที่ไม่ได้ครอบคลุมแค่ในอาเซียนแต่ยังรวมถึงเอเชียทั้งในทางบกและทางทะเลอีกด้วย
ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมของจีนซึ่งมีชื่อเต็มว่า “The Silk Road Economic Belt and the 21st century Maritime Silk Road” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “one belt, one road (OBOR)” ยุทธศาสตร์ดังกล่าวเริ่มเป็นที่เปิดเผยและมีการพูดถึงครั้งแรกโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิงในเดือนกันยายนและเดือนตุลาคมปีค.ศ. 2013 ในช่วงที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเยี่ยมเยือนประเทศในเอเชียกลางและอาเซียน โดยได้เสนอให้ประเทศดังกล่าวร่วมมือกันสร้างเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเล ความร่วมมือดังกล่าวนี้อยู่ในกรอบที่เรียกว่า Belt อันประกอบด้วยกลุ่มประเทศที่อยู่ในเส้นทางสายไหมทางบกเก่าคือครอบคลุมเอเชียกลาง เอเชียตะวันตก ตะวันออกกลางและยุโรป อย่างไรก็ตามได้มีการเพิ่มกลุ่มประเทศให้เข้าอยู่ใน Belt ดังกล่าวคือกลุ่มประเทศในเอเชียใต้และอาเซียน สิ่งที่น่าสังเกตคือกลุ่มประเทศที่อยู่ใน Belt จะเป็นกลุ่มประเทศที่เป็นสมาชิกของธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB) ซึ่งเป็นการริเริ่มและนำโดยประเทศจีน
เส้นทางสายไหมทางบกที่กล่าวถึงนี้มีทั้งหมด 3 เส้นทางด้วยกันคือ ระเบียงทางเหนือ (north belt) เชื่อมจีนไปยังเอเชียกลาง รัสเซียและยุโรป ระเบียงกลาง (central belt) เชื่อมโยงไปยังเอเชียกลาง เอเชียตะวันตก ตะวันออกกลาง อ่าวเปอร์เซียและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ระเบียงใต้ (south corridor) จะเชื่อมจีนไปยังอาเซียน เอเชียใต้และมหาสมุทรอินเดีย เส้นทางสายไหมทางทะเลที่เรียกว่า “Maritime Silk Road” หรือ “21st century Maritime Silk Road” ซึ่งจะเชื่อมระหว่างจีน อาเซียน โอเชียเนีย แอฟริกาตอนเหนือ ทะเลจีนใต้ มหาสมุทรแปซิฟิกใต้และมหาสมุทรอินเดีย หลังจากการประกาศนโยบายดังกล่าวผู้นำของจีนทั้งประธานาธิบดีสี จิ้นผิงและนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงต่างก็ได้ไปเยือนประเทศต่างๆ เพื่อหาความร่วมมือในการพัฒนาความเชื่อมโยงดังกล่าว
โครงการ one belt, one road คือการสร้าง connectivity ที่เชื่อมโยง 3 ทวีปคือเอเชีย ยุโรปและแอฟริกา โดยครอบคลุมกลุ่มประเทศที่เรียกว่าโอเชียเนียด้วย การสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อขยายไปสู่การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและโลจิสติกส์ ส่วนหนึ่งเป็นการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน อีกส่วนหนึ่งเป็นการแสดงแสนยานุภาพด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของจีน ยุทธศาสตร์ของจีนในส่วนนี้คือพัฒนาแสนยานุภาพทั้งในด้านการค้า การลงทุนและความมั่นคงและเป็นการถ่วงดุลสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงนโยบายต่างประเทศที่สำคัญของจีนคือการประกาศตัวเป็นประเทศมหาอำนาจโลก (global power)
ในส่วนของอาเซียนนั้นก็กำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาความแน่นแฟ้นสู่ประชาคมอาเซียน 2025 ซึ่งครอบคลุมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประชาคมความมั่นคงอาเซียนและประชาคมวัฒนธรรมอาเซียน อีกทั้งพัฒนาอาเซียน +3 และอาเซียน +6 ไปสู่ Regional Comprehensive Economic Partnership ซึ่งในที่สุดจะเป็น “ประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก” หรือตลาดร่วมเอเชียตะวันออก ในบริบทที่เล็กลงก็เกิดการรวมกลุ่มในระดับอนุภูมิภาค ในส่วนของไทยมี 2 โครงการคือสามเหลี่ยมตอนใต้ (IMTGT) ที่เชื่อมโยงไทย อินโดนีเชียและมาเลเซียและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ในส่วนนี้จะมีการเชื่อม 5 ประเทศที่ติดแม่น้ำโขงกับตอนใต้ของจีนคือมณฑลยูนนาน ภายใต้กรอบของ GMS ก็มีการเชื่อมโยงในรูปของระเบียงเศรษฐกิจ 3 ระเบียงคือเหนือ-ใต้ ตะวันออก-ตะวันตกและใต้-ใต้ ทั้ง 3 ระเบียงนอกจากเชื่อมโยงในกลุ่ม 5 ประเทศอาเซียนแล้วยังเชื่อมโยงกับ OBOR ของจีนและ IMTGT อีกด้วย
ภายใต้กรอบของ GMS และภายใต้บริบทของ 3 ระเบียงจะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกันข้ามประเทศ เช่น ในระเบียงตะวันออก-ตะวันตกจะมีเว้ ดานัง สุวรรณเขต มุกดาหาร ขอนแก่น พิษณุโลก แม่สอดข้ามไปเมียวดีจนไปถึงมะละแหม่ง เส้นทางดังกล่าวยังไปเชื่อมโยงกับระเบียงเหนือ-ใต้และระเบียงใต้-ใต้ ดังนั้นถ้ามองจากบริบทของภูมิรัฐศาสตร์และกรอบความร่วมมือ ไทยจะมีความได้เปรียบในการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ การค้าและการลงทุนและจึงไม่น่าแปลกใจว่าความจำเป็นในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ เช่น ความเชื่อมโยงระหว่างทวายมาแหลมฉบัง และจากแหลมฉบังก็จะสามารถเชื่อมไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านผ่านระเบียงใต้-ใต้ไปสู่เขมรและเวียดนาม ระเบียงเหนือ-ใต้ เชื่อมไปสู่ลาวและเชื่อมกับ OBOR ของจีน
พลวัตรของการเชื่อมโยงภายใต้กรอบของ OBOR ประชาคมอาเซียนและ GMS ซึ่งเมื่อประติดประต่อเป็นจิ๊กซอว์เข้าด้วยกันในอนาคตภูมิภาคอาเซียนทั้งหมดจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์มากมายและเป็นการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าใหม่ด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมของภูมิภาค แม้ไทยจะได้เปรียบในเชิงที่ตั้งซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ แต่ไทยจะสามารถเป็นฮับในด้านต่างๆ ได้หรือไม่ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการพัฒนายุทธศาสตร์ของรัฐบาลทั้งในปัจจุบันและในอนาคต อย่างไรก็ตามในเชิงของที่ตั้งและพลวัตรของการเปลี่ยนแปลงของทุกประเทศ ไทยมีความได้เปรียบประเทศอื่นๆ ในอาเซียนในการเป็นฮับ โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์ จึงไม่น่าแปลกใจว่าในบริบทที่กล่าวถึงนี้ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาไทยให้เป็นฮับจึงไม่ได้เกิดขึ้นมาในรัฐบาลนี้แต่มีการดำเนินการมาก่อนหน้านี้นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 ที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ได้เข้ามาช่วยเหลือ
กรอบ 6 เหลี่ยมเศรษฐกิจในเวลานั้นและกลายเป็น GMS ในปัจจุบัน แต่ที่ผ่านมามีอุปสรรคที่สำคัญคือพม่า เนื่องจากพม่ายังมีปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจ นับตั้งแต่พม่าเปิดประเทศ โดยเฉพาะตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปีค.ศ. 2008 อุปสรรคดังกล่าวจึงคลี่คลายไป การเปิดประเทศของพม่าจึงเป็นพลวัตรของการเปลี่ยนแปลงซึ่งไม่ใช่แค่ในอาเซียนแต่ยังเป็นอาเซียน +6 ซึงเชื่อมโยงไปสู่ OBOR